คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง เป็นเอกสารยุคปลายกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] มีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำ สันนิษฐานว่ารับการคัดลอกและเรียบเรียงจากต้นฉบับในหอหลวง

เอกสารบรรยายสภาพกรุงศรีอยุธยาโดยละเอียด ข้อมูลเหล่านี้เมื่อสำรวจศึกษาพื้นที่แล้ว พบว่ามีความถูกต้องแม่นยำ ในส่วนหลังของเอกสารบรรยายถึงโบราณราชประเพณี ได้แก่ ธรรมเนียมถือน้ำ พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า พิธีโสกันต์ ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ แบบอย่างการพระเมรุ ยังมีบรรยายถึงตำแหน่งยศพระราชาคณะฐานานุกรม มีตอนที่ว่าด้วยพระพิไชยเสนา เป็นตำราสอนข้อความประพฤติของราชการ ตอนสุดท้ายเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์[2]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรมราชเลขาธิการซึ่งโอนมาอยู่ในหน้าที่กรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ได้มอบเอกสารสมุดไทย ใบบอก ใบลาน และอื่น ๆ มาเก็บรักษาไว้ ต่อมาให้กรมศิลปากรดูแล จนนายปรีดา ศรีชลาลัย ข้าราชการกรมศิลปากรอ่านพบและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย เห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์[3] จึงได้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ตั้งแต่ฉบับปีที่ 3 เล่ม 1 (มกราคม 2512) ถึงฉบับปีที่ 5 เล่ม 2 (พฤษภาคม 2514) ใช้ชื่อเอกสารนี้ว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม รวม 6 ฉบับ[2] โดยเข้าใจว่าเป็นเอกสารครั้งกรุงเก่า และเป็นคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ต่อมาจึงได้รวมพิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[4] โดยยังคงอักขรวิธีของต้นฉบับไว้ทั้งหมด

อ้างอิง[แก้]

  1. ธรรมเนียมเก่าไทยสยาม ในงานพระบรมศพ ต้องมีการมหรสพเริงรื่น
  2. 2.0 2.1 คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม : เอกสารจากหอหลวง.นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โครงการเลือกสรรหนังสือ, 2555.
  3. คำนำกรมศิลปากร
  4. ประชุมคำให้การ กรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง : คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด, กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]