พระปทุมพุทธเจ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระปทุมพุทธเจ้า
ข้อมูล
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระปทุมพุทธเจ้า หลังจากพระศาสนาของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าได้ล่วงไปแล้ว จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระปทุมะพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ในอันตรกัปถัดมาในวรกัปเดียวกัน

พระประวัติ[แก้]

พระปทุมะพุทธเจ้า ประสูติเป็นพระมหาปทุมราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งจัมปกะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอสมราช และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางอสมา พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่า ปทุมะ เพราะเมื่อพระองค์ประสูติ ได้บังเกิดดอกบัวตกลงมาจากท้องฟ้าลงสู่มหาสมุทรทั่วทั้งชมพูทวีป มหาปทุมราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ในปราสาท ๓ หลัง ชื่อ นันทุตตระ วสุตตระ และยสุตตระ มีพระมเหสีพระนามว่า อุตตราเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๓,๐๐๐ นาง


วันหนึ่ง พระมหาบุรุษทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา เมื่อพระนางอุตตราเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า รัมมราชกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาด้วยราชรถเทียมม้า มีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ โกฏิ

มหาปทุมราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางธัญญวดี ธิดาของสุธัญญเศรษฐี กรุงธัญญวดี และรับหญ้า ๘ กำจากติตถกะอาชีวก ปูลาดใต้ต้นมหาโสณะ (ต้นอ้อยช้างใหญ่) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น

พระปทุมะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุผู้บรรพชาตามจำนวน ๑ โกฏิ ที่ธนัญชัยราชอุทยาน ใกล้กรุงธัญญวดี ทำให้พระภิกษุ ๑ โกฏินั้น สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

ธรรมาภิสมัย[แก้]

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระปทุมะพุทธเจ้า บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ

  • วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐ โกฏิ
  • วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่พระประยูรญาติ ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ
  • วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระโอรส ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐ โกฏิ

ประชุมสาวกสันนิบาต[แก้]

พระปทุมะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

  • ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ โดยมีพระเจ้าสุภาวิตัตตะ ซึ่งนำข้าราชบริพารออกบวชเป็นประธาน
  • ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๓๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ กรุงอุสภวดี ในพิธีกรานกฐิน
  • ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๒๐๐,๐๐๐ โกฏิ ซึ่งตามเสด็จมาประชุมในป่าใหญ่

พระสาวก[แก้]

พระปทุมะพุทธเจ้ามีพระสาวกองค์สำคัญ คือ

  • พระอัครสาวก คือ พระสาละเถระ และพระอุปสาละเถระ
  • พระอัครสาวิกา คือ พระราธาเถรี และพระสุราธาเถรี
  • พระอุปัฏฐาก คือ พระวรุณะ

พระวรกาย[แก้]

พระปทุมะพุทธเจ้ามีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ออกไปทุกทิศ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน พระศาสนาก่อนอันตรธานหายไปสามารถดำรงอยู่ได้ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี

ความเกี่ยวข้องกับพระพุทธโคดม[แก้]

ในสมัยของพระปทุมะพุทธเจ้าผู้ประเสริฐดั่งดอกอุบล พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งนัก พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพญาราชสีห์ อาศัยอยู่ในป่าใหญ่

วันหนึ่ง ได้พบพระปทุมะพุทธเจ้าพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ กำลังทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ณ รุกขมูลโคนต้นไม้ใหญ่ พญาราชสีห์ เห็นภาพ อันควรแก่การเลื่อมใส จึงมีจิตยินดีคิดว่า "เราจักทำการพิทักษ์รักษา ผู้มีศีลอันสงบเหล่านี้ ไม่ให้มีอันตรายเข้ามาใกล้ด้วยชีวิต" แล้วเดินวนเวียนเฝ้าระวังภัยไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้นกับพระพุทธองค์และพระสาวก ไม่ย่อมออกไปหาอาหารจนร่างกายผอมโซตลอด 7 วัน

เมื่อพระพุทธองค์และพระสาวกออกจากนิโรธสมาบัติ ทรงเห็นพญาราชสีห์ เฝ้าระวังภัยให้พระองค์และภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงกล่าวพุทธพยากรณ์ว่า

"พญาราชสีห์นี้ นานไปในอนาคตกำหนดอีก 1 อสงไขยกับอีกเศษแสนกัป จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า"[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติพระโพธิสัตว์ในสมัยพระปทุมะสัมมาสัมพุทธเจ้า". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2009-02-15.

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า พระปทุมพุทธเจ้า ถัดไป
พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
100,000 ปี
พระพุทธเจ้าในอดีต องค์ที่ ๑๑
(100,000 ปี)
พระนารทพุทธเจ้า
(90,000 ปี)