ข้ามไปเนื้อหา

เมืองสวางคบุรี

พิกัด: 17°39′12.39″N 100°8′24.44″E / 17.6534417°N 100.1401222°E / 17.6534417; 100.1401222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระวังสับสนกับ เมืองฝาง (เชียงใหม่)
เมืองสวางคบุรี

เมืองฝาง
เมืองโบราณสมัยสุโขทัย
ภาพจากบนลงล่าง, ซ้ายไปขวา: พระมหาธาตุเมืองฝาง ศูนย์กลางทางศาสนาของเมืองสวางคบุรีโบราณ, วิหารหลวง ดนตรีมังคละเมืองฝาง และชาวเมืองสวางคบุรีในปัจจุบัน, บานประตูวิหารวัดพระฝาง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย, พระพุทธรูปพระฝาง ในอุโบสถวัดพระฝาง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2441, ซากอิฐโบราณสถานบริเวณค่ายพระตำหนักหาดสูงวัดคุ้งตะเภา, ยานมาศวัดใหญ่ท่าเสา ศิลปะอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นยานมาศแห่พระของเมืองสวางคบุรีโบราณ
ภาพจากบนลงล่าง, ซ้ายไปขวา: พระมหาธาตุเมืองฝาง ศูนย์กลางทางศาสนาของเมืองสวางคบุรีโบราณ, วิหารหลวง ดนตรีมังคละเมืองฝาง และชาวเมืองสวางคบุรีในปัจจุบัน, บานประตูวิหารวัดพระฝาง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย, พระพุทธรูปพระฝาง ในอุโบสถวัดพระฝาง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2441, ซากอิฐโบราณสถานบริเวณค่ายพระตำหนักหาดสูงวัดคุ้งตะเภา, ยานมาศวัดใหญ่ท่าเสา ศิลปะอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นยานมาศแห่พระของเมืองสวางคบุรีโบราณ
เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์
เมืองสวางคบุรี
เมืองสวางคบุรี
ที่ตั้งในประเทศไทย
เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่ในประเทศไทย
เมืองสวางคบุรี
เมืองสวางคบุรี
เมืองสวางคบุรี (ประเทศไทย)
พิกัด: 17°39′12.39″N 100°8′24.44″E / 17.6534417°N 100.1401222°E / 17.6534417; 100.1401222
ประเทศไทย
จังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
ตำบลผาจุก, คุ้งตะเภา, แสนตอ
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการเมืองฝาง
(ถือศักดินา ๑,๐๐๐)
พระสวางคบุรานุรักษ์
ขึ้นเมืองพิไชย
(ราชทินนามผู้ว่าราชการคนสุดท้าย
ก่อนยุบสถานะเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕)[1]
เขตเวลาUTC+7 (MST)

สวางคบุรี หรือ ฝาง เป็นเมืองโบราณที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนสืบต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย เคยเป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดปลายพระราชอาณาเขตและเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยาโบราณ โดยอาณาเขตเมืองสวางคบุรีโบราณครอบคลุมพื้นที่ ตำบลผาจุก, ตำบลคุ้งตะเภา และตำบลแสนตอ ในปัจจุบัน

เมืองสวางคบุรี ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ในพงศาวดารเหนือ ระบุว่าเป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญของพระพุทธเจ้า[2][3] และปรากฏชื่อเมืองในศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลัก[4] รวมถึงพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์[5][6][7][8] และจากการเคยเป็นเมืองชายแดนพระราชอาณาเขต ทำให้เมืองนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้คนจากแคว้นล้านนาและล้านช้าง [9] ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองส่วนใหญ่สืบทอดขนบวัฒนธรรมแบบคนหัวเมืองเหนือโบราณ (ภาษาถิ่นสุโขทัย) ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเมืองนี้

หลังการสิ้นสุดลงของชุมนุมเจ้าพระฝาง ระหว่างปี พ.ศ. 2310 - 2313 ที่มีเมืองสวางคบุรีเป็นศูนย์กลาง และการขับไล่พม่ารวบรวมหัวเมืองล้านนาไว้ภายในพระราชอาณาเขตได้ในสมัยกรุงธนบุรี[10] ประกอบกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ทางการค้าลุ่มแม่น้ำน่านในยุคต่อมาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมืองสวางคบุรีร่วงโรยลงในระยะต่อมา

เมืองสวางคบุรีได้ลดฐานะความเป็นเมืองสำคัญทางศาสนาลงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเมืองสวางคบุรีไม่ได้เป็นเมืองเหนือสุดปลายพระราชอาณาเขตอีกต่อไป อีกทั้งชาวเมืองสวางคบุรีส่วนใหญ่ได้โยกย้ายไปอยู่ในบริเวณที่กลายมาเป็นเมืองบางโพ (ท่าอิฐ, ท่าเสา) และได้รับยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

ชื่อเมืองสวางคบุรี

[แก้]

ตั้งแต่อดีต มีการเรียกชื่อเมืองสวางคบุรีในหลากหลายชื่อ เช่น เมืองฝาง เมืองพระฝาง หรือเมืองสวางคบุรี เป็นต้น[11] ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหลักฐานทั้งศิลาจารึกและพระราชพงศาวดาร ดังนี้

เมืองฝาง

[แก้]

เมืองฝาง เป็นชื่อที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยสองหลัก ได้แก่ จารึกสุโขทัยหลักที่ 3 จารึกนครชุม และจารึกสุโขทัยหลักที่ 11 จารึกวัดเขากบ สำหรับที่มาของชื่อเมืองฝาง มีความเห็นต่างกันเป็นสองแนวคิด คือ

แนวคิดแรกเชื่อว่ามีที่มาจากสภาพที่ตั้งเมืองเป็นเมืองด่านสำหรับขวางข้าศึก จึงมีชื่อเมืองว่า “เมืองขวาง” ซึ่งมาจากคำว่า “ฉวาง” ในภาษาเขมรหมายความว่า “ขวาง”[12]

ส่วนแนวคิดที่สองสันนิษฐานว่ามาจากชื่อต้นฝาง มีที่มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้นำไปต้มออกสีแดงคล้ำสำหรับย้อมผ้า ในสมัยอยุธยาเป็นที่ต้องการของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เป็นสินค้าที่ทำรายได้มาสู่ท้องพระคลังอย่างสม่ำเสมอ เมืองสวางคบุรีในสมัยโบราณจึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงอีกอย่างหนึ่งด้วย[13] ซึ่งเดิมทีบริเวณแห่งนี้มีต้นฝางขึ้นอยู่มาก ในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชื่อของเมืองฝางว่า “...สำหรับเมืองฝางนั้น โดยที่ฝางเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้ในการย้อมสี ที่ชาวปอรตุเกศเรียกว่า ซาปัน ลางคนก็แปลว่า เมืองป่าฝาง...” [14] สำหรับแนวคิดที่สองนี้ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน[15]

เมืองสวางคบุรี

[แก้]

เมืองสวางคบุรี ชื่อนี้ปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลายสืบเนื่องมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้ในเอกสารประกาศเทวดาบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 4 พบการเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองฉวาง” [16] ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับรู้เกี่ยวกับการออกเสียงที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดการเขียนพยัญชนะต่างกันตามไปด้วย[17]

ถึงแม้ว่าในระยะหลังจะมีการเรียกเมืองฝางว่าเมืองสวางคบุรี แต่ชื่อเมืองฝางก็ยังมีการใช้เรียกปะปนกับชื่อสวางคบุรีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [18] และตำนานพื้นเมืองน่าน [19] หรือแม้แต่ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรียกว่า “เมืองฝาง” [20] แสดงให้เห็นว่าชื่อเมืองฝางจะเป็นที่รับรู้ของผู้คนโดยทั่วไปมากกว่าชื่อสวางคบุรี ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่มีการตั้งชื่อขึ้นใหม่โดยราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาในภายหลัง[21]

ขอบเขตที่ตั้งเมืองสวางคบุรีโบราณ

[แก้]

เมืองสวางคบุรี มีใจกลางอยู่ในเขตบ้านพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมฝั่งทางด้านใต้ของลำน้ำน่าน

ศูนย์กลางเมือง

[แก้]
ศิลาจารึกวัดพระฝางอักษรไทยโบราณสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าเป็นจารึกที่กล่าวถึงในจารึกนครชุม ว่าพญาลิไทโปรดให้สร้างขึ้น (เป็นศิลาจารึกโบราณที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันยังไม่ได้มีการอ่านและแปลความ)

ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าขนานไปกับลำน้ำ ปัจจุบันร่องรอยของแนวคันดินเหลือให้เห็นบางตอนทางด้านใต้เท่านั้น บริเวณส่วนหนึ่งของเมืองถูกน้ำเซาะทลายลง สิ่งที่เหลือเป็นหลักฐานสำคัญก็คือ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ มีวิหารหลวงและพระประธาน รวมทั้งโบสถ์ขนาดเล็ก[22] จากลักษณะผังเมืองและโบราณวัตถุสถานที่พบแสดงให้เห็นว่า เมืองสวางคบุรีน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ขอบเขตด้านตะวันออก

[แก้]

บริเวณเมืองสวางคบุรี ริมแม่น้ำน่าน เป็นจุดที่เรือสินค้าขนาดใหญ่จากทางใต้สามารถเดินทางมาจอดเทียบเรือเป็นจุดเหนือสุดในเส้นทางแม่น้ำน่านตอนล่าง เนื่องจากเหนือตัวเมืองสวางคบุรีโดยแม่น้ำน่านขึ้นไปเล็กน้อย เป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ด่านคุ้งยาง” คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็มีแก่งและโขดหินขนาดใหญ่ขวางกระแสน้ำน่านอยู่ ในหน้าแล้งสามารถเดินข้ามแม่น้ำไปได้

หลักประโคน เขตแดนสยาม-น่าน บ้านผาเต่า อ.ท่าปลา หมุดหมายเหนือสุดของเมืองสวางคบุรี และอาณาจักรอยุธยาโบราณ

ในขณะเดียวกันบริเวณนั้นก็เป็นที่ตั้งด่านของเมืองสวางคบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นด่านชายแดนพระราชอาณาจักรของกรุงศรีอยุธยาที่ติดต่อกับเมืองน่านด้วย บริเวณดังกล่าวจึงมีชุมชนชื่อว่า “บ้านด่าน” และปรากฏชื่อบ้านด่านนี้ในแผนที่โบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย [23]

เหนือจากด่านคุ้งยางไปตามแม่น้ำน่านราว 10 กิโลเมตรบริเวณตำบลแสนตอ ด้านใต้ของบ้านผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบริเวณหลักเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองน่าน ปรากฏในแผนที่โบราณว่า “หลักประโคน”[24] ซึ่งหมายถึง เสาใหญ่ปักหมายเขตแดนระหว่างประเทศหรือเมือง [25] ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “หลักมั่นหลักคง”

สำหรับบ้านผาเลือดซึ่งอยู่เหนือหลักประโคนขึ้นมานี้ เดิมขึ้นอยู่กับเมืองท่าปลาในเขตปกครองของเมืองน่าน และเป็นชุมชนสุดท้ายชายแดนของเมืองน่านทางทิศใต้ด้วย[26] แต่ด้วยความที่เมืองท่าปลาอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์มากกว่าศาลากลางจังหวัดน่าน พ.ศ. 2465 กระทรวงมหาดไทยจึงตัดเขตพื้นที่ของจังหวัดน่านมาอยู่ในความปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ กลายเป็นอำเภอท่าปลาในปัจจุบัน[27]

ขอบเขตด้านตะวันตก

[แก้]
สมุดไทยดำกฎหมายพระอัยการโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

บริเวณใต้เมืองสวางคบุรีโดยแม่น้ำน่าน หรือขอบเขตด้านตะวันตกของเมืองสวางคบุรี โดยทางบก เป็นพื้นที่บึงกะโล่ พื้นที่ชุ่มน้ำรับน้ำหลากโบราณ และเป็นพื้นที่ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "ทุ่งบ่อพระ" เนื่องจากเคยเป็นสมรภูมิคราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313

นอกจากนี้ ใต้เมืองสวางคบุรีทางฝั่งซ้ายแม่น้ำน่าน บริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวัดคุ้งตะเภา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ตั้งของค่ายหาดสูงในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คราวพักทัพหลังจากปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ปรากฏหลักฐานการอพยพเคลื่อนย้ายการสร้างวัดและตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากเมืองสวางคบุรี การค้นพบหลักฐานพระราชกำหนดบทพระอัยการสมัยอยุธยาจำนวนมาก และซากโบราณสถานทั้งที่เป็นไม้และอิฐโบราณ ในเขตพื้นที่โบราณสถานวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ซึ่งบริเวณดังกล่าวสันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นศูนย์กลางทางการปกครองชั่วคราวของเมืองสวางคบุรีในสมัยธนบุรี ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายผู้คนไปอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำบางโพ ท่าอิฐ ท่าเสา เนื่องจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้ากับหัวเมืองล้านนาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในระยะต่อมา[28]


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

[แก้]

เมืองสวางคบุรีนั้นมีพัฒนาการของการเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากนั้นก็กลายเป็นเมืองที่มีพระมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง จนในที่สุดกลายเป็นเมืองที่มีบทบาททางการเมืองหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

เมืองสวางคบุรี มีนักวิชาการประวัติศาสตร์หลายท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากชุมชนทางการค้า ในขณะเดียวกันภาพปูนปั้นที่โบสถ์ของวัดพระฝางสวางคบุรียังเป็นรูปปั้นที่คล้ายพ่อค้าแขกเปอร์เซียยืนถือกริช ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพทางการค้าของสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ขุนนางราชสำนักส่วนใหญ่เป็นเปอร์เซียที่คุมการค้าในกรมท่าขวา[29] ทำให้เกิดการพบปะของผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติที่มาทำการค้า และนอกเหนือจากความรุ่งเรืองทางศาสนาที่ทำให้เมืองสวางคบุรีต้องขยายตัวแล้ว เมืองสวางคบุรียังได้ขยายตัวจากการค้าของป่าที่รุ่งเรืองในสมัยอยุธยาตอนปลายและอาจจะเป็นตลาดใหญ่ในหัวเมืองเหนือ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากหัวเมืองลาว ทั้งลาวในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง[30] แต่หลังจากการปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คงทำให้ตลาดการค้าของป่าที่เมืองสวางคบุรีซบเซา และย้ายตลาดการค้ามาอยู่ที่บริเวณเมืองบางโพ-ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้เมืองสวางคบุรีลงมา[31]

ยุคก่อนอาณาจักรสุโขทัย

[แก้]
ซ้าย: กลองมโหระทึกสำริดในวัฒนธรรมดองซอน ขุดพบที่ม่อนวัดศัลยพงษ์ ตำบลท่าเสา ในปี พ.ศ. 2470[32]
กลาง: ซากกระดูกที่กลายเป็นหินและโบราณวัตถุของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่บ้านบุ่งวังงิ้ว ใกล้กับบึงกะโล่ (สองหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ใกล้กับเมืองสวางคบุรี)
ขวา: ถ้วยกระเบื้องแบบจีน พบบนเนินทรายกลางแม่น้ำน่านบริเวณบ้านคุ้งตะเภา (หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเส้นทางคมนาคมและชุมนุมการค้าสำคัญของสวางคบุรีช่วงต่อมา ก่อนจะหมดความสำคัญลงในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์)

ด้วยเมืองสวางคบุรีที่ตั้งอยู่ที่เหนือสุดในที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง มีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และติดกับแหล่งน้ำซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญด้วย จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของมนุษย์[33]

จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพระฝาง พบว่า ในชั้นดินล่างสุด เป็นชั้นดินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ระหว่าง 3,500-2,000 ปี มาแล้ว มีการพบเครื่องมือหินขัดที่พบมีขนาดใหญ่ 8 x 25 เซนติเมตรและเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากตามริมฝั่งแม่น้ำน่านที่ระดับ 4 เมตรจากผิวดิน [34] ต่อมาชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็ได้มีพัฒนาการทางสังคมเกิดขึ้น โดยคงมีการรวมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่บริเวณริมฝั่งทางด้านซ้ายของแม่น้ำน่าน และกลายเป็นเมืองขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16[35]

พัฒนาการของเมืองสวางคบุรีน่าจะเริ่มต้นจากการขยายตัวทางการค้าของจีนในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งจีนได้เปลี่ยนนโยบายทางการค้าจากเดิมที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพ่อค้าแคว้นศรีวิชัย มาเป็นการค้าที่จีนส่งคนเข้ามาทำการค้าโดยตรงกับบ้านเมืองต่างๆ ในบริเวณสุวรรณภูมิ[36]

ในพุทธศตวรรษที่ 18 การค้าก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำสายใหญ่ๆ และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรสำคัญซึ่งเป็นสินค้าที่จีนต้องการ หรือตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่เป็นชุมทางการคมนาคม ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้เมืองสวางคบุรีได้ก่อตัวขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน อันเป็นพื้นที่ที่มีไม้ฝางซึ่งเป็นสินค้าที่จีนต้องการ และอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างบ้านเมืองทางตอนในนี้ด้วย นอกจากเมืองสวางคบุรีแล้ว ยังมีเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน อย่างเช่น เมืองทุ่งยั้งที่เป็นชุมทางการค้าทางบกและเมืองนครไทย ซึ่งมีสินค้าจำพวกของป่ามากมาย [37]

เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 19 บ้านเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมหลักได้พัฒนาการเป็นรัฐขึ้น เช่น รัฐสุโขทัย รัฐอโยธยา นครรัฐน่านและรัฐล้านช้าง (หลวงพระบาง) เมืองสวางคบุรีได้กลายเป็นเมืองชายขอบของรัฐสุโขทัยที่ติดต่อกับนครรัฐน่านและรัฐล้านช้าง ทำให้เมืองสวางคบุรีมีสภาพหรือฐานะเป็นเมืองด่านที่ควบคุมเส้นทางคมนาคมที่จะต่อไปยังเมืองน่านและบรรดาเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขง ในแถบเมืองหลวงพระบางด้วย อาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่นี้ อยู่ในบริเวณตอนเหนือสุดของลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง หรืออีกนัยหนึ่งอยู่ตอนเหนือสุดเขตแคว้นสุโขทัย [38]

เมืองสวางคบุรีจึงตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนเส้นทางคมนาคมระหว่างรัฐโบราณถึง 3 รัฐ นั่นก็คือ 1. รัฐสุโขทัยซึ่งต่อมาก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุธยา 2. รัฐล้านช้างซึ่งระยะแรกมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงพระบางต่อมาได้ย้ายลงมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และ 3. นครรัฐน่าน[39]

ยุคอาณาจักรสุโขทัย

[แก้]
พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งอาณาจักรสุโขทัย เคยเสด็จมาเมืองสวางคบุรี และสถาปนาศิลาจารึกไว้แก่พระมหาธาตุเมืองฝาง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นจารึกที่กล่าวถึงในจารึกนครชุม ว่าพญาลิไทโปรดให้สร้างขึ้น

เมืองสวางคบุรีได้รับการพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรสุโขทัยไปด้วยกัน ในศิลาจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม พบที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จารึกเมื่อ ปีมหาศักราช 1279 (พ.ศ. 1900) ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) มีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงศิลาจารึกและรอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่พระธรรมราชาทรงสร้างในหัวเมืองต่างๆในอาณาเขตของพระองค์ พบเนื้อความที่กล่าวถึงเมืองฝางด้วย [40]

ถ้าหากพิจารณาข้อมูลแล้วจะทำให้พบว่า เมืองสวางคบุรีได้พัฒนาความเป็นเมืองมาจากข้าพระธาตุ ที่ต่อมามีมากจนกลายเป็นชุมชนที่ดูแลพระมหาธาตุโดยเฉพาะ ในระยะหลังก็คงมีประชาชนส่วนอื่นมาอาศัยอยู่ร่วมด้วย เมืองสวางคบุรีในยุคนี้คงเป็นชุมชนที่สงบเรียบง่าย และยึดมั่นในความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ความสำคัญของการถือกำเนิดขึ้นมาของเมืองสวางคบุรีในระยะแรกนั้น คงไม่ได้มีความสำคัญอยู่ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพียงด้านเดียว แต่น่าจะอยู่ที่พระมหาธาตุอันเป็นเรื่องทางศาสนาและพิธีกรรมด้วย เพราะการปลอดการครอบงำทางการเมือง จะเป็นเหตุให้คนจากบ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งเจ้านายและขุนนางได้พามากราบไหว้กันได้สะดวก นับได้ว่าเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ผู้คนหรือผู้นำที่ต่างบ้านเมืองกัน มามีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่มีวัฒนธรรมร่วมสมัยเดียวกัน [41]

ยุคอาณาจักรอยุธยา

[แก้]
ภาพบุคคลปูนปั้นที่ผนังโบสถ์วัดพระฝางด้านนอก คล้ายพ่อค้าแขกเปอร์เซียยืนถือกริช แสดงให้เห็นว่า มีคนหลายกลุ่มเดินทางมา โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[42]

เมืองสวางคบุรีได้ขยายตัวอย่างมากจากการค้าของป่าที่รุ่งเรืองในสมัยอยุธยาตอนปลาย และอาจจะเป็นตลาดใหญ่ในหัวเมืองเหนือ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากหัวเมืองลาว ทั้งลาวในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง [43]

และเนื่องจากไม้ฝาง ที่มีอยู่ทั่วไปโดยรอบเมืองสวางคบุรี เป็นหนึ่งในสินค้าต้องห้ามในสมัยอยุธยา โดยมากตัดมาจากป่าทางภาคเหนือและทางตะวันตก ไม้ชนิดนี้เหมาะกับงานยอมผ้า ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง บันทึกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ราชสำนักอยุธยาส่งไม้ฝางลงเรือสำเภาไปขายที่จีนและญี่ปุ่นปีละหลายลำ [44] โดยเฉพาะจีนนั้นนอกจากอยุธยาจะส่งออกไปจำหน่ายแล้ว ยังส่งเป็นบรรณาการแด่ฮ่องเต้จีนตั้งแต่เริ่มแรกอีกด้วย[45] เมืองสวางคบุรีคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางหัวเมืองเหนือ ที่ส่งไม้ฝางไปยังกรุงศรีอยุธยา[46]

ยุคธนบุรี (ภาวะจลาจลหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2)

[แก้]

หลังจากเหตุการณ์ที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 บรรดาหัวเมืองใหญ่ที่มีกำลังมากและไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ และขยายอำนาจรวบรวมเมืองใกล้เคียงที่อ่อนแอกว่าไว้ในอำนาจ เพื่อที่จะสร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่ เมืองสวางคบุรีซึ่งเดิมตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ ก็ได้ตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การนำของพระพากุลเถร สังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่คุ้นชื่อกันดีในนาม “เจ้าพระฝาง” แต่หลังจากที่มีความรุ่งเรืองอยู่ไม่นานก็ถูกกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามลง ในปี พ.ศ. 2313 จนทำให้เมืองถูกทำลายเป็นอย่างมาก[47]

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ ที่ตั้งพระตำหนักค่ายหาดสูง ตามพระราชพงศาวดาร (วัดคุ้งตะเภา)

สาเหตุที่กองทัพเจ้าพระฝางพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างง่ายดายนั้น นอกจากจะมีกำลังพลที่น้อยกว่าและขาดอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า กองทัพเจ้าพระฝางซึ่งแม้จะตีพิษณุโลกได้แล้วก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจจากเมืองฝางหรือสวางคบุรีมาตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก เพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝาง หัวหน้าชุมนุมผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเมืองฝางซึ่งผู้คนนับถือมาก จึงทำให้ชุมนุมนี้มีคนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ขาดระเบียบและการบริหารที่ดี [48] เมื่อกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรียกมาตีจึงแตกโดยง่าย[49][50]

รูปหล่อบุคคลในพิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปหล่อของเจ้าพระฝางเรือน อดีตผู้นำชุมนุมอิสระหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

หลังชุมนุมเจ้าพระฝางถูกปราบลงสำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพักทัพอยู่ที่ค่ายพระตำหนักหาดสูง เมืองสวางคบุรี 3 เดือน ตลอดฤดูน้ำ เพื่อบัญชาการจัดระเบียบคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ทั้งหมดในปีเดียวกันนั้น และให้เกลี่ยกล่อมรวบรวมราษฎรที่หลบหนีภัยสงครามตามป่าเขา และจัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ พร้อมทั้งสร้างวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในจุดที่ตั้งของที่พักทัพไพร่พลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวกระทำศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี ปัจจุบันปรากฏซากเสาอาคารไม้ เศษอิฐโบราณ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานสมุดไทยดำพระราชกำหนดบทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ จำนวนมาก แสดงถึงการเป็นจุดศูนย์รวมสำคัญของชุมนุมผู้คนในสมัยอดีต ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากการที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางชั่วคราวของเมืองสวางคบุรีในอดีตหลังสงครามปราบชุมนุมเจ้าพระฝางยุติลง[51][52]

หลังจากการทำสงครามดังกล่าวเสร็จสิ้น เจ้าพระฝางก็หายสาบสูญไป อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางก็ล่มสลายลง ศูนย์กลางเมืองเหลือไว้แต่เพียงวัดพระมหาธาตุเมืองฝาง อันเคยเป็นศูนย์รวมใจของชาวเมืองสวางคบุรี ที่มีสภาพทรุดโทรมลงในระยะต่อมาจากการเคลื่อนย้ายของผู้คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่งผลให้ตลาดการค้าของป่าที่เมืองสวางคบุรีซบเซา เพราะบอบช้ำจากภัยสงคราม และผู้คนจำนวนหนึ่งก็ค่อย ๆ อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น บริเวณคุ้งตะเภา ท่าเสา ท่าอิฐ บางโพ ตามลำดับ จึงอาจเรียกได้ว่าภาวะจลาจลหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นยุคที่เมืองสวางคบุรีมีความผกผันจากจุดรุ่งเรืองสูงสุด ลงสู่จุดที่บ้านเมืองมีสภาพบอบช้ำจากการสงครามในเวลาไม่นานนัก[53]

ยุคกรุงรัตนโกสินทร์

[แก้]

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองบางโพ-ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้เมืองสวางคบุรีลงมา ได้กลายเป็นตลาดชุมทางการค้าที่มีบทบาทไม่ต่างไปจากเมืองฝาง เนื่องจากเป็นชุมทางการค้าขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่เจริญขึ้นมาจากการค้าขายทั้งทางน้ำและทางบกกับหัวเมืองล้านนาและล้านช้างในบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้น ยังมีความเหมาะสมในทางภูมิศาสตร์ไม่ต่างไปจากเมืองสวางคบุรี และยังสามารถเป็นทั้งชุมทางการค้าทางน้ำและทางบกที่สามารถเชื่อมต่อยังเมืองแพร่และเมืองสวรรคโลกได้ จนทำให้ได้รับพระราชทานชื่อ "อุตรดิตถ์" ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนภายหลังมีการสร้างทางรถไฟ ได้มีการย้ายเมืองพิชัยมาตั้งอยู่ที่นั่น และกลายเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน[54]

สภาพภูมิศาสตร์

[แก้]

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึงสามด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง สภาพที่ตั้งเมืองสวางคบุรีจึงถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ราบลุ่มเท่านั้น บริเวณที่ตั้งเมืองสวางคบุรีนี้ยังเป็นชายขอบอำนาจการปกครองอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและมีสถานะเป็นเมืองชายขอบเช่นเดิม การที่เมืองฝางเป็นเมืองชายขอบอำนาจรัฐ และอยู่บริเวณติดกับเขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับรัฐล้านช้างและนครรัฐน่าน ทำให้ในบางครั้งอำนาจจากส่วนกลางก็ไม่สามารถควบคุมเมืองสวางคบุรีโดยตรงได้ บางครั้งอาณาจักรล้านนาก็ยกทัพลงมายึดเอาเมืองสวางคบุรี

ภูเขาขุนฝาง ทางด้านทิศเหนือของเมืองสวางคบุรี ถ่ายบริเวณทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (ทุ่งบ่อพระ)

นอกจากนี้ การที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยากับรัฐล้านช้างและนครรัฐน่าน ทำให้เมืองฝางได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากรัฐต่างๆ เหล่านี้ อย่างเช่น การวางผังวิหารหลวงกับพระมหาธาตุแบบที่นิยมกันในสมัยสุโขทัย รูปแบบโบสถ์วัดพระฝางที่มีสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย พระพุทธรูปพระฝางที่ประดิษฐานในโบสถ์ก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปไม้สลักซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างสกุลช่างท้องถิ่นกับสกุลช่างเมืองน่าน หลวงพ่อเชียงแสนซึ่งพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ พุทธลักษณะก็เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนาและล้านช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเดินทางหรือติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนจากถิ่นต่างๆ กับชาวเมืองฝางเกิดขึ้นภายในเมืองนี้[55]

โบราณสถานและสถานที่สำคัญในเขตเมืองสวางคบุรี

[แก้]
ภาพเก่าวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ สถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรี
  • วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ วัดพระฝางหรือวัดพระมหาธาตุเมืองฝางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งชาวบ้านบางคนเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีของเจ้าพระฝาง เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเมืองฝาง ปูชนียสถานสำคัญและเป็นศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรี
  • โบราณสถานวัดโพธิ์ผียก ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองสวางคบุรี ใกล้กับหอประปาบ้านพระฝางหมู่ที่ 4 เดิมเคยเป็นที่ตั้งของที่ทำการป่าไม้แขวง บริเวณนี้มีเคยมีการพบฐานวิหารและฐานเจดีย์ ในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย ซึ่งถูกทำลาย ปัจจุบันพบเพียงเศษอิฐและกระเบื้องแตกกระจายอยู่ทั่วบริเวณไร่อ้อย วัดนี้อยู่ทางตะวันออกของบ้านพระฝางในปัจจุบัน และคงถูกได้รับความเสียหายในช่วงศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313 ต่อมาจึงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากมีผู้คนและแรงงานในการปฏิสังขรณ์ไม่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีชาวเมืองสวางคบุรีมีการย้ายถิ่นฐานหลังสิ้นศึกครั้งนี้ เหตุที่ชาวบ้านเรียกชื่อวัดโพธิ์ผียกนั้น มาจากในอดีตบริเวณนี้มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ต่อมาในถูกพายุพัดโค่นลงในตอนเย็นของวัน ๆ หนึ่ง พอถึงรุ่งเช้าชาวบ้านมาดูอีกครั้งพบว่าต้นโพธิ์กลับยืนต้นอยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านจึงเชื่อว่ามีผีมายกต้นโพธิ์ขึ้น จึงเรียกชื่อว่าโพธิ์ผียกตั้งแต่นั้นมา[56]
  • ซากโบราณสถานใกล้กำแพงวัดพระฝางทางทิศตะวันออก ซากโบราณสถานแห่งนี้ปัจจุบันอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน อยู่ใกล้กับแนวกำแพงและประตูวัดพระฝางทางทิศตะวันออก แต่เดิมบริเวณนี้เคยมีการพบซากโบราณสถานกลุ่มหนึ่ง แต่ถูกชาวบ้านขุดหาของมีค่า ในระยะหลังมีการนำดินมาถมทับซากโบราณสถานจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว[57]
ซากโบราณสถานวัดคุ้งตะเภา ที่ตั้งค่ายพระตำหนักหาดสูงตามพระราชพงศาวดาร
  • โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี เป็นจุดที่ตั้งของที่พักทัพไพร่พลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวกระทำศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี และมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เกลี่ยกล่อมรวบรวมราษฎรที่หลบหนีภัยสงครามตามป่าเขา และจัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ พร้อมทั้งสถาปนาวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันนั้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี วัดคุ้งตะเภาเคยปรากฏหลักฐานการเป็นที่สถิตย์จำพรรษาของพระครูสวางคมุนี ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[58] มาแต่โบราณ ปัจจุบันปรากฏซากอาคารไม้ เศษอิฐโบราณ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานสมุดไทยดำพระราชกำหนดบทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ จำนวนมาก แสดงถึงการเป็นจุดศูนย์รวมสำคัญของชุมนุมผู้คนในสมัยอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากการที่บริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางชั่วคราวของเมืองสวางคบุรีในอดีต ก่อนการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังบริเวณท่าเสา ท่าอิฐ และเจริญขึ้นมาจากการค้าขายทั้งทางน้ำและทางบกกับหัวเมืองล้านนาและล้านช้าง จนทำให้ได้รับพระราชทานชื่อ "อุตรดิตถ์" ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้รับยกฐานะเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ในระยะต่อมา[59]
  • โบราณสถานวัดใหญ่ท่าเสา อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี ท่าเสาเป็นชุมชนที่เริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏหลักฐานว่าโบสถ์และหอไตรภายในวัดใหญ่ท่าเสาเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยเสด็จมาทอดพระเนตรโบราณวัดใหญ่ท่าเสาเมื่อปี พ.ศ. 2444 ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดเก่ามาก แต่เดิมชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ชื่อของบ้านคือ ท่าเสา จากเรื่องราวชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักที่แต่งขึ้นโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดีว่า นายทองดี (พระยาพิชัยดาบหัก) ได้เคยมาศึกษาวิชามวยกับครูเมฆที่บ้านท่าเสาด้วย[60]
โบราณสถานอุโบสถวัดดอยแก้ว ต.แสนตอ มีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับอุโบสถวัดพระฝาง
  • หลักประโคน หรือหลักมั่นหลักคง ตั้งอยู่ที่ บ้านผาเต่า ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหลักหินขนาดใหญ่ สูงราว 1.20 เมตร กว้างราว 40 เซนติเมตร ขาวบ้านเรียกว่า หลักมั่น อีกหลักมีขนาดเล็กกว่า สูงราว 50 เซนติเมตร เรียกว่า หลักคง เป็นแผ่นหินธรรมชาติ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเขตแดนระหว่างเมืองน่านกับเมืองสวางคบุรี ในจุดที่ห้วยสามแสน และห้วยไหวตามอย มาสบกันที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำน่าน เสานี้ปรากฏในแผนที่โบราณว่า “หลักประโคน”[61]
  • วัดวังยาง อยู่ที่บ้านวังยาง ตำบลผาจุก ที่ได้ชื่อว่าวังยางนั้น มาจากแม่น้ำน่านบริเวณดังกล่าวเป็นแอ่งน้ำลึก และมีต้นยางขึ้นอยู่ริมฝั่งจำนวนมาก จากตำนานเจ้าพระฝางทำให้ทราบว่าวัดวังยาง เป็นที่อยู่ของพระครูคิริมานนท์ สหธรรมิก (เพื่อน) ของเจ้าพระฝาง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการปกครองและควบคุมผู้คนสู้รบกับกองทัพจากกรุงธนบุรี[62]
  • อุโบสถโบราณวัดดอยแก้ว อยู่ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ใช้อิฐและศิลาแลงจากวัดทุ่งอ้อมโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 ในโบสถ์เคยประดิษฐานพระพุทธรูปไม้หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ที่ฐานมีจารึกว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 พร้อมกับโบสถ์หลังเดิม แต่ปัจจุบันนี้โบสถ์ชำรุดทรุดโทรมมาก[63]
  • ม่อนพระพุทธบาทสี่รอยบ้านนาตารอด ตั้งอยู่ที่ยอดม่อนภูเขาสูงกลางป่าชุมชนบ้านนาตารอด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยรอบอาคารพระพุทธบาท มีที่พักสงฆ์และศาลาขนาดเล็กที่สร้างมาตั้งแต่สมัยก่อน พ.ศ. 2500 โดยพระครูนิกรธรรมรักษ์ (ไซร้) เจ้าอาวาสวัดช่องลม เกจิอาจารย์ใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น[64]
  • ด่านคุ้งยาง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ในเขตตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็จะมีแก่งและโขดหินที่สามารถเดินข้ามไปได้ในหน้าแล้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นด่านทางด้านเหนือของเมืองสวางคบุรีด้วย ด่านคุ้งยางเป็นบริเวณที่เจ้าพระฝางเดินทางมาหลังตีฝ่าวงล้อมของกองทัพกรุงธนบุรีออกมาจากเมืองสวางคบุรีได้ โดยมีทหารหามเสลี่ยงหรือยานมาศ พามาจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็ได้ข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางพร้อมกับลูกช้างพังเผือก[65]
โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา จุดที่ตั้งของที่พักทัพไพร่พลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวกระทำศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี
  • ด่านกุมภีร์ทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง เหนือด่านคุ้งยางขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดกุมภีร์ทอง[66]
  • น้ำพุเจ้าพระฝาง คือ แหล่งน้ำซับที่ซึมไหลออกมาจากภูเขาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี ปัจจุบันอยู่ในเขตสำนักสงฆ์วัดพระบาทน้ำพุ (ชาวบ้านพระฝางเรียกว่า วัดเหนือ) ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำพุที่นี่เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ผุดมาจากใต้ดิน เจ้าพระฝางจึงได้ใช้น้ำที่นี่อาบสรงแทนน้ำในแม่น้ำน่าน เพื่อเพิ่มความเข้มขลัง อยู่ยงคงกระพันและสร้างความยิ่งใหญ่ในการเป็นผู้นำชุมนุม ในอดีตชาวบ้านพระฝางยังนำน้ำที่บ่อน้ำพุมาสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์ น้ำพุเจ้าพระฝางยังเป็นต้นกำเนิดของคลองน้ำพุ คูเมืองธรรมชาติทางทิศตะวันออกของเมืองสวางคบุรีอีกด้วย[67]
  • ขุนฝาง คือ เทือกเขาที่เป็นต้นกำเนิดของห้วยปากฝางหรือห้วยฝาง อยู่ในเขตตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เหตุที่ภูเขาลูกนี้มีชื่อว่า ขุนฝาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าตอนที่เจ้าพระฝางหลบหนีกองทัพของกรุงธนบุรีนั้น ได้เดินทางไปข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางแล้วขึ้นเหนือไปภูเขาลูกหนึ่ง และหายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม บ้างก็ว่าท่านมรณภาพที่นั่น บ้างก็ว่าท่านเดินทางไปยังเมืองแพร่หรือไปยังเมืองหลวงพระบาง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อภูเขาลูกนั้นว่า “ขุนฝาง”[68]
  • คลองพระฝาง เป็นคลองสายสั้นๆ ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาเหนือบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางขึ้นไปเล็กน้อย แล้วไหลมาทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี ไหลลงแม่น้ำน่านทางตะวันตกของเมืองที่บริเวณบ้านบุ่ง มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร[69]
  • ห้วยฝาง หรือ ห้วยปากฝาง เป็นลำห้วยที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณเทือกเขาขุนฝาง วังเย็นและพญาพ่อ ในเขตตำบลขุนฝาง แล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่ปากฝาง บริเวณบ้านปากฝาง ตำบลงิ้วงาม มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร[70]
  • บึงกะโล่ หนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี คำว่า “บึงกะโล่” ไม่มีใครทราบว่าทำไมจึงเรียกบึงกะโล่ แต่สันนิษฐานว่าอาจมาจากคำว่า “โล้” ซึ่งมีความหมายว่า “ล่ม” ตามความหมายในภาษาถิ่นโบราณ เนื่องจากศัพท์นี้ใช้กันในแถบชุมชนโบราณรอบบึงกะโล่ คือบ้านวังหมู บ้านคุ้งตะเภา และบ้านพระฝาง ซึ่งมีสำเนียงถิ่นสุโขทัย[71]
  • หัวไผ่หลวง-ทุ่งบ่อพระ หัวไผ่หลวงเป็นพื้นที่ป่าไม้หนาทึบในที่ดอน ที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงเมื่อกว่า 40 ปีก่อนนับถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่เจ้าทางคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ มีเรื่องเล่าว่านายพรานหรือชาวบ้านที่ไปจับสัตว์ในไผ่หลวงแล้วหาทางออกไม่ได้ หรือไปทำลบหลู่ในบริเวณไผ่หลวงจนเกิดมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา บริเวณหัวไผ่หลวงนี้ ชาวบ้านเล่าสืบมาว่าเคยเป็นที่ตั้งกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนยกมาปราบเจ้าพระฝาง และเกิดการรบกันในทุ่งบ่อพระ[72]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ______. (๒๕๒๑). การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕: สำเนาสัญญาบัตร เล่ม ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีมโรง สัมฤทธิศก ๑๒๓๐ ถึงปีจอ อัฐศก ๑๒๔๘ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๒๙). กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร : กรุงเทพมหานคร. หน้า ๖๗
  2. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
  3. “พระราชพงศาวดารเหนือ”. (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  4. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. (2548). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
  5. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ). (2505). พระนคร : โอเดียสโตร์.
  6. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค). (2547). กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.
  7. “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  8. “พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน”. (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กอง วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  9. ลาลูแบร์. (2552). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล). นนทบุรี : ศรีปัญญา.
  10. “พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  11. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  12. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เที่ยวตามทางรถไฟ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงรจิตจักรภัณฑ์ (รจิต ดุละลัมพะ) และฌาปนกิจศพนางรจิตจักรภัณฑ์ (เจือ ดุละลัมพะ) วันที่ 4 กันยายน 2510. หน้า 60
  13. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เจ้าพระฝาง วีรบุรุษของใคร?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 เมษายน 2543. หน้า 52-53
  14. ลาลูแบร์, มองซิเออร์ (เขียน) สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548. หน้า 31
  15. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  16. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์. พระราชพงศาวการกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต และผลงานคัดสรร พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ฯ, 2552. หน้า 116
  17. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  18. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์บุคส์, 2547. หน้า 85
  19. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2539. หน้า 60-62
  20. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ. รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120). พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3, 2551. หน้า 71
  21. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  22. ศรีศักร วัลลิโภดม. (2532). เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  23. Santanee Phasuk and Philip Stott. (2004). ROYAL SIAMESE MAPS : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books.
  24. Santanee Phasuk and Philip Stott. (2004). ROYAL SIAMESE MAPS : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books.
  25. เอนก นาวิกมูล. (2552). หลัก-ฐาน-บ้าน-เมือง. กรุงเทพฯ : แสงดาว.
  26. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2553 ข). “หลักมั่นหลักคง:เรื่องราวหลักประโคนเขตแดนสยาม-น่าน”. ใน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. ปีที่ 15 ฉบับที่ 84 พฤษภาคม-มิถุนายน.
  27. ราชกิจจานุเบกษา. (2465). “ประกาศโอนอำเภอท่าปลาจากจังหวัดน่านมาขึ้นจังหวัดอุตรดิฐ”. เล่ม 39. 4 มิถุนายน พ.ศ. 2465.
  28. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  29. ขวัญเมือง จันทโรจนี. อาลัยรักขวัญเอยเมืองเอย. พิษณุโลก : รัตนสุวรรณ 3, 2541. หน้า 84
  30. ขวัญเมือง จันทโรจนี. อาลัยรักขวัญเอยเมืองเอย. พิษณุโลก : รัตนสุวรรณ 3, 2541. หน้า 84
  31. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  32. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
  33. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  34. จารึก วิไลแก้ว. “โบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง”. ใน ปราณี วงศ์เทศ (บรรณาธิการ). สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2542. หน้า 413
  35. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  36. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  37. สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2526. หน้า 78-85
  38. ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.หน้า 61
  39. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  40. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.
  41. ศรีศักร วัลลิโภดม. ความหมายพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ. กรุงเทพฯ :เมืองโบราณ, 2546. หน้า 160
  42. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  43. ขวัญเมือง จันทโรจนี. อาลัยรักขวัญเอยเมืองเอย. พิษณุโลก : รัตนสุวรรณ 3, 2541.
  44. ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ และวิไลรัตน์ ยังรอต. อยุธยา. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2550. หน้า 17
  45. วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า : การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ 22-23. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550. หน้า 31
  46. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  47. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  48. สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2550. หน้า 58
  49. "พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)," (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 339.
  50. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
  51. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  52. “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ”. (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  53. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  54. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  55. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  56. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  57. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  58. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
  59. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  60. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  61. Santanee Phasuk and Philip Stott. (2004). ROYAL SIAMESE MAPS : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books.
  62. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  63. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  64. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  65. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  66. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  67. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  68. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  69. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  70. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  71. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  72. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]