เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยามหาโยธา
(เจ่ง คชเสนี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2282
เสียชีวิตพ.ศ. 2365 (อายุ 83 ปี)

เจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (เจ่ง คชเสนี) เป็นชาวมอญ เกิดในเมืองมอญราวปี พ.ศ. 2282[1] อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้นตระกูลคชเสนี (เจ่ง, (มอญ: စိင်) แปลว่า ช้าง) เป็นโอรสของเจ้าเมืองเมียวดีผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระยาทะละ (Byinnya Dala หรือ Binnya Dala) กษัตริย์ราชอาณาจักรมอญองค์สุดท้าย ซึ่งปกครองอาณาจักรมอญราวปี พ.ศ. 2290 - พ.ศ. 2300 ทรงพระนามเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระเจ้าปรมินทรราชานราธิบดี[2] (King Payamindi Raza Naradibati) [3] บางคนเรียก "พระเจ้าพญามอญธิราชานราธิบดี หรือ พระเจ้าพญามอญธิราช"

ประวัติ[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา หรือนามเดิมว่า "เจ่ง" เคยรับราชการอยู่กับพม่า บางคนเรียก "พญาเจ่ง" หรือ "พระยาเจ่ง" (มอญ: ဗညာစိင်) พม่าได้ให้พระยาเจ่งเป็นผู้รักษาเมืองเชียงราย และได้มีภรรยาเป็นเจ้าหญิงเชียงรายนามว่า เจ้าหญิงสมนา ต่อมามีบุตรสายสกุลเหนือใช้สกุล ณ ลำปาง พระยาเจ่งเคยคุมกองทัพมอญสมทบกับทัพพม่าเข้ามาตีเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. 2315 หลังจากนั้นได้ยกความดีชอบตั้งเป็นเจ้าเมืองเตริ่น (อังกฤษเรียกว่า เมืองอัตรัน) หัวเมืองตอนใต้ของพม่า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองเมาะตะมะกับแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์

หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้ามังระซึ่งเตรียมจะยกทัพมาที่กรุงธนบุรี พม่าได้เกณฑ์ให้ชาวมอญมาทำทางและยังเกณฑ์ชาวมอญเข้ากองทัพอีกพวกหนึ่ง บางคนก็หลบหนีแต่พม่าก็จับครอบครัวที่หลบหนีเป็นตัวจำนำหรือจับลูกหลานเกณฑ์มาทำทาง ทำให้ชาวมอญโกรธแค้นและพร้อมใจกันเป็นกบฏ โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้ารวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเมาะตะมะและเมืองมอญอื่นๆ แต่ไม่สำเร็จ จึงอพยพมายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2318 โดยมีหัวหน้าที่อพยพมา 4 คนคือ พระยาเจ่ง พระยาอู่ ตละเกลี้ยง ตละเกล็บ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองนนทบุรีตั้งแต่ปากเกร็ดไปจนถึงสามโคก พระยาเจ่งและทหารมอญของท่านได้มีบทบาทร่วมกับกองทัพไทยในการทำสงครามแทบทุกครั้ง นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่าพระยาเจ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาเกียรติคู่กับตละเกล็บที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราม

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระยาเจ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธา บังคับบัญชากองทัพมอญทั้งปวงโดยเสด็จในการสงครามติดต่อมาทุกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2330 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ จากความดีความชอบเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปตีเมืองทวาย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบทบาทต่อต่อราชการแผ่นดินในด้านทางการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ พม่าจึงคิดจะแย่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ไปจากไทย โดยส่งหนังสือมายังเสนาบดีไทยขู่ให้ส่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คืนให้กับพม่า เพราะถือว่าเป็นคนของพม่า ซึ่งไทยไม่ยอม พม่ายกตีเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายไทยโดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจอมพลคุมทัพไทย ตีพม่าแตกพ่ายยับเยินไป

นอกจากรับราชการแล้ว เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ยังเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านสร้างวัดเชิงท่า ที่ตำบลคลองบางตลาด และวัดเกาะพญาเจ่ง ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ดังปรากฏบทกลอน ณ วัดเกาะพญาเจ่งดังนี้

พญาเจ่งคุมกองพันร่วมฟันฝ่า พร้อมเจ้าตากสู้พม่ากลางสมร
พลีเลือดเนื้อกู้เอกราชชาติไทยมอญ แต่กาลก่อนหลายร้อยปีที่ผูกพัน
ครั้นเสร็จศึกสร้างวัดสลัดบาป แสวงบุญชำราบหทัยสันต์
สร้างวัดเกาะเกิดกุศลผลอนันต์ โชติชีพพลันเรืองรุ่งเกรืองกรุงไกร

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ยังเป็นผู้สร้างวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง โดยส่งบุตรชายนามว่า พระยาชมภู หรือ เจ้าชมภู เป็นผู้ดำเนินการ[4]

บุตร-ธิดา[แก้]

อนุสาวรีย์เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ที่วัดเกาะพญาเจ่ง ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบุตรธิดา 5 ท่าน ดังนี้

  • เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ หรือ ทองชื่น) เกิดที่เมืองมอญ ได้ตำแหน่งแทนบิดา ถือเป็นต้นสายสำคัญในสกุลคชเสนี
  • พระยาชมภู หรือ เจ้าชมภู เกิดที่เมืองเชียงแสน พระมารดาชื่อ เจ้าหญิงสมนา จึงมีศักดิ์เป็นเจ้าตามประเพณีล้านนา มีลูกหลานสืบสกุลมาในมณฑลพายัพ ซึ่งเจ้าชมภูเป็นพระปัยกา(ทวด)ของเจ้าราชบุตรแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง เจ้าผู้รั้งนครลำปางองค์สุดท้าย
  • พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา หรือ ทองมา) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (จังหวัดพระประแดงในอดีต)
  • พระยาราม (วัน) เกิดสมัยกรุงธนบุรี
  • ธิดาชื่อ ทับทิม[5]

บุตรหลานของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ติดต่อกันมาถึง 9 ท่าน[6] เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2365 สิริอายุ 83 ปี[7] บุตรของท่าน เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) อยู่ในตำแหน่งปกครองชาวมอญแทนท่านเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)[8]

แนวคิดเกี่ยวกับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)[แก้]

เดิมเคยเชื่อกันว่าพม่าได้ให้พระยาเจ่งเป็นผู้รักษาเมืองเชียงราย มีภรรยานามว่า เจ้านางสมนา และมีบุตรชื่อ พญาชมภู (เจ้าน้อยคัมภีระ) และเคยเชื่อกันว่าเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นผู้สร้างวัดเชียงราย ต.สวนดอก อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ในปัจจุบัน ตามข้อสันนิษฐานของเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี และในพระนิพนธ์เรื่องประวัติต้นสกุลคชเสนี ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากการศึกษาค้นคว้าชำระข้อมูลของ ภูเดช แสนสา พบว่าเจ้าเมืองเชียงรายที่เป็นสามีของเจ้านางสมนาและเป็นบิดาของพญาชมภูไม่ใช่เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) แต่เป็นพญาเพชร (พญาเภชชะ) หรือพญาเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) ซึ่งพม่าตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าเชียงรายในปี พ.ศ. 2311 ต่อมาได้ทำการต่อต้านพม่าร่วมกับเจ้าฟ้าเมืองพะเยาแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2323 จึงหนีไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากาวิละ พญาเพชรได้นำชาวเชียงรายตั้งบ้านเรือนบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง เรียกว่าบ้านเชียงราย[9][10] และเสนอว่าพญาเพชรเป็นผู้สร้างวัดเชียงราย ไม่ใช่เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) แต่อย่างใด

พญาเพชร (เจ้าน้อยจิตตะ) เป็นต้นตระกูลขัติเชียงราย, วงษาลังการ, มณฑาทอง, รายะนคร และ ณ ลำปางบางสาย[11]

อนุสรณ์[แก้]

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ได้ยกที่ดินที่เป็นบ้านเดิมของท่านให้เป็นของสงฆ์พร้อมซื้อที่เพิ่มเติม แล้วจึงสร้างวัด เรียกว่าวัดเกาะหรือวัดเกาะบางพูด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดเกาะพญาเจ่ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน[12] และวัดอัมพุวรารามยังมีรูปปั้นเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. คำนวณจากปีที่อสัญกรรมและสิริอายุ
  2. นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ พระราชพงศาวดารพม่า ๒๕๕๐ หน้า ๑๑๓๓
  3. Cocks, S. W. (1910). A Short History of Burma. London: Macmillan & Co (Ltd.). p. 104.
  4. ข่าวในพระราชสำนัก 6 กุมภาพันธ์ 2557, ประวัติวัดเชียงราย เนื่องด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จทรงยกช่อฟ้าวิหาร วัดเชียงราย จังหวัดลำปาง
  5. ลำดับสกุลคชเสนี กับ โบราณคดีมอญ. โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2508.
  6. Phrapradang Agricultural Office, ประวัติความเป็นมาเมืองนครเขื่อนขันธ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน phrapradaeng.samutprakan.doae.go.th
  7. ประวัติวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เก็บถาวร 2013-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน watchol.org
  8. องค์ บรรจุน, เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)[ลิงก์เสีย] monstudies.com
  9. อภิชิต ศิริชัย,รู้เรื่องเมืองเชียงราย: เรื่องราวที่เคยรับรู้ กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ
  10. ภูเดช แสนสา,"เจ้าชมภู" "เจ้านางสมนา" บุตรภรรยาของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) แม่ทัพมอญแห่งกรุงสยาม หรือลูกเขาเมียใครในเมืองนครลำปาง
  11. ภูเดช แสนสา,"เจ้าชมภู" "เจ้านางสมนา" บุตรภรรยาของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) แม่ทัพมอญแห่งกรุงสยาม หรือลูกเขาเมียใครในเมืองนครลำปาง
  12. "เกาะพญาเจ่ง". เดอะคลาวด์.
  13. "วัดอัมพุวราราม ถนนสามโคก-ปทุมธานี ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก ปทุมธานี". ทัวร์วัดไทย.