เดวิด ลิฟวิงสโตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดวิด ลิฟวิงสโตน
เดวิด ลิฟวิงสโตน ในปีค.ศ.1864
เกิด19 มีนาคม ค.ศ. 1813(1813-03-19)
บลันไทร์, เซาต์ลานาร์กเชอร์, สก็อตแลนด์
เสียชีวิต1 พฤษภาคม ค.ศ. 1873(1873-05-01) (60 ปี)[1]
หมู่บ้านของหัวหน้าชิทัมโบ, ราชอาณาจักรคาเซมเบ
(ปัจจุบันคือจังหวัดทางตอนเหนือ, ประเทศแซมเบีย)
สาเหตุเสียชีวิตมาลาเรีย และ เลือดออกภายในจากอาการท้องเสีย
สุสานเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
51°29′58″N 0°07′39″W / 51.499444°N 0.1275°W / 51.499444; -0.1275
มีชื่อเสียงจากเผยแผ่ศาสนาคริสต์, สำรวจแอฟริกา และพบกับเฮนรี สแตนลี
คู่สมรสMary Moffat (สมรส 1845; เสียชีวิต 1862)
บุตร6
เดวิด ลิฟวิงสโตน

นายแพทย์ เดวิด ลิฟวิงสโตน (อังกฤษ: David Livingstone; 19 มีนาคม พ.ศ. 2356 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2416) เกิดที่เมืองแบลนตรี ในสกอตแลนด์ เป็นหมอสอนศาสนา และนักสำรวจ คนสำคัญในยุควิกตอเรีย

เยาว์วัย[แก้]

เดวิด ลิฟวิงสโตน เกิดเมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2356 บุตรของนายเนียล ลิฟวิงสโตน เมื่อเขาอายุได้ 10 ปี ได้ถูกส่งไปทำงานที่โรงงานฝ้าย ซึ่งเขามักหาเวลาว่างไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการเดินทาง แต่พ่อของเขาไม่อยากให้อ่าน แต่เขาก็ยังสามารถหาอ่านได้และได้พบว่าการอ่านหนังสือชนิดนี้สามารถเข้ากับเขาได้ดี เมื่ออายุ 23 ปี เขาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ศึกษาภาษากรีก การแพทย์ และศาสนา เขาเรียนจบในปี พ.ศ. 2383 แล้วเข้าทำงานกับสมาคมนักสอนศาสนาแห่งลอนดอน ต่อมาถูกส่งตัวไปยังทวีปแอฟริกาเพื่อไปสอนศาสนา แต่ที่จริงเขาต้องการไปจีนมากกว่า แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามฝิ่นเสียก่อน เขาเลยต้องเปลี่ยนเส้นทาง

เดินทางสู่ทวีปแอฟริกา[แก้]

เดวิด ลิฟวิงสโตนได้ไปถึงเคปทาวน์ในปี พ.ศ. 2384 ระหว่างที่เขาอยู่ในเรือ เขาใช้เวลาว่างศึกษาดาราศาสตร์และการเดินเรือ เมื่อเดินทางถึงทวีปแอฟริกา เขาขึ้นบกที่อ่าวออลกัวแล้วจากนั้นก็เดินทางด้วยเกวียนเทียมด้วยวัว ระยะทาง 700 ไมล์ (1,120 กม.) ไปยังคุรุมาน(Kuruman) ในเบชวนนาแลนด์ (Bechuanaland) ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของสมาคมหมอสอนศาสนา เมื่อไปถึงไม่นานนัก เขาก็ออกเดินทางต่อไป เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะแก่การทำงาน ในปี พ.ศ. 2384นั้นเอง เขาได้เดินทางอีกสองครั้ง และได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์และธรรมชาติ

ชีวิตคู่[แก้]

ในปี พ.ศ. 2387 เดวิด ลิฟวิงสโตนได้แต่งงานกับแมรี มอฟแฟต ลูกสาวของ ดร. โรเบิร์ต มอฟแฟต ผู้ซึ่งไปสร้างที่ทำงานสอนศาสนาที่คุรุมาน แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ที่มาบอตซา ซึ่งลิฟวิงสโตนได้สร้างบ้านห่างจากที่นั่น 200 ไมล์ ในขณะที่เขาอยู่ที่มาบอตซา เขาได้โดนสิงโตกัดไหล่ของเขาจนติดกระดูก จนทำให้แขนข้างซ้ายของเขาพิการไปตลอดชีวิต

การสำรวจ[แก้]

รูปปั้นเดวิด ลิฟวิงสโตนที่น้ำตกวิกตอเรีย

เมื่อแต่งงานแล้ว เขาได้ทิ้งภรรยาไว้เบื้องหลัง แล้วเขาก็ขึ้นม้าไปกับนายพรานล่าช้างสองคน ไปพบทะเลสาบงามิ (Ngami) ในปี พ.ศ. 2392 ความสำเร็จนี้ทำให้เขาได้รางวัล 25 กินี จากราชสมาคมภูมิศาสตร์ จึงทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้น จนย้ายครอบครัวออกจากโคโลเบ็งทันที เขาได้เดินทางข้ามทะเลทรายโดยมีพวกแอฟริกาให้ความช่วยเหลือ ในตอนนั้นแมรีกำลังท้องแก่ เขาได้ไปถึงทะเลสาบงามิอีกครั้งหนึ่ง แต่ทุกคนในคณะเป็นโรคมาลาเรียกันหมด จึงต้องกลับโคโลเบ็งและแมรีก็ได้คลอดบุตรที่นี่ แต่บุตรได้เสียชีวิตในขณะคลอด ส่วนแมรีก็เป็นอัมพาตที่หน้าอยู่พักหนึ่ง

อีก 1 ปีต่อมา ลิฟวิงสโตนออกเดินทางอีกโดยมุ่งหน้าไปทางเหนือ ผู้ที่เดินทางร่วมไปด้วยได้แก่วิลเลียม ออสเวลล์ ซึ่งช่วยเหลือเขาในด้านการเงิน หลังจากที่เขาเดินทางได้ 500 ไมล์ ซึ่งกินเวลา 3 เดือน เขาก็มาถึงแม่น้ำโชบี เขาก็ได้รับการต้อนรับจากเชบิตูอัน หัวหน้าเผ่ามาโคโลโล จากนั้นพวกเขาก็ไปยังฝั่งแม่น้ำแซมบิซีตอนเหนือ เมื่อไปถึงลิฟวิงสโตนต้องการจะอยู่ที่นี่แต่ออสเวลล์คัดค้านไว้ ตอนที่กลับมาโคโลเบ็งอีกครั้งหนึ่งนั้น แมรีก็ได้คลอดบุตรในเกวียนระหว่างเดินทางนั้นเอง

เพื่อความสะดวกในการเดินทาง เขาจึงพาครอบครัวไปเคปทาวน์เพื่อกลับอังกฤษ ในครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากออสเวลล์อย่างมากที่เคปทาวน์ ทั้งนี้เขาได้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์กับเซอร์ โทมัส แมคเคลีย ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์หลวงของอังกฤษ ทำให้ได้รับความรู้ทางดาราศาสตร์มากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2395 ลิฟวิงสโตนได้ออกเดินทางไปสำรวจต่อไปจนถึงลูอันดา (Luanda) แล้วพักอยู่ที่บ้านกงสุลอังกฤษ ท่านกงสุลนี้เสนอจะช่วยให้เขาเดินทางกลับอังกฤษ แต่เขาปฏิเสธ และเดินทางต่อไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2397 การเดินทางช่วงนี้กินเวลาเกือบ 2 ปี คิดระยะทางได้กว่า 3,000 ไมล์ และนับว่าได้ข้ามทวีปจากตะวันตกสู่ทางตะวันออก ในครั้งนี้ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงว่าเป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นน้ำตกวิกตอเรีย เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า โมซิโออาตุนยา ซึ่งแปลว่าควันที่มีเสียงดัง ตอนที่เขาพบน้ำตกวิกตอเรียราวปี พ.ศ. 2398 และเขาต้องเดินทางต่อไปในภูมิประเทศที่ทุรกันดาร เขาต้องมีชิวิตอยู่ด้วยรากไม้และน้ำผึ้ง จนกระทั่งถึงเตเต (Tete) ด้วยอาการที่ค่อนข้างสะบักสบอม ตอนนี้เขาก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากโปรตุเกส จนกระทั่งถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 เขาก็มาถึงควิลิมัน (Quilimane)

เมื่อลิฟวิงสโตนได้กลับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2399 เขาก็ได้หลายเป็นวีรบุรุษของอังกฤษ เพราะการสำรวจของเขาได้คลี่คลายความลับของแม่น้ำแซมบิซี และหนังสือของเขาชื่อ Missionary Travels and Researches in South Africa ก็กลายเป็นหนังสือขายดี ในหนังสือเล่มนี้เขาได้กล่าวถึงชาวแอฟริกันและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม ตอนที่เขาได้บรรยายถึงสัตว์และพืชในทวีปแอฟริกาได้รับการยกย่องจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์หลายปริญญา และมีการเรียกร้องให้ไปกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้งรวมทั้งสภาสูง(Senate House) ของอังกฤษด้วย

เมื่อลิฟวิงสโตนกลับมายังแอฟริกาในปี พ.ศ. 2401 เขาได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ หัวหน้านักสอนศาสนาและกงสุล รัฐบาลอังกฤษได้อุดหนุนเงิน 5000 ปอนด์ ในการสำรวจแม่น้ำแซมบิซี เพื่อดูว่ามีช่องทางเกี่ยวกับการค้ามากเพียงใด การเดินทางครั้งที่ 2 นี้ประสบความสำเร็จน้อยกว่าครั้งแรกมาก เรือกลไฟชื่อ มา-โรเบิร์ต ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษที่แยกออกได้เป็นส่วน ๆ เพื่อแบกหามเข้าป่าลึกแต่ก็พบว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่สิ่งที่นับว่าอันตรายมากที่สุดคือ การพบแก่งคาบอรา บาสซาบนแม่น้ำแซมบิซีนั่นเอง แก่งเหล่านี้ลิฟวิงสโตนไม่เคยเห็นเลยในการสำรวจเป็นครั้งแรก และแก่งนี้แสดงให้เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคในการใช้เรือไปสู่น้ำตกวิกตอเรีย

ก่อนที่ลิฟวิงสโตนจะกลับอังกฤษเป็นครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2405 โดยไม่เต็มใจมากนัก เขาได้เดินทางไปรอบทะเลสาบนยาสา(ทะเลสาบมาลาวี) เมื่อเสร็จแล้วเขาก็ได้ไปโมซัมบิกโดยเรือที่ชื่อว่า เลดี นยาสา และรีรออยู่พักหนึ่ง โดยเกรงว่าพวกพ่อค้าทาสจะนำเรือลำนี้ไปใช้ ซึ่งเหมาะแก่การวิ่งในแม่น้ำ แต่อย่างไรก็ดี เขาก็ได้ใช้เรือลำนี้ไปบอมเบย์ และจากบอมเบย์ไปอังกฤษ จนถึงอังกฤษเมื่อพ.ศ. 2407 และพอถึงอังกฤษเขาได้เขียนหนังสือชื่อ Narrative of an Expedition to the Zambezi and its tributaries

แม่น้ำไนล์[แก้]

ลิฟวิงสโตนได้เตรียมตัวกับการเดินทางที่ยาวไกลที่สุดโดยเดินทางออกจากอินเดียแล้วก็กลับมายังแซนซิบาร์มาขึ้นฝั่งที่ใกล้ ๆ ปากแม่น้ำโรวุมบา ไปที่ทะเลสาบมาลาวีเพื่อหาเรือข้ามทะเลสาบแต่หาไม่ได้จึงต้องใช้วิธีเดินอ้อมทะเลสาบไปทางใต้ ตรงเส้นทางที่เขาได้สำรวจมาเมื่อ 6 ปีก่อน แล้ววกขึ้นไปทางเหนือ แต่ในตอนนั้นได้ระลึกถึงแมรีภรรยาของเขาขึ้นมา ซึ่งถูกฝังอยู่ที่ชูปังกา ใกล้ ๆ แม่น้ำแซมบิซี ต่อมาเมื่อเข้าไปถึงทะเลสาบแทงแกนยิกา ลูกหาบที่เหลืออยู่หนีไปพร้อมกับลักเอากล่องยาควินินและเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่เขาได้ใช้รักษาชาวบ้านตามที่ต่างๆที่เขาผ่านไป เมื่อขาดควินิน ตัวเขาเองต้องทรมานด้วยโรคมาลาเรีย นอกจากนี้เขายังได้เห็นการต่อสู้ที่โหดร้ายระหว่างพ่อค้าชาวอาหรับกับชาวบ้านเพื่อจับคนเป็นทาส และเขาก็ยังสามารถบันทึกเกี่ยวกับพืชและภูมิศาสตร์แถวนั้นได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นศัตรูของชาวอาหรับ แต่เขาก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากชาวอาหรับบ้างในการจัดหาที่พักและอาหารเพื่อไปให้ถึงเมืองของหัวหน้าเผ่าคาเซมเบ ราวหนึ่งเดือนเขาก็เดินทางต่อไปและไปพบพ่อค้าทาสคนหนึ่งคือทิปปู ทิป ซึ่งมีชื่อจริงว่าฮาเม็ด บิน มูฮัมเม็ด ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2361 เขาได้พบทะเลสาบบังวิอูลูตรงที่ประเทศแซมเบียในปัจจุบัน และเขาคิดว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำไนล์ซึ่งอันที่จริงเขายังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง แล้วเขาก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองอูจิจิ

มรณะ[แก้]

ลิฟวิงสโตนได้สิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2416 ในขณะที่สวดมนต์อยู่ที่หมู่บ้านชิตแทมโบ หลังจากที่บุกป่าฝ่าดงอยู่ในแอฟริกาเป็นระยะทางกว่า 30,000 ไมล์ สิริอายุรวม 60 ปี

อ้างอิง[แก้]

  1. "David Livingstone (1813–1873)". BBC - History - Historic Figures. 2014. สืบค้นเมื่อ 2018-07-12.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]