พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง)
พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ( โพธิ์แจ้ง) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2444 (85 ปี) |
มรณภาพ | 25 กันยายน พ.ศ. 2529 |
นิกาย | คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 |
พรรษา | 61 |
ตำแหน่ง | เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็น เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม |
พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร นามฉายา โพธิ์แจ้ง (จีน: 普淨 สำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า "ผู่จิ้ง" พินอิน: Pǔ Jìng) อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย อดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส[1] และอดีตเจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัดโพธิ์เย็น (จีนนิกาย) และวัดโพธิ์แมนคุณาราม[2]
ประวัติ
[แก้]กำเนิด
[แก้]พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร มีนามเดิมว่าอึ้ง ธง เกิดในครอบครัวขุนนาง เมื่อวันที่ 16 เดือน 6 ปืขาล ตามปฏิทินจีน ตรงกับปี พ.ศ. 2444 เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน บิดาของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเยาว์ นางจางไทมารดาของท่านได้อบรมเลี้ยงดูท่านต่อมา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ท่านเข้ารับราชการเป็นทหาร คนสนิทของประธานาธิบดีเจียง ไคเชก ต่อมาท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลกจึงตัดสินใจออกจากราชการในปี พ.ศ. 2470 จากนั้นจึงตัดสินใจเดินทางมาศึกษาและปฏิบัติธรรมในประเทศไทย
อุปสมบทและศึกษาพระธรรม
[แก้]ท่านบรรพชาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เช็งจุ้ยยี่) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยมีพระอาจารย์หล่งง้วนได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “โพธิ์แจ้ง” ท่านฝึกปฏิบัติกรรมฐานที่สำนักนั้นจนแตกฉาน และรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังช่วยรักษาประชาชนที่ป่วยไข้โดยใช้วิชาสมุนไพรตามที่เคยร่ำเรียนมา
พ.ศ. 2477 ท่านเดินทางไปประเทศจีน และได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ศกนั้น ณ วัดฮุ่ยกือยี่ มณฑลกังโซว มีพระคณาจารย์กวงย๊วกเป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ 2 ปีจึงเดินทางกลับประเทศไทย
พ.ศ. 2484 ท่านเดินทางไปทิเบตเพื่อศึกษาวัชรยานกับนอรา รินโปเช (Nora Rinpoche) หรือ Gara Lama Sonam Rabten และได้รับอภิเษกเป็นวัชรธราจารย์ แล้วเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2490
พ.ศ. 2491 เดินทางไปประเทศจีนและศึกษาในนิกายวินัยกับพระปรมัตตาจารย์เมี่ยวยิ้ว ซึ่งเป็นสังฆปริณายกรูปที่ 18 และได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆปริณายกรูปที่ 19 ของนิกาย แล้วเดินทางกลับไทยในปี พ.ศ. 2493
มรณภาพ
[แก้]พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร อาพาธด้วยโรคโลหิตอุดตันในสมอง ถึงมรณภาพ ณ โรงพยาบาลธนบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2529 เวลา 7.30 น. สิริอายุได้ 85 ปี 5 เดือน 11 วัน พรรษา 61 ได้รับพระราชทานโกศโถ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ รับศพในพระบรมราชานุเคราะห์ 3 วัน มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมกำหนด 3 คืน และบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วันพระราชทาน ต่อมาวันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม ศกนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนชั้นเกียรติยศศพเป็นโกศแปดเหลี่ยม (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ)
วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2529 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปพระราชทานดินบรรจุศพพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ณ สถูปเจดีย์วัดโพธิ์แมนคุณาราม
ตำแหน่ง
[แก้]- พ.ศ. 2491 สังฆปริณายกสำนักวินัย
- พ.ศ. 2493 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็นและพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2497 เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสและเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
- พ.ศ. 2513 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม
- พ.ศ. 2520 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทัตตาราม
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2493 ได้รับสมณศักดิ์เป็น หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้าย[3]
- พ.ศ. 2494 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น หลวงจีนคณาณัติจีนพรต ปลัดขวา[4]
- พ.ศ. 2497 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย[5]
- พ.ศ. 2507 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนเนตา เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย[6]
- พ.ศ. 2510 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนเนตา สาธุชนธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย[7]
- พ.ศ. 2513 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนพิเนต วิเทศธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย[8]
- พ.ศ. 2521 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนตุ วิเทศธรรมประสาท นวกิจพิลาสประยุกต์ ทำนุกจีนประชาวิสิฐ เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย[9]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ "ลำดับเจ้าอาวาส". วัดมังกรกมลาวาส. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-11. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประวัติพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ฯโพธิ์แจ้งมหาเถระ". วัดโพธิ์แมนคุณาราม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-14. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งบรรพชิตจีนนิกาย, ตอนที่ 22 เล่ม 67, หน้า 1616
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งบรรพชิตฝ่ายจีน, ตอนที่ 74 เล่ม 68, หน้า 5641
- ↑ แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งบรรพชิตฝ่ายอนัมและฝ่ายจีน, ตอนที่ 84 เล่ม 71, หน้า 2802
- ↑ แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งบรรพชิตฝ่ายอนัมและฝ่ายจีน, ตอนที่ 118 เล่ม 81, หน้า 2802
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตฝ่ายจีนนิกายและอนัมนิกาย, ตอนที่ 128 เล่ม 84, หน้า 25
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตฝ่ายจีนนิกาย, ตอนที่ 122 เล่ม 87, หน้า 24
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตฝ่ายจีนนิกาย, ตอนที่ 34 เล่ม 95, หน้า 13
- บรรณานุกรม
- คณะกรรมการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพพระราชทานบรรจุศพท่านเจ้าคุณเจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกาย (โพธิ์แจ้งมหาเถระ). ประวัติสังเขป เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย (โพธิ์แจ้ง). กรุงเทพฯ : บริษัท กราฟิกอาร์ต (๑๙๗๗) จำกัด, 2529.