พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง1 เมษายน พ.ศ. 2471 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2474
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ถัดไปพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร
ประสูติ2 เมษายน พ.ศ. 2420
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 (76 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ชายาหม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร
หม่อมหม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา
หม่อมศรีนวล กฤดากร ณ อยุธยา
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลกฤดากร
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
พระมารดาหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ไทย สยาม
แผนก/สังกัดกองทัพบก
กองเสือป่า
ชั้นยศพลเอก[1]
นายพลเสือป่า[2]

พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (2 เมษายน พ.ศ. 2420 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496) อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำคณะกู้บ้านกู้เมืองพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2476

พระประวัติ[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ประสูติแต่หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา[3] เมื่อวันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2420

หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เข้าศึกษาวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นพระบิดาทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2441 สอบได้ชั้นที่ 4 อันดับที่ 22 จึงได้รับพระราชทานยศร้อยตรี (ร.ต.) ของกองทัพบกไทย แต่ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนนายทหารช่างอังกฤษเพิ่มอีก 1 ปี จึงเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2443[4] เข้าประจำการที่กรมเสนาธิการทหารบก จึงถือได้ว่าทรงเป็นนายทหารไทยรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ในขณะนั้น พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงเสมือนเป็นพระหัตถ์ขวาของพระองค์เจ้าจิรประวัติฯ ในการปรับปรุงจัดระเบียบกองทัพในแบบสมัยใหม่ ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2444 พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศ ร้อยโท[5] จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2445[6]ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกนครราชสีมา ซึ่งเป็นมณฑลแรกในประเทศไทยที่มีการเกณฑ์ทหาร จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานพระยศเป็น พันโท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2446[7]ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศ พันเอก เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2447[8]ต่อมาได้รับพระราชทานพระยศ พลตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2449[9] ขณะพระชันษาได้ 29 ปี และได้รับพระราชทานพลโท (พล.ท.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2456[10]หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นาน ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 3 นครราชสีมา และรั้งตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2468 ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม[11] ต่อมาปี พ.ศ. 2469 ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก[12]

ทรงเป็นหม่อมเจ้าพานทอง ทรงศักดินา 3000 เทียบเท่าขุนนางชั้นพระยาพานทอง[13](โดยปกติหม่อมเจ้าจะทรงศักดินา 1500)[14]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสกสมรสกับเจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่[15] ธิดาของเจ้าเทพดำรงรักษาเขตกับเจ้าแม่พิมพา กนิษฐาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2445 จากนั้นทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี[16] หม่อมเจ้าบวรเดชได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2458-2462 และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2471[17]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2472[18]

หลังจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชได้เสกสมรสกับเจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่ น้องสาวของเจ้าทิพวันเป็นหม่อมคนใหม่ หม่อมทิพวันจึงกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องอาญาในฐานความผิดกบฏ และหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษจึงกลับมาตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าที่อำเภอหัวหิน ซึ่งหม่อมทิพวันก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนด้วย

ต่อมาทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ขนิษฐาร่วมพระบิดา มีธิดา 3 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภาสิริ วุฒินันท์, หม่อมราชวงศ์อัจฉริยา คงสิริ และหม่อมราชวงศ์ภรณี รอสส์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในกลางปี พ.ศ. 2474 เนื่องจากทรงขัดแย้งกับจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก[19]

พระชนชีพในบั้นปลาย หลังจากที่เสด็จกลับสู่ประเทศไทยหลังจากที่ทรงลี้ภัยทางการเมืองนานถึง 16 ปี ทรงตั้งโรงงานทอผ้าขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทอผ้าโขมพัสตร์ขึ้นจำหน่ายได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ทรงมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่สุดก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ขณะมีพระชนมายุ 76 พรรษา และได้รับพระราชทานพระเพลิงพระศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497[20]

การเมือง[แก้]

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง ตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่นาน เมื่อทรงได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเปิดเผย โดยยังทรงเป็นที่นับถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนายทหารชั้นอาวุโส และทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกับพระองค์

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน คณะราษฎรนำโดยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ลองทาบทามพระองค์ให้เข้าร่วมกับคณะราษฎร พระองค์เจ้าบวรเดชรับสั่งให้พระยาพหลฯ และพรรคพวกเขียนความเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองลงหนังสือพิมพ์ ทำนองขอประชามติเช่นเดียวกับอารยประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งพระยาพหลฯกราบทูลว่า ผู้ที่ทำเช่นนั้นติดคุกไปแล้วหลายคน วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้กำลังบุกจู่โจมจับคณะอภิรัฐมนตรีขังไว้ แล้วกราบขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็คงจะสำเร็จ แต่พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงตอบพระยาพหลฯ ไปว่า ตัวพระองค์เกิดในพระราชวงศ์จักรี หากทำเช่นนั้นจะได้ชื่อว่าอกตัญญู

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ถือเป็นเจ้านายระดับสูงเพียงไม่กี่พระองค์ที่ไม่ถูกควบคุมองค์ไว้ในฐานะองค์ประกัน แต่ในเวลาราว 23.00 น. ของคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ คณะราษฎรได้ยึดกุมเอาไว้เป็นสถานที่บัญชาการ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ยังได้ไปปรากฏพระองค์ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงแจ้งความประสงค์จะขอพบกับหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เมื่อได้พบแล้ว พระองค์ท่านได้สนทนาเพียงสั้น ๆ ว่า ทำอะไรกัน ทำไมไม่บอกให้รู้กันก่อน เมื่อหัวหน้าผู้ก่อการ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทูลตอบว่า จะให้ทรงทราบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงกล่าวว่า เมื่อทำแล้ว ก็ขอให้ทำให้ถึงที่สุด เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ[20]

กบฏบวรเดช[แก้]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เกิดความแตกแยกในคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับผู้นำในคณะราษฎรหลายครั้งเกี่ยวกับแนวทางการเมืองของประเทศ สาเหตุสำคัญมีอาทิการกำหนดสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ จนถึงข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ที่เรียกว่า "เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475" ซึ่งนำเสนอรัฐสภาและทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งทรงวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยทรงเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรถือว่าปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและเป็นความต้องการรักษาอำนาจของ "ฝ่ายศักดินา" หรือ "ระบอบเก่า" ความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจนมีการอภิปรายในรัฐสภาคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว กดดันให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางไปพำนักในฝรั่งเศส ก่อนที่ผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎรคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ต้องก่อรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจของคณะราษฎรไว้ ทำให้ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายรุนแรงมากขึ้น[21]

ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงส่งกำลังทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี เคลื่อนกำลังทางรถไฟเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองได้เมื่อวันที่ 12 และเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ไปตามแนวคลองบางเขนจนถึงสถานีรถไฟบางเขน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กระทำตามเงื่อนไข 6 ข้อ ใจความโดยย่อคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อำนาจรัฐสภามากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้กลายเป็นคณะเผด็จการ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนั้นถูกมองจากฝ่ายนิยมคณะราษฎรว่าเป็นความพยายามในการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลได้มอบหมายให้พันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับกองผสมทำการรุกตอบโต้ จนทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถึงวันที่ 15 กำลังทหารหัวเมืองได้ถอนกำลังออกจากดอนเมือง เคลื่อนที่ไปยังปากช่องอันเป็นที่มั่นด่านสุดท้าย ขณะที่กองหน้าของกองบังคับการผสมได้ติดตามไปจนถึงสถานีปากช่อง และ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพซึ่งรับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง ถูกยิงเสียชีวิตบนทางรถไฟใกล้สถานีหินลับ อำเภอปากช่อง ในเวลาพลบค่ำ

เมื่อที่มั่นแห่งสุดท้ายคือสถานีปากช่องถูกยึด และแม่ทัพเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชและชายาจึงเสด็จหนีโดยทางเครื่องบินจากฐานบินโคราช มีหลวงเวหนเหิรเป็นนักบิน ไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงย้ายไปประทับที่ประเทศกัมพูชา และเสด็จกลับประเทศไทยโดยรถยนต์เข้าทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อม หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ชายา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2491[22]หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคดี โดยพระชนม์ชีพที่ไซง่อนและกัมพูชา ทรงเปิดโรงงานทอผ้าและค้าขายถ่าน รวมระยะเวลาที่ทรงลี้ภัยนานถึง 16 ปี [20]

พระโอรส-ธิดา[แก้]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีชายา 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร พระขนิษฐาร่วมพระบิดา และมีหม่อมอีก 2 ท่าน คือ หม่อมทิพวัน (สกุลเดิม: ณ เชียงใหม่) และหม่อมบัวนวล (สกุลเดิม: ณ เชียงใหม่) มีพระโอรสหนึ่งคนและพระธิดาสี่คน ได้แก่

  1. หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา (นามเดิม: เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่; 13 มิถุนายน พ.ศ. 2426 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497)
    1. พระธิดา 1 คน (อนิจกรรมตั้งแต่คลอด)[23]
  2. หม่อมศรีนวล กฤดากร ณ อยุธยา (นามเดิม: เจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่)
    1. หม่อมราชวงศ์จิรเดช กฤดากร
  3. หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร (พ.ศ. 2446-2524) พระขนิษฐาต่างมารดา[24][25]
    1. หม่อมราชวงศ์วิภาสิริ วุฒินันท์
    2. หม่อมราชวงศ์อัจฉริยา คงสิริ
    3. หม่อมราชวงศ์ภรณี รอสส์
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าบวรเดช
ตราประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระเกียรติยศ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

พระยศ[แก้]

พระยศทางทหาร[แก้]

  • 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2456: นายพลโท[39]
  • 7 เมษายน พ.ศ. 2470: นายพลเอก[40]

พระยศเสือป่า[แก้]

  • นายกองโท[41]
  • 10 กันยายน พ.ศ. 2459: นายพลเสือป่า[42]
  • 31 ธันวาคม พ.ศ. 2459: ราชองครักษ์พิเศษเสือป่า[43]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชทานยศทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-12-12. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  2. พระราชทานยศเสือป่า (หน้า 1525)
  3. "พระประวัติ บวรเดช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-23. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  4. "หม่อมเจ้าบวรเดชเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-04. สืบค้นเมื่อ 2020-07-04.
  5. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  6. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  7. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก (หน้า 119)
  8. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  9. "พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-11. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  10. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  11. ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
  12. "ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-10. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.
  13. สุภาพตำรับพระบรมราชาภิเษก-เล่มต้น
  14. โดยปกติหม่อมเจ้าจะทรงศักดินา
  15. อภิเษกสมรส
  16. "ทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.
  17. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพ
  18. "ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.
  19. "เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-30. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  20. 20.0 20.1 20.2 หน้า 694-697, เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ โดย นายหนหวย. กรุงเทพ พ.ศ. 2530. พิมพ์และจำหน่ายโดยตนเอง
  21. "ก่อการกบฏบวรเดช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  22. "ลี้ภัยทางการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-13. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  23. "เจ้าทิพวัน กฤดากร เกษตรกรรายแรกที่ปลูกและบ่มใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในจังหวัดเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2006-09-27.
  24. "หม่อมเจ้าหญิง ผจงรจิตร์ กฤดากร". Kridakorn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "บังอบายเบิกฟ้า ทำไม "บวรเดช" ต้องกบฏ". ไทยโพสต์. 31 มกราคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๑๒, ๕ มกราคม ๒๔๖๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๒๙, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๖๓, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๖
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๘, ๙ เมษายน ๑๓๐
  30. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานถานันดร แห่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๘๙, ๒ ธันวาคม ๒๔๖๑
  31. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามแลนามผู้ได้รับพระราชทานตราวัลภาภรณ์ ในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๐๘, ๔ มกราคม ๒๔๖๒
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๓๘ หน้า ๗๔๖, ๒๒ ธันวาคม ๑๒๐
  33. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญจักรมาลา, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๐๓, ๒๘ มกราคม ๒๔๕๙
  34. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๐, ๙ เมษายน ๑๓๐
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๑๔, ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๔, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
  37. 37.0 37.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๒๒, ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘
  38. 38.0 38.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๖, ๒๑ พฤษภาคม ๑๓๐
  39. พระราชทานยศพลโท
  40. "พระราชทานยศพลเอก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-12-12. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  41. พระราชทานยศกองโทเสือป่า
  42. พระราชทานยศนายพลเสือป่า
  43. ประกาศกรมบัญชาการเสือป่า