กามิลโล เบนโซ เคานต์แห่งกาวูร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กามิลโล เบนโซ
นายกรัฐมนตรีอิตาลี
ดำรงตำแหน่ง
23 มีนาคม พ.ศ. 2404 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2404
ก่อนหน้าพระเจ้าวิคเตอร์เอ็มมานูเอลที่ 2
ถัดไปเบตตีโน รีกาโซลี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี
ดำรงตำแหน่ง
23 มีนาคม พ.ศ. 2404 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2404
นายกรัฐมนตรีตัวเขาเอง
ก่อนหน้าตั้งตำแหน่งครั้งแรก
ถัดไปเบตตีโน รีกาโซลี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 สิงหาคม พ.ศ. 2353
ตูริน ประเทศอิตาลี
เสียชีวิต6 มิถุนายน พ.ศ. 2404 (50 ปี)
ตูริน ประเทศอิตาลี
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองอนุรักษนิยม
ลายมือชื่อ

กามิลโล เบนโซ เคานต์แห่งกาวูร์ เชลลาเรนโก และอีโซลาเบลลา (อิตาลี: Camillo Paolo Filippo Giulio Benso, conte di Cavour, di Cellarengo e di Isolabella; 10 สิงหาคม พ.ศ. 2353 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2404) รัฐบุรุษชาวปีดมอนต์ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิตาลี

ประวัติ[แก้]

กาวูร์เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2353 ที่เมืองตูริน แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont - Sardinia) เป็นบุตรคนที่สองของมาร์เกเซ มีเกเล เบนโซ ดี กาวูร์ (Marchese Michele Benso di Cavour) และอาเดเล ดี เซลลอน (Adele di Sellon) ตระกูลกาวูร์เป็นตระกูลเก่าแก่ซึ่งเคยรับราชการทหารและเป็นข้าราชการพลเรือนในสมัยราชวงศ์ซาวอย ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 มารดาของกาวูร์เป็นชาวเจนีวาโดยกำเนิดและนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ลักธิคัลแวงและเป็นผู้นำอิทธิพล ของลัทธิเสรีนิยมจากนครเจนีวามาสู่ครอบครัว

กาวูร์มีพ่อทูนหัวและแม่ทูนหัวคือ เจ้าชายกามิลโล บอร์เกเซ (Camillo Borghese) และเจ้าหญิงพอลีน โบนาปาร์ต (Pauline Bonaparte) ซึ่งเป็นพระขนิษฐาที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 โปรดปรานมากที่สุด กาวูร์จึงมีชื่อแรกว่า "กามิลโล" เช่นเดียวกับพ่อทูนหัวของเขา

ระหว่าง พ.ศ. 2363 - 2369 กาวูร์ได้เข้าศึกษาวิชาการทหารในโรงเรียนนายร้อยที่เมืองตูริน และใน พ.ศ. 2367 เขาได้รับแต่งตั้งเป็ฯมหาดเล้กประจำพระองค์ของเจ้าชายชาลส์ แอลเบิร์ต (Charles Albert) แต่กาวูร์ไม่สนใจหรือตื่นเต้นเท่าใดนัก เขากลับไม่พอใจในเครื่องแบบของมหาดเล็กซึ่งเขาพิจารณาว่าแท้จริงแล้วก็เครื่องแบบคนใช้ดี ๆ นี่เอง เมื่อกาวูร์สำเร็จการศึกษาและได้รับสัญญาบัตรนายทหารแล้ว เขาได้แสดงความปิติยินดีอย่างเปิดเผยที่จะได้ถอดเครื่องแบบมหาดเล็กทิ้งไป ทำให้เจ้าชายชาลส์ แอลเบิร์ต กริ้วมากถึงกับขับกาวูร์ออกไปจากราชสำนัก

ชีวิตทหาร[แก้]

กาวูร์เริ่มชีวิตทหารด้วยการเป็นทหารช่าง โดยประจำการที่เมืองตูรินเป็นแห่งแรก ระหว่างรับราชการทหาร เขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลายเล่มซึ่งเขียนโดยนักปรัชญาและรัฐบุรุษที่มีเชื่อเสียงเช่น โอกุสต์ กงต์ (Auguste Comte) ฟร็องซัว ปีแยร์ กีโยม กีโซ (Francios Pierre Guillaume Guizot) แอดัม สมิท (Adam Smith) เจเรมี เบนทัม (Jeremy Bentham) และเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) ทำให้เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับลัทธิเสรีนิยมมาจากหนังสือดังกล่าว

ใน พ.ศ. 2373 เขาถูกส่งไปประจำการที่เมืองเจนัว ณ ที่นั้น เขามีโอกาสได้รู้จักกับอันนา กวิสตีนีอานี สเกียฟฟีโน (Anna Guistiniani Schiaffino) ซึ่งแก่กว่ากาวูร์ 3 ปี บ้านของเธอเป็นที่ชุมนุมของบรรดาสมาชิกสมาคมการ์โบนารี ซึ่งกาวูร์ก็ได้รู้จักกับจูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini) สมาชิกคนหนึ่ง ต่อมา บารอนเซเวรีโน กัสซีโอ (Baron Severino Cassio) นายทหารเพื่อนเก่าของกาวูร์ ซึ่งเป็นผู้ปลุกฝังความคิดทางการเมืองและความรักชาติให้แก่เขาในขณะที่อยู่โรงเรียนนายร้อยได้ย้ายมาประจำการที่เจนัว จากความสนิทสนมกับคาสซิโอทำให้กาวูร์มีความคิดเห็นทางการเมืองรุนแรงมาก

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2373 ได้เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศส การปฏิวัติครั้งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เร่งเร้าการปฏิวัติของกาวูร์ โดยการแสดงออกอย่างเปิดเผยต่อระบอบสาธารณรัฐของเขา ทำให้ทางการเริ่มสงสัยและส่งคนออกคอยติดตาม แต่บิดาของกาวูร์ก็ได้เข้าแทรกแซง สุดท้ายจึงเพียงแต่ถูกย้ายไปประจำที่ป้อมบาร์ดบนภูเขาสูงที่ห่างไกล และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2374 กาวูร์จึงลาออกจากราชการทหาร

เริ่มชีวิตการเมือง[แก้]

หลังจากลาออกจากราชการทหารแล้ว กาวูร์ได้กลับไปอยู่กับบิดาที่เมืองตูริน และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเทศมนตรีประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางใต้ของตูริน ในขณะเดียวกันก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินและที่ดินของบิดาที่เมืองเลรี (Leri)

กาวูร์บริหารทรัพย์สินของบิดาเป็นเวลา 16 ปี ระหว่างนั้น เขาได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งและนำวิธีการปรับปรุงการเกษตรของอังกฤษมาใช้ ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่บิดา ตัวเขาเองและผู้เช่าที่ดิน ต่อมากาวูร์ได้ลงทุนทำธุรกิจกับเพื่อนชาวสวิส และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังได้จัดตั้งสมาคมการเกษตรแห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์ (Piedmontese Agricultural Society) ระหว่างนั้นกาวูร์เดินทางไปอังกฤษ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์บ่อยครั้ง ทำให้เขามีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับยุโรปและการปกครองระบอบประชาธิปไตย กาวูร์ถือโอกาสนี้ศึกษาปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปไปด้วย เขาได้ฟังปาฐกถาและอภิปรายปัญหาดังกล่าวกับบุคคลสำคัญ ๆ แห่งยุค เช่น ดุ๊กเดอเบรย (Duc de Broglie), อาดอลฟ์ ตีแยร์ (Adolphe Thiers), ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday), เซอร์ โรเบิร์ต พีล (Sir Robert Peel), ลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ (Lord John Russell) เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2390 พระเจ้าชาลส์ แอลเบิร์ต ทรงปฏิรูปอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ทรงแก้ไขพระราชบัญญัติโดยพระราชทานเสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ กาวูร์จึงถือโอกาสนี้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ Il Risorgimento ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของการเผยแพร่ลักธิเสรีนิยม ใน พ.ศ. 2391 เมื่อข่าวปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในปารีสก่อให้เกิดการประท้วงในราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย พระเจ้าชาลส์ แอลเบิร์ต จึงตัดสินพระทัยพระราชทานรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของกาวูร์ เมื่อชาวเมืองมิลานทำการปฏิวัติต่อจักรวรรดิออสเตรีย บทความในหนังสือพิมพ์ Il Risorgimento ทำให้พระเจ้าชาลส์ แอลเบิร์ตทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออสเตรียเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2391

ระหว่างสงคราม กาวูร์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคอนุรักษนิยม กองทัพปีดมอนต์แพ้กองทัพออสเตรียอย่างราบคาบที่เมืองโนวารา ทำให้พระเจ้าชาลส์ แอลเบิร์ต ต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าวิกเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ต่อมาเมื่อมีการยุบสภาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2392 กาวูร์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2392 ระหว่างนั้นพรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำสงครามกับออสเตรียต่อไป แต่กาวูร์ไม่เห็นด้วย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2393 กาวูร์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมัสซีโม ดาเซลโย (Massimo d'Azeglio) และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาเป็นรัฐมนตรีที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในคณะรัฐบาล กาวูร์ได้ทำสนธิสัญญาหลายฉบับกับฝรั่งเศส เบลเยียม และอังกฤษ โดยส่งเสริมการค้าแบบเสรี ในขณะเดียวกันก็พยายามแสวงหาทางที่จะตั้งเครือข่ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศมหาอำนาจเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางการเมืองและเพื่อต่อต้านจักรวรรดิออสเตรีย

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย[แก้]

กาวูร์ขณะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักซาร์ดิเนีย (ทศวรรษที่ 1850)

ต่อมา ปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้นายกรัฐมนตรีดาเซลโยลาออก พระเจ้าวิกเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ทรงมอบหมายให้กาวูร์เป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2395 กาวูร์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ขณะเดียวกันกลุ่มผู้รักชาติก็คาดหวังว่าราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย จะเป็นผู้นำในการรวมอิตาลีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กาวูร์เชื่อว่าการรวมอิตาลีนั้นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถขับไล่ออสเตรียออกไปจากคาบสมุทรอิตาลีได้สำเร็จจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตร เขาตระหนักว่าก่อนที่จะได้มหาอำนาจมาเป็นพันธมิตร ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย จะต้องเป็นราชอาณาจักรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงเพียบพร้อม ดังนั้นเมื่อเขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจึงเร่งปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ในการนี้เขาได้มุ่งมั่นส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรมและการพานิชย์ การปรับปรุงระบบคมนาคมอันเป็นหัวใจสำคัญขอวการพานิชย์และอุตสาหกรรม จึงมีการสร้างทางหลวง ทางรถไฟ ปรับปรุงท่าเรือและขุดลอกคลองต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีการปฏิรูประบบธนาคาร ขยายสินเชื่อ ก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในไม่ช้านโยบายปรับปรุงเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้การคลังของราชอาณาจักรมั่นคง มีงบประมาณเพียงพอที่จะบำรุงกองทัพบกและกองทัพเรือให้เจริฐก้าวหน้าพร้อมเข้าสู่สงครามได้

ต่อมาในช่วงสงครามไครเมีย กาวูร์นำราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย เข้าร่วมสงคราม โดยหวังที่จะนำปัญหาของอิตาลีเสนอต่อประเทศมหาอำนาจและเพื่แสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย มีฐานะทางการเมืองและการทหารไม่ด้อยไปกว่ามหาอำนาจ จึงมีการทำสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อร่วมกันทำสงครามกับรัสเซียซึ่งส่งกองทัพเข้าโจมตีจักรวรรดิออตโตมัน ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ได้ส่งทหาร 18,000 คนเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ และได้ทำชื่อเสียงในการรบที่เมืองเซอร์นายา ทำให้กาวูร์ได้รับความศรัทธาและความไว้วางใจจากผู้นำอังกฤษและฝรั่งเศส ระหว่างประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส กาวูร์ได้กล่าวคำปราศรัยโจมตีการปกครองข่มขู่กดขี่อย่างทารุณของจักวรรดิออสเตรียในภาคเหนือของคาบสมุทรอิตาลี และได้รับความเห็นใจจากประเทศพันธมิตรเป็นอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรอิตาลี[แก้]

ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2404 ได้มีการประกาศจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลีขึ้น โดยมีพระเจ้าวิคเตอร์เอ็มมานูเอลที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์ กาวูร์มีความเห็นว่ากรุงโรมเหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงมากกว่าเมืองตูริน

ในระยะปีหลัง ๆ สุขภาพของกาวูร์ได้เสื่อมโทรมลงจนทรุดหนักและล้มเจ็บ และถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ศพฝังอยู่ที่สุสานบรรพบุรุษที่เมืองซันเตนา

อ้างอิง[แก้]

  • เพ็ญศรี ดุ๊ก สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม C-D
  • Beales, Derek & Eugenio Biagini. The Risorgimento and the Unification of Italy. Second Edition. London: Longman, 2002. ISBN 0-582-36958-4
  • Di Scala, Spencer. Italy: From Revolution to Republic, 1700 to the Present. Boulder, CO: Westview Press, 2004. ISBN 0-8133-4176-0
  • Holt, Edgar. The Making of Italy: 1815-1870. New York: Murray Printing Company, 1971. Library of Congress Catalog Card Number: 76-135573
  • Kertzer, David. Prisoner of the Vatican. Boston: Houghton Mifflin Company, 2004. ISBN 0-618-22442-4
  • Norwich, John Julius. The Middle Sea: A History of the Mediterranean. New York: Doubleday, 2006. ISBN 978-0-385-51023-3
  • Smith, Denis Mack. Italy: A Modern History. Ann Arbor: The University of Michigan Press, 1959. Library of Congress Catalog Card Number: 5962503

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า กามิลโล เบนโซ เคานต์แห่งกาวูร์ ถัดไป
- นายกรัฐมนตรีอิตาลี
(พ.ศ. 2404)
เบตตีโน รีกาโซลี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี
(พ.ศ. 2404)
เบตตีโน รีกาโซลี