อำเภอธาราบริวัตร
ธาราบริวัตร ថាឡាបារីវ៉ាត់ | |
---|---|
ประเทศ | กัมพูชา |
จังหวัด | จังหวัดสตึงแตรง |
เขตเวลา | +7 |
Geocode | 1905 |
อำเภอธาราบริวัตร (เขมร: ស្រុកថាឡាបរិវ៉ាត់; รูปปริวรรตอักษรไทย: สฺรุกถาฬาบริวาต่, อังกฤษ: Thala Barivat District) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสตึงแตรง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา ตามผลการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปรากฏว่าอำเภอนี้มีประชากร 21,577 คน[2]
ชื่อ "ธาราบริวัตร" เป็นชื่อภาษาไทยที่ตั้งด้วยคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า จุดที่แม่น้ำไหลวน มีที่มาจากที่ตั้งของตัวอำเภอธาราบริวัตร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำเซซานไหลมาบรรจบกันจนเกิดเป็นวังน้ำวน ชื่ออำเภอธาราบริวัตรที่ประเทศกัมพูชาใช้ในปัจจุบันนี้ เป็นการเขียนตามเสียงภาษาไทยด้วยอักขรวิธีภาษาเขมร "ថាឡាបរិវ៉ាត់" (รูปปริวรรตอักษรไทย: ถาฬาบริวาต่; คำอ่าน: ทา-ลา-บอ-ริ-วัด) ทำให้บางแห่งมีการเขียนทับศัพท์ด้วยอักษรไทยว่า "ถาลาปริวัต" หรือ "ถาลาบริวัต" เช่น ในวงวิชาการด้านศิลปะของไทย เรียกชื่อศิลปะเขมรที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1150 ว่า "ศิลปะถาลาปริวัต" เป็นต้น[3]
หน่วยการปกครองในปัจจุบัน
[แก้]ปัจจุบันอำเภอธาราบริวัตรแบ่งการปกครองออกเป็น 11 ตำบล (เขมร: ឃុំ ตรงกับภาษาไทยว่า "คุ้ม") ดังนี้
- ตำบลอันลองเพ (ឃុំអន្លង់ភេ)
- ตำบลจ็อมการเลอ (ឃុំចំការលើ)
- ตำบลกังจาม (ឃុំកាំងចាម)
- ตำบลเกาะเสนง (ឃុំកោះស្នែង)
- ตำบลอันลองจไร (ឃុំអន្លង់ជ្រៃ)
- ตำบลโอร์ไร (ឃុំអូររៃ)
- ตำบลโอร์สวาย (ឃុំអូរស្វាយ)
- ตำบลเปรียะฮ์รมเกิล (ឃុំព្រះរំកិល)
- ตำบลสำอาง (ឃុំសំអាង)
- ตำบลสแรฤๅษี (ឃុំស្រែឫស្សី)
- ตำบลธาราบริวัตร (ឃុំថាឡាបរិវ៉ាត់) - ที่ตั้งของตัวอำเภอ
ประวัติ
[แก้]เอกสารเรื่องพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ได้บันทึกถึงความเป็นมาของเมืองธาราบริวัตรไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2352 พระยาเดโช เจ้าเมืองกำปงสวาย กับนักปรัง ผู้น้องชาย อพยพครัวเรือนและไพร่พลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบเมืองโขง เนื่องจากพระยาเดโชและนักปรังเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้มีใบบอกแจ้งเรื่องมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกำลังมาคุมครัวเขมรของพระยาเดโชมาตั้งอยู่ที่บ้านลงปลา ส่วนครัวของนักปรังให้แยกมาตั้งอยู่ที่เวินฆ้อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2388 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเมืองบุตรนักปรังได้เกลี้ยกล่อมชาวเขมรป่าดงเข้ามาอยู่ในด้วยจำนวนมาก เจ้านาก เจ้านครจำปาศักดิ์ จึงพานักเมืองลงไปพบกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งขณะนั้นได้ออกมาจัดการราชการหัวเมืองเขมรอยู่ที่เมืองอุดงมีชัย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห สิงหเสนี) จึงได้มีท้องตราอนุญาตตั้งให้นักเมืองเป็นพระณรงค์ภักดีเจ้าเมือง ให้ท้าวอินทรบุตรท้าวบุญสารเป็นหลวงอภัยภูธรปลัด นักเต๊กเป็นหลวงแก้วมนตรียกกระบัตร ยกบ้านท่ากะสังปากน้ำเซลำเภาขึ้นเป็นเมืองขนานนามว่า เมืองเซลำเภา กำหนดเขตแขวงฝั่งน้ำโขงตะวันตก แต่ปากห้วยละออกลงไปถึงห้วยชะหลีกใต้เสียมโบกเป็นแขวงเมืองเซลำเภา ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์[4]
ถึงปี พ.ศ. 2428 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้มีใบบอกมายังกรุงเทพมหานคร ขอแต่งตั้งหลวงนรา (คำผุย) ผู้ช่วยเมืองเซลำเภา บุตรพระณรงค์ภักดี (อิน) เจ้าเมืองเซลำเภา เป็นพระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองเซลำเภาลำดับที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่เจ้านครจำปาศักดิ์มีใบบอกมา และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองเซลำเภาเป็นเมืองธาราบริวัตร ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ แต่พระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม (คำผุย) ได้ยกครัวเรือนไปตั้งอยู่ที่บ้านเดิมตำบลเวินฆ้อง ฝั่งตรงข้ามเมืองเชียงแตง (ปัจจุบันคืออำเภอสตึงแตรง จังหวัดสตึงแตรง) แล้วตั้งตำแหน่งกรมการเป็นชุดเมืองธาราบริวัตรขึ้นใหม่อิกต่างหาก ส่วนเมืองเซลำเภาก็คงมีตำแหน่งผู้รักษาเมืองกรมการอยู่ตามเดิม พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ณ เวลานั้น จึงมีตราจุลราชสีห์ ตั้งหลวงภักดี (บุญจัน) บุตรพระณรงค์ภักดี (เต๊ก) เจ้าเมืองเซลำเภา เป็นพระภักดีภุมเรศ กองนอกส่วยผึ้ง มีตำแหน่งปลัด ยกกระบัตร มหาดไทย เมือง วัง คลัง นา เป็นชุดกรมการเมืองเซลำเภาอยู่ตามเดิม บังคับบัญชาปกครองเขตแขวง แยกจากเมืองธาราบริวัตรฝ่ายละฟากห้วยตลาด ระยะทางเมืองธาราบริวัตรกับเมืองเซลำเภาไกลกันทางเดินเท้า 3 วัน อาณาเขตเมืองเซลำเภา ธาราบริวัตรในเวลานั้น ฝ่ายเหนือตั้งแต่ห้วยละอ๊อกต่อแขวงเมืองสะพังภูผาลงไปถึงคลองเสียมโบก ต่อชายแดนกัมพูชาซึ่งอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส ฝ่ายใต้ทิศตะวันตกถึงตำบลหนองปรัง สวาย ต่อแขวงเมืองมโนไพร [4] ทั้งนี้ เมืองเซลำเภาและเมืองธาราบริวัตรจัดเป็นเขตการปกครองของนครจำปาศักดิ์ และรวมอยู่ในมณฑลอีสานเมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
ในปี พ.ศ. 2447 หลังเกิดเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้ 11 ปี เมืองธาราบริวัตรได้ตกเป็นของอินโดจีนฝรั่งเศส พร้อมกับดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามเมืองหลวงพระบางและพื้นที่ทางตะวันตกของแขวงจำปาศักดิ์ในปัจจุบัน ในเวลานั้นเมืองธาราบริวัตรยังคงอยู่ในความปกครองของนครจำปาศักดิ์ แต่ต่อมาฝรั่งเศสได้จัดการปกครองใหม่ให้เมืองธาราบริวัตรอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชาแทน โดยมีฐานะเป็นอำเภอ (สรุก) ขึ้นกับจังหวัด (เขตต์) สตึงแตรง
ในปี พ.ศ. 2484 หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีน ประเทศฝรั่งเศสได้คืนดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสบางส่วนให้แก่ไทย (โดยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น) ตามอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ. 1941 เมืองธาราบริวัตรจึงได้กลับมาอยู่ในความปกครองของไทย โดยจัดให้อยู่ในความปกครองของจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ตามแนวเขตการปกครองเดิมเมื่อ พ.ศ. 2447 มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองระดับอำเภอ[5] ดินแดนดังกล่าวนี้อยู๋ในความปกครองของไทยจนถึง พ.ศ. 2488 ประเทศไทยได้ยกดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนทั้งหมดคืนฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสจะไม่ใช้สิทธิยับยั้งในการพิจารณาให้ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ อำเภอธาราบริวัตรจึงถูกโอนคืนให้แก่ฝรั่งเศส ขึ้นกับจังหวัดสตึงแตรงของกัมพูชาอีกครั้ง ภายหลังเมื่อประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2497 อำเภอนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชามาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ General Population Census of Cambodia, 1998: Village Gazetteer. National Institute of Statistics. February 2000. pp. 239–240.
- ↑ "General Population Census of Cambodia 1998, Final Census Results" (PDF). National Institute of Statistics, Ministry of Planning, Cambodia. August 2002. สืบค้นเมื่อ 2010-11-25. See page 246.
- ↑ ประวัติศาสตร์ศิลปะเขมร. baanjomyut.com
- ↑ 4.0 4.1 อมรวงษ์วิจิตร, หม่อม (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร). พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม. ท.ช. รัตน ว.ป.ร.4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458. โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2458.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งอำเภอ เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 58, ตอน 0 ง, วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2484, หน้า 2291-2293.