หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา
เกิดเจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่
13 มิถุนายน พ.ศ. 2426
เสียชีวิต27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 (70 ปี)
คู่สมรสพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
บุตรธิดาหนึ่งคน
บุพการีเจ้าเทพดำรงค์รักษาเขต
เจ้าปิมปา ณ เชียงใหม่

หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา หรือนามเดิม เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่ (13 มิถุนายน พ.ศ. 2426 — 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497) นางข้าหลวงในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา[1] และอดีตหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

ประวัติ

หม่อมทิพวัน เป็นธิดาของเจ้าเทพดำรงค์รักษาเขต เจ้าฟ้าเมืองขุนยวม ผู้รักษาเมืองชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำสาละวินสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ กับเจ้าปิมปา ณ เชียงใหม่ หลานสาวเจ้าราชบุตร (สุริยฆาต) ณ นครเชียงใหม่ เจ้าราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้ากาวิละ

หม่อมทิพวันเสกสมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งได้พบรักกันในขณะที่เจ้าทิพวัน ได้เข้ามาอยู่กับเจ้าดารารัศมี ในพระราชวังดุสิต มีธิดา 1 พระองค์ แต่ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่คลอด[2]

หลังจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชได้เสกสมรสกับเจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่ น้องสาวของเจ้าทิพวันเป็นหม่อมคนใหม่ หม่อมทิพวันจึงกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่[3] ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องอาญาในฐานความผิดกบฏ และหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษจึงกลับมาตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าที่อำเภอหัวหิน ซึ่งหม่อมทิพวันก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนด้วย

หม่อมทิพวันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 สิริรวมอายุ 71 ปี

การปฏิบัติภารกิจ

ด้านการถวายความจงรักภักดี

ในปี พ.ศ. 2452 หม่อมทิพวันได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณในการถวายพระอภิบาลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายเล็ก ๆ ที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาอยู่ในยุโรปในเวลานั้นหลายพระองค์ ในฐานะภริยาเอกอัครราชทูต และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็ได้ทรงเมตตาเป็นพิเศษ พระราชทานเครื่องเพชรประดับกายอย่างสมเกียรติ

หม่อมทิพวันได้มีโอกาสรำถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2469 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ให้แก่หม่อมทิพวันในครั้งนั้น[2]

ด้านการเกษตร

หม่อมทิพวันได้สร้างเตาบ่มใบยาสูบ ที่บ้านหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และริเริ่มเพาะปลูกและบ่มใบยาเวอร์ยิเนียเป็นรายแรกในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2486[2]

ด้านการศึกษา ศาสนา และสังคม

หม่อมทิพวัน ได้บริจาคที่ดิน 9 ไร่ เพื่อสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2482 และได้เป็นประธานสร้างพระวิหาร ในปี พ.ศ. 2490 สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2494 ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง 81,500 บาท ชาวบ้านจึงได้ขนานนามวัดนี้ว่า "วัดทิพวนาราม"[4]

ในปี พ.ศ. 2483 เจ้าทิพวัน ได้มอบที่ดินจำนวน 10 ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลหนองหาร ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนบ้านหนองหาร (ทิพวันอุทิศ)[5]

หม่อมทิพวัน เคยได้รับตำแหน่งนายกสมาคมสตรีศรีล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการสมาคมผู้บ่มเพาะปลูกยาสูบแห่งประเทศไทย[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ราชตระกูล

อ้างอิง

  1. หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2546
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "เจ้าทิพวัน กฤดากร เกษตรกรรายแรกที่ปลูกและบ่มใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในจังหวัดเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-09. สืบค้นเมื่อ 2012-09-19.
  3. "แม่ญิงล้านนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-09. สืบค้นเมื่อ 2012-09-19.
  4. วัดทิพวนาราม เก็บถาวร 2013-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 10 ตุลาคม 2555
  5. โรงเรียนบ้านหนองหาร (ทิพวันอุทิศ)[ลิงก์เสีย]จากเว็บไซต์โครงการปลูกปัญญา
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฝ่ายใน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๐๖, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๙๙๕, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙