ข้ามไปเนื้อหา

เรือหลวงช้าง (LST-712)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือหลวงช้าง (LST-712) ขณะที่ยังใช้ชื่อว่า ยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ (LST-898)
ประวัติ
ประเทศสหรัฐ
ชื่อLST-898
อู่เรือดราโว คอร์เปอเรชั่น, พิตต์สเบิร์ก, ประเทศสหรัฐ
ปล่อยเรือ15 ตุลาคม พ.ศ. 2487
เดินเรือแรก25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487
เข้าประจำการ29 ธันวาคม พ.ศ. 2487
ปลดระวาง9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
นำกลับมาประจำการใหม่28 สิงหาคม พ.ศ. 2493
ปลดระวาง24 มีนาคม พ.ศ. 2504
เปลี่ยนชื่อใหม่ยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ (LST-898) 1 กรกฎาคม 2498
เกียรติยศ
  • 1 เหรียญแบทเทิลสตาร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2)
  • 6 เหรียญแบทเทิลสตาร์ (สงครามเกาหลี)
ความเป็นไปขายให้ ประเทศไทย, 31 สิงหาคม 2505
ราชนาวีไทยประเทศไทย
ชื่อเรือหลวงช้าง (LST-712)
ตั้งชื่อตามเกาะช้าง
ส่งมอบเสร็จ31 สิงหาคม 2505
ปลดระวาง14 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ความเป็นไปวางเป็นปะการังเทียม บริเวณเกาะช้าง
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: เรือระบายพลขนาดใหญ่ชั้น LST-542
ขนาด (ระวางขับน้ำ):
  • 1,625 ตัน เบา
  • 4,080 ตัน เต็มกำลัง
ความยาว: 328 ฟุต (100 เมตร)
ความกว้าง: 50 ฟุต (15 เมตร)
กินน้ำลึก:
  • เรือเปล่า :
  • 2 ฟุต 4 นิ้ว (0.71 เมตร) หัวเรือ
  • 7 ฟุต 6 นิ้ว (2.29 เมตร) ท้ายเรือ
  • บรรทุก :
  • 8 ฟุต 2 นิ้ว (2.49 เมตร) หัวเรือ
  • 14 ฟุต 1 นิ้ว (4.29 เมตร) ท้ายเรือ
ระบบขับเคลื่อน: 2 × เครื่องยนต์ดีเซล General Motors 12-567, สองเพลา, หางเสือคู่
ความเร็ว: 12 นอต (22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 14 ไมล์ต่อชั่วโมง)
จำนวนเรือและอากาศยาน: 2 × เรือระบายพลขนาดเล็ก
กำลังพล: นายทหารและกำลังพลประมาณ 130 นาย
อัตราเต็มที่:
  • นายทหาร 8–10 นาย
  • กำลังพล 89–100 นาย
ยุทโธปกรณ์:
  • 8 × ปืน Bofors ขนาด 40 มม. L/60
  • 12 × ปืน Oerlikon ขนาด 20 มม.

เรือหลวงช้าง (LST-712) ([HTMS Chang] ข้อผิดพลาด: {{Langx}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ)) หรืออดีตเรือ ยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ (LST-898) ([USS Lincoln County] ข้อผิดพลาด: {{Langx}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ)) เป็นเรือยกพลขนาดใหญ่ชั้น LST-542 ซึ่งสร้างขึ้นมาสำหรับกองทัพเรือสหรัฐระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกขายให้กับกองทัพเรือไทย

ประวัติ

[แก้]

ชื่อแรกของเรือถูกตั้งขึ้นตามชื่อเทศมณฑลลินคอล์น ซึ่งใช้ชื่อเดียวกันใน 23 รัฐของสหรัฐ และเป็นเรือเพียงลำเดียวของกองทัพเรือสหรัฐที่ใช้ชื่อนี้ ส่วนชื่อที่สองของเรือถูกตั้งขึ้นตามเกาะช้าง ในจังหวัดตราด โดยเป็นเรือลำที่สองที่ใช้ชื้อนี่[1] ตามหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือของกองทัพเรือไทย[2]

เดิมเมื่อตอนวางกระดูกงูเรือ เรือลำนี้ถูกกำหนดหมายเลขตัวเรือเป็น LST-898 โดยอู่ต่อเรือดราโว คอร์เปอเรชั่น ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2487 และปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 โดยนาง J. B. Mawhinney และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2487[1]

การประจำการ

[แก้]

สงครามโลกครั้งที่สอง, พ.ศ. 2487–2488

[แก้]

หลังจากการแล่นทดสอบในรัฐฟลอริดา เรือ LST-898 ได้เดินทางไปขนสัมภาระที่นิวออร์ลีนส์และออกเดินทางเข้าร่วมสงครามเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 โดยแล่นผ่านคลองปานามาจนมาถึงเมืองมาจูโรเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2488 จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะไซปันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในยุทธการที่โอกินาวะ โดยเดินทางออกจากเกาะไซปันเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2488 และเดินทางมาถึงเมืองชิมูวาน จังหวัดโอกินาวา และระบายพลพร้อมสัมภาระลงบริเวณฐานชิมูวาน ซึ่งเป็นเหมือนประตูสู่ตัวประเทศญี่ปุ่น ต่อจากนั้นได้แล่นกลับไปยังเกาะไซปันเพื่อลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ส่งกำลังบำรุงไปยังหมู่เกาะมาเรียนา ประเทศฟิลิปปินส์ และจังหวัดโอกินาวาของญี่ปุ่นตลอดช่วงเดือนที่เหลือของสงคราม

ภารกิจหลังสงคราม, พ.ศ. 2488–2489

[แก้]

หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นในฝั่งทะเลแปซิฟิก เรือถูกมอบหมายให้ปฏิบัติการในพื้นที่ตะวันออกไกลเพื่อขนส่งยุทโธปกรณ์ที่ถูกยึดจากฝ่ายแพ้สงครามจนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน จากนั้นได้ร่วมขนส่งสัมภาระจากการรื้อถอนฐานปฏิบัติการของกองทัพบกในประเทศฟิลิปปินส์ และปลดประจำการครั้งแรกจากกองทัพเรือในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489[3]

กองทัพบกและปฏิบัติการ MSTS, พ.ศ. 2489–2493

[แก้]

ในวันที่ 25 พฤศภาคม พ.ศ. 2489 เรือได้ถูกถ่ายโอนภารกิจไปอยู่ในความดูแลของกองทัพบกในส่วนของการขนส่งสัมภาระต่าง ๆ และถูกถ่ายโอนกลับมาประจำการในกองทัพเรืออีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ซึ่งสามเดือนต่อมาเรือถูกมอบหมายให้ปฏิบัติการขนส่งสัมภาระสำหรับหน่วยบริการขนส่งทางทหารทางทะเล (Military Sea Transportation Service: MSTS) ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งขณะนั้นเกาหลีใต้ประสบกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์และมีการร้องขอกำลังทางเรือเพิ่มเติมเพื่อเร่งกระบวนการส่งกำลังบำรุงเข้าสู่พื้นที่ขัดแย้ง[3]

สงครามเกาหลี, พ.ศ. 2493–2495

[แก้]
เรือ LST-898 ขณะปฏิบัติการอพยพประชาชนและนาวิกโยธินจากเมืองฮุงนัม

เรือ LST-898 กลับเข้าประจำการใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2493 โดยได้บรรทุกกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากเมืองโคเบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปเตรียมปฏิบัติการในยุทธการที่อินช็อนทางตะวันตกของเกาหลีเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2493 จากนั้นเรือได้นำกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติการในยุทธการเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2493 จนกระทั่งปฏิบัติการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จนทำให้นายพลดักลาส แมกอาเธอร์ กล่าวชื่นชมกองทัพเรือว่า "The Navy and Marines have never shone more brightly than this morning." หลังจากเรือได้ระบายกำลังพลและยุทโธปกรณ์แล้ว เรือได้ทำหน้าที่ในการลำเลียงและให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินให้กับกำลังพลนาวิกโยธินที่ได้รับบาดเจ็บ และสนับสนุนกองกำลังบนฝั่งด้วยการระดมยิงสนับสนุนไปยังตำแหน่งของข้าศึกบนฝั่ง โดยเรือ LST-898 ได้ปฏิบัติการจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นกองกำลังของจีนได้เข้าร่วมในสงครามดังกล่าว ทำให้เรือต้องย้ายไปปฏิบัติการส่งกำลังพลนาวิกโยธินสหรัฐในพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาหลี ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เรือได้เข้าร่วมในปฏิบัติการอพยพประชาชนชาวเกาหลีและกำลังนาวิกโยธินจากเมืองฮุงนัม และเมืองว็อนซัน ไปยังเมืองปูซาน[3] จากนั้นเรือได้ปฏิบัติการขนส่งยุทปัจจัยระหว่างท่าเรือของเกาหลีและญี่ปุ่น จนกระทั่งเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางออกจากฐานทัพเรือสหรัฐในเมืองโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 เมษายน และเดินทางถึงเมืองแซนดีเอโกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เพื่อเข้ารับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และเดินทางกลับไปยังฐานทัพเรือในโยโกซูกะเพื่อปฏิบัติการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์บนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งด้วยการขนส่งยุทโธปกรณ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีตลอดระยะเวลา 6 เดือน และได้เดินทางกลับมายังเมืองแซนดิเอโกในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495

กองเรือแปซิฟิก, พ.ศ. 2496–2503

[แก้]

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2496 เรือ LST-898 ได้ปฏิบัติงานในการขนส่งยุทธภัณฑ์ในการก่อสร้างฐานทัพเรือบริเวณเมืองพอยต์บาร์โรว์ รัฐอะแลสกา และปฏิบัติงานอยู่บริเวณแถบอาร์กติกจนถึงช่วงเดือนกันยายน ซึ่งสองปีต่อมาเรือได้สับเปลี่ยนกำลังไปปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกในการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เรือ LST-898 ได้รับการตั้งชื่อว่า ยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ (LST-898) ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2503 เรือได้ออกเดินทางสามครั้งไปกับกองเรือที่ 7 โดยมีครั้งหนึ่งได้เดินทางไปยังแถบอาร์กติกช่วงที่หนาวเย็นเพื่อติดตั้งแนวเตือนภัยล่วงหน้าระยะไกล (Distant Early Warning Line: DEW Line) และเข้าร่วมการฝึกยกพลขึ้นบกบริเวณนอกชายฝั่งตะวันตกและฮาวาย

ปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐ

[แก้]

หลังจากรับใช้กองทัพเรือสหรัฐมาอย่างยาวนาน ผ่าน 2 ช่วงสงครามครั้งใหญ่ และการเดินทางไกลอีกหลายครั้งร่วมกับกองเรือที่ 7 เพื่อปฏิบัติการทางหทารต่าง ๆ ในการระงับยับยั้งความขัดแย้งในพื้นที่ เรือยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ ได้ปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2504[1][3]

ประจำการกองทัพเรือไทย

[แก้]

เรือยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ ถูกขายให้กับรัฐบาลไทยภายใต้ข้อตกลงในโครงการช่วยเหลือทางการทหาร (Military Assistance Program) เพื่อประจำการในกองทัพเรือไทยในชื่อ เรือหลวงช้าง (LST-2) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2505[3] ณ เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทย คือนายวิสูตร อรรถยุกติ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เป็นผู้รับมอบเรือ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนหมายเลขตัวเรือเป็น 712[1]

เรือหลวงช้างเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของกองทัพเรือไทย ในการปฏิบัติการในภารกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ปฏิบัติการในยุทธการบูโดในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย สนับสนุนการปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน เป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำ และเป็นเรือฝึกของนักเรียนนายเรือในหลักสูตรสำคัญมากมาย จึงเปรียบได้ว่าเรือหลวงช้าง เป็นเรือครูอีกลำหนึ่งของกองทัพเรือไทย[1]

ปลดประจำการจากกองทัพเรือไทย

[แก้]

เรือหลวงช้างปลดประจำการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 หลังจากปฏิบัติงานมากว่า 61 ปีในกองทัพเรือทั้งของสหรัฐและของไทย เนื่องจากสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ยากที่จะซ่อมแซมให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และคุ้มค่า และได้ดำเนินการนำเรือวางลงสู่ใต้ทองทะเลบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด ภายใต้โครงการ "เรือหลวงช้างรักษ์ทะเลตราดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555" ของจังหวัดตราด ร่วมกับกองทัพเรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และสมาคมการประมงจังหวัดตราด เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำบริเวณเกาะช้าง โดยวางเรือหลวงช้างบริเวณกลางทะเลด้านหลังเกาะคุ้ม หรือแนวหินราบ-หินลูกบากศ์ ห่างจากเกาะช้างประมาณ 8 ไมล์ทะเล[4] ตัวเสากระโดงเรืออยู่ลึกจากผิวน้ำ 5 เมตร และตัวเรือวางอยู่ก้นทะเลที่ระยะประมาณ 35 เมตร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการดำน้ำลึก (Scuba diving) ที่สำคัญอีกแห่งของเกาะช้าง[1]

เกียรติยศ

[แก้]

เรือ LST-898 ได้รับเหรียญแบทเทิลสตาร์ (Battle star) จำนวน 1 เหรียญ จากการปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่สอง และ 6 เหรียญ จากการปฏิบัติการในสงครามเกาหลี[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "LST-712 เรือครูของนักเรียนนายเรือไทย". BLUE CULTURE DIVING. 2022-01-10.
  2. "เรือหลวงช้าง (ลำที่ 2) – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "อพท.1 : พืนที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง - "เรือหลวงช้าง" บ้านปลาพร้อมแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ ของเกาะช้าง". www3.dasta.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2023-04-28.
  4. "เรือหลวงช้าง HTMS Chang Wreck". Chang Diving Center.

บรรณานุกรม

[แก้]