ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ครองราชย์เจ้านครเชียงใหม่
16 ตุลาคม พ.ศ. 2399 - 2404
พระเจ้านครเชียงใหม่
พ.ศ. 2404 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2413
รัชสมัย14 ปี
ก่อนหน้าพระเจ้ามโหตรประเทศ
ถัดไปพระเจ้าอินทวิชยานนท์
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อุปราชเจ้าอุปราช (ธรรมปัญโญ)
พิราลัย29 มิถุนายน พ.ศ. 2413
ราชเทวีเจ้าอุษา
พระนามเต็ม
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชศรี โยนางคดไนย ราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่
พระบุตรเจ้าทิพเกสร
เจ้าอุบลวรรณา
ราชสกุลณ เชียงใหม่
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาพระเจ้ากาวิละ
พระมารดาแม่เจ้าโนจา

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร[1] ด้วยพระนิสัยที่เด็ดขาดเป็นที่เคารพยำเกรงในหมู่ข้าราชบริพารและพสกนิกร เมื่อทรงพิจารณาตัดสินว่าคดีความใดแล้ว หากทรงเอ่ยว่า "อ้าว" เมื่อใด หมายถึงการต้องโทษตัดศีรษะประหารชีวิต จนประชาชนทั่วไปต่างถวายพระสมัญญาว่า "เจ้าชีวิตอ้าว"[2] ในแง่พฤติการณ์แล้ว พระองค์ถือเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในบรรดาทุกองค์ และทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น "พระเจ้าประเทศราช" องค์ที่ 5 (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2404 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2413) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าหนานสุริยวงศ์ เป็นพระโอรสในพระเจ้ากาวิละกับแม่เจ้าโนจา ในปี พ.ศ. 2368 ได้รับอิสริยยศเป็น "พระยาเมืองแก้ว"[3] เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิ์เดชมหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่"[4] เมื่อลงมาเข้าเฝ้าในปี พ.ศ. 2404 ก็ได้รับเพิ่มยศเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่ในพระราชทินนามดังนี้ว่า "พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชศรี โยนางคดไนย ราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่"[5]

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์มีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา รวม 5 องค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

  1. เจ้าราชบุตร (สุริยฆาต ณ เชียงใหม่) - เจ้าไปยกา (ตาทวด) ของหม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา และหม่อมศรีนวล กฤดากร ณ อยุธยา ในพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
  2. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6
  3. เจ้าหนานมหาวงศ์ - พระอัยกา (เจ้าปู่) ในเจ้าจอมมารดาทิพเกษร ในรัชกาลที่ 5 และ พระไปยกา (เจ้าตาทวด) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี
  4. เจ้าคำใส
  5. เจ้าหนานไชยเสนา

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เสด็จขึ้นครองนครเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2397 จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2413 รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 16 ปี

พระธิดา

[แก้]

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์มีพระธิดากับเจ้าอุษา รวม 2 องค์ ดังนี้

  1. เจ้าทิพเกสร - พระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเป็นพระมารดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. เจ้าอุบลวรรณา - เจ้าแม่ของเจ้ากรรณิการ์ พระอัยยิกา (เจ้าย่า) ในเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่ พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี

ราชกรณียกิจ

[แก้]
เจ้าหลวงเชียงใหม่แห่ง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระเจ้ากาวิละ
พระยาธรรมลังกา
พระยาคำฟั่น
พระยาพุทธวงศ์
พระเจ้ามโหตรประเทศ
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระเจ้าอินทวิชยานนท์
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
เจ้าแก้วนวรัฐ

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ทรงปกครองนครเชียงใหม่ และทำนุบำรุงศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังทรงจัดสร้างระฆังชุดใหญ่น้ำหนักทอง 2,095,600 ตำลึง ถวายแด่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. 2403 และเป็นผู้จัดตั้งข้อบัญญัติสำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีความ ณ เค้าสนามหลวง[2]

ในปี พ.ศ. 2406 กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือรวมหัวกันกล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เอาใจออกห่างกรุงเทพ โดยทรงถวายสิ่งของต่อกษัตริย์พม่าและกษัตริย์พม่าก็ถวายสิ่งของตอบ ทางกรุงเทพได้เรียกตัวพระองค์มาทำการชี้แจง พระเจ้ากาวิโลรสได้เสด็จลงกรุงเทพพร้อมพระญาติ แต่ด้วยไหวพริบของพระองค์ พระเจ้ากาวิโลรสถือโอกาสพาตัวเจ้าเมืองหมอกใหม่เข้าถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นข้าขอบขันฑสีมากรุงเทพ นับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ในนิพนธ์เรื่อง เครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า พระเจ้ากาวิโลรสทรงถวายสมบัติเครื่องยศจากกษัตริย์พม่าแก่รัชกาลที่ 4 แต่ถูกปฏิเสธ ในเวลานั้นมีมหรสพสมโภชพระราชธิดาพอดี พระเจ้ากาวิโลรสจึงถวายสร้อยนั้นสมโภชพระราชธิดา เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระนามพระราชธิดาองค์นั้นว่า "พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์"

ใน พงศาวดารโยนก ระบุว่า บรรดาสิ่งของเครื่องยศจากกษัตริย์พม่ามีแหวนและผ้าด้วย โดยรัชกาลที่ 4 ทรงรับแหวนทับทิมไว้วงเดียวเพื่อรักษาน้ำใจ และจากการสอบสวนพบว่า "พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ยังหามีความผิดเปนข้อใหญ่ไม่ ขอพระราชทานให้กลับขึ้นไปรักษาอาณาเขตปกครองญาติพี่น้องบุตรหลาน ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป..."[6] เห็นได้ว่าแม้สยามจะมีโอกาสเข้าแทรกแทรงล้านนาเพื่อลดอำนาจของเจ้านาย แต่ก็ไม่อาจทำการอย่างผลีผลามเพราะพระเจ้ากาวิโลรสเป็นพระเจ้าประเทศราชที่ทรงอำนาจ

ในด้านการปกครองทรงเข้มแข็งเป็นที่เกรงขาม แม้แต่รัฐบาลสยามก็ยังมิอาจล่วงเกินกิจการภายในของนครเชียงใหม่ได้ แต่พระเจ้ากาวิโรรสฯ ก็มิได้โปรดให้มีการเผยแพร่ศาสนาอื่นในนครเชียงใหม่ และได้ทรงสั่งประหารชีวิตคริสต์ศาสนิกชน 2 คน ในปี พ.ศ. 2411

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวายพระเศวตวรวรรณ เป็นช้างในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2412[7]

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  2. 2.0 2.1 บุญเสริม ศาสตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520) อดีตลานนา กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 1 อักษร ก, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, หน้า 344
  4. พระยาประชากิจกรจักร. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1, หน้า 458
  5. "พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย", หน้า 111
  6. พระยาประชากิจกรจักร. พงศาวดารโยนก. 2515.
  7. "พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย", หน้า 118


ก่อนหน้า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ถัดไป
พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
(พ.ศ. 2399 — 29 มิถุนายน พ.ศ. 2413)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์