ข้ามไปเนื้อหา

สนธิสัญญาซาราโกซา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาซาราโกซา
เส้นเมริเดียนตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ค.ศ. 1494 (สีม่วง) และเส้นเมริเดียนฝั่งตรงข้ามตามสนธิสัญญาซาราโกซา ค.ศ. 1529 (สีเขียว)
วันลงนาม22 เมษายน ค.ศ. 1529 (1529-04-22)
ที่ลงนามซาราโกซา อารากอน
ภาคี

สนธิสัญญาซาราโกซา (สเปน: Tratado de Zaragoza; โปรตุเกส: Tratado de Saragoça) หรือที่บางครั้งเรียกว่า การให้สิทธิพิเศษซาราโกซา (สเปน: Capitulación de Zaragoza; โปรตุเกส: Capitulação de Saragoça) เป็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างราชบัลลังก์กัสติยากับราชอาณาจักรโปรตุเกส ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1529 โดยพระเจ้าการ์โลสที่ 1 แห่งกัสติยา และพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส ในเมืองซาราโกซาของอารากอน สนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดพื้นที่อิทธิพลของกัสติยาและโปรตุเกสในเอเชียเพื่อแก้ไข "ปัญหาโมลุกกะ" ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากทั้งสองอาณาจักรอ้างสิทธิ์ในหมู่เกาะโมลุกกะโดยยืนยันว่าหมู่เกาะนี้อยู่ในพื้นที่อิทธิพลของตนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสเมื่อ ค.ศ. 1494 ความขัดแย้งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1520 เมื่อกองเรือของทั้งกัสติยาและโปรตุเกสเดินทางไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก แต่อาณาจักรทั้งสองยังไม่เคยทำข้อตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตอิทธิพลในโลกตะวันออกเอาไว้

ภูมิหลัง: ปัญหาโมลุกกะ

[แก้]
แผนที่หมู่เกาะมาลูกู (โมลุกกะ) แสดงที่ตั้งหมู่เกาะบันดา เกาะเตอร์นาเต และเกาะตีโดเร

ใน ค.ศ. 1494 ราชบัลลังก์กัสติยาและราชอาณาจักรโปรตุเกสได้ลงนามในสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ซึ่งแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วนสำหรับการสำรวจและการล่าอาณานิคม โดยถือเอาเส้นเมริเดียนเส้นหนึ่งที่ลากผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นตัวแบ่ง โดยพื้นที่ทางตะวันตกของเส้นเป็นของสเปน และทางตะวันออกของเส้นเป็นของโปรตุเกส

ใน ค.ศ. 1511 มะละกาซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าของเอเชียถูกยึดครองโดยโปรตุเกสภายใต้การนำของอาฟงซู ดึ อัลบูแกร์กึ เมื่ออัลบูร์แกร์กึได้ทราบตำแหน่งที่ตั้งลับของ "หมู่เกาะเครื่องเทศ" [ได้แก่ หมู่เกาะบันดา เกาะเตอร์นาเต และเกาะตีโดเรในหมู่เกาะโมลุกกะ (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นเป็นแหล่งปลูกลูกจันทน์เทศและกานพลูแหล่งเดียวในโลก และเป็นจุดประสงค์หลักในการเดินทางสำรวจของชาวยุโรปในมหาสมุทรอินเดีย][ต้องการอ้างอิง] เขาก็ส่งคณะสำรวจที่นำโดยอังตอนียู ดึ อาเบรว ไปค้นหาหมู่เกาะโมลุกกะโดยเฉพาะหมู่เกาะบันดา คณะสำรวจเดินทางมาถึงในต้นปี ค.ศ. 1512 โดยเดินทางผ่านหมู่เกาะซุนดาน้อย นับเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงที่นี่[1] ก่อนถึงหมู่เกาะบันดา นักสำรวจได้แวะที่เกาะบูรู เกาะอัมบน และเกาะเซรัม ต่อมา หลังจากที่ต้องแยกทางกันด้วยเหตุเรือลำหนึ่งอับปาง ฟรังซิชกู ซึเรา รองผู้บัญชาการของอาเบรว ได้แล่นเรือไปทางทิศเหนือ แต่เรือของเขาก็จมลงนอกชายฝั่งเตอร์นาเต เขาได้รับอนุญาตจากโปรตุเกสให้สร้างป้อมปราการขึ้นที่นั่น

จดหมายบรรยาย "หมู่เกาะเครื่องเทศ" ที่ซึเราส่งถึงเฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน (ซึ่งเป็นเพื่อนและอาจเป็นลูกพี่ลูกน้องของซึเรา) ได้ช่วยให้มาเจลลันโน้มน้าวราชบัลลังก์กัสติยาให้สนับสนุนเงินทุนในการเดินเรือรอบโลกครั้งแรกได้สำเร็จ[2][3] ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1521 กองเรือมาเจลลันได้แล่นมาถึงหมู่เกาะโมลุกกะ "แหล่งกำเนิดของเครื่องเทศทั้งปวง" จากทางทิศตะวันออก ในขณะนั้นกองเรือมาเจลลันอยู่ภายใต้การนำของฆวน เซบัสเตียน เอลกาโน ซึ่งขึ้นกับราชบัลลังก์กัสติยา ก่อนที่มาเจลลันและซึเราจะได้พบกันที่หมู่เกาะโมลุกกะ ซึเราได้เสียชีวิตที่เตอร์นาเตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่มาเจลลันถูกสังหารในยุทธการที่มักตันในฟิลิปปินส์[4]

หลังจากการเดินทางของมาเจลลันและเอลกาโน (ค.ศ. 1519–1522) พระเจ้าการ์โลสที่ 1 แห่งกัสติยา ทรงส่งคณะเดินทางสำรวจคณะที่สองซึ่งนำโดยการ์ซิอา โฆเฟร เด โลอาอิซา เพื่อยึดหมู่เกาะโมลุกกะเป็นอาณานิคมโดยอ้างว่าหมู่เกาะนี้อยู่ในเขตอิทธิพลของกัสติยาตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส หลังจากประสบความยุ่งยากบางประการ คณะเดินทางสำรวจก็มาถึงหมู่เกาะโมลุกกะโดยเทียบท่าที่ตีโดเร นักสำรวจจากกัสติยาได้สร้างป้อมปราการขึ้นที่นั่น จึงเกิดความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับนักสำรวจจากโปรตุเกสซึ่งได้ตั้งรกรากที่เตอร์นาเตอยู่ก่อนแล้ว หลังจากสู้รบกันมาได้หนึ่งปี ฝ่ายสเปนก็ประสบกับความพ่ายแพ้ ถึงกระนั้นก็ยังมีการรบกันประปรายเพื่อครอบครองหมู่เกาะโมลุกกะต่อมาอีกเกือบทศวรรษ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hannard (1991), page 7; Milton, Giles (1999). Nathaniel's Nutmeg. London: Sceptre. pp. 5 and 7. ISBN 978-0-340-69676-7.
  2. R. A. Donkin, "Between east and west: the Moluccas and the traffic in spices up to the arrival of Europeans", p.29, Volume 248 of Memoirs of the American Philosophical Society, DIANE Publishing, 2003 ISBN 0-87169-248-1
  3. Hannard, Willard A. (1991). Indonesian Banda: Colonialism and its Aftermath in the Nutmeg Islands. Bandanaira: Yayasan Warisan dan Budaya Banda Naira.
  4. Duarte Barbosa; Mansel Longworth Dames; Fernão de Magalhães. The book of Duarte Barbosa: an account of the countries bordering on the Indian Ocean and their inhabitants. New Delhi: ISBN 81-206-0451-2