ข้ามไปเนื้อหา

สงครามฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์

ภาพวาดการเข้ายึดเมืองกูฟอร์เดิน (Coevorden) โดยทหารดัชต์ภายใต้การบังคับบัญชาของคาร์ล ฟ็อน ราเบนแฮ็ปพ์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1672
วันที่6 เมษายน ค.ศ. 1672 – 17 กันยายน ค.ศ. 1678
(6 ปี 5 เดือน 1 สัปดาห์ 4 วัน)
สถานที่
ผล สนธิสัญญาสันติภาพไนเมเคิน
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กำลัง
สูงสุด 253,000 นาย [1] สาธารณรัฐดัตช์ 80,000 นาย
60,000 นาย
25,000 นาย
สูงสุด 30,000 นาย [1]
ความสูญเสีย
เสียชีวิตและบาดเจ็บ 120,000 นาย [1] เสียชีวิตและบาดเจ็บ 100,000 นาย [1]

สงครามฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์ ระหว่าง ค.ศ. 1672 ถึง 1678 หรือรู้จักกันในนาม สงครามดัชต์, (ฝรั่งเศส: Guerre de Hollande; ดัตช์: Hollandse Oorlog) เป็นสงครามที่มีฝรั่งเศสและสาธารณรัฐดัตช์ เป็นคู่ขัดแย้งหลัก โดยมีจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สเปน บรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย และเดนมาร์ก–นอร์เวย์เป็นผู้ร่วมรบด้วย พันธมิตรฝ่ายฝรั่งเศสประกอบด้วย ราชรัฐอัครมุขนายกมึนส์เทอร์ รัฐผู้คัดเลือกโคโลญ ซึ่งถอนตัวออกไปใน ค.ศ. 1673 และราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งถอนตัวออกจากสงครามในอีกหนึ่งปีให้หลัง ก่อนที่จะกลับมาเข้าร่วมใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1678 ในฐานะพันธมิตรของเนเธอร์แลนด์

สงครามเริ่มดุเดือดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1672 เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสสามารถบดขยี้กองกำลังของสาธารณรัฐดัตช์ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งในภายหลัง เหตุการณ์นี้กลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ รัมยาลล์ (Rampjaar) หรือ "ปีมหาวิบัติ"[2] การรุกคืบของฝรั่งเศสมาหยุดชะงักลงที่แนวแม่น้ำไอเซล (IJssel) ในเดือนมิถุนายน และเมื่อถึงปลายเดือนกรกฎาคม ฝ่ายดัชต์ก็สามารถกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ความกังวลถึงผลเสียที่จะตามมาหากฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงครามนำไปสู่การลงนามพันธมิตรทางทหารระหว่างเนเธอร์แลนด์ จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 1 สเปน และบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1683 โดยมีดัชชีลอแรนและเดนมาร์ก–นอร์เวย์เข้าร่วมด้วยในภายหลัง ในขณะที่อังกฤษลงนามสงบศึกและถอนตัวออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1674 เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่าตนกำลังเผชิญสงครามหลายแนวรบจึงถอนกำลังออกจากสาธารณรัฐดัตช์ และคงกำลังไว้ในเมืองกราฟ (Grave) และมาสทริชท์ เท่านั้น

เมื่อเห็นดังนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทรงเบนเป้าหมายไปยังเนเธอร์แลนด์ของสเปนและไรน์ลันท์ ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยเจ้าชายวิลเลมแห่งออเรนจ์ ต้องการจำกัดการตักตวงผลประโยชน์ทางดินแดนของฝรั่งเศสจากสงครามครั้งนี้ หลังจากค.ศ. 1674 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองแคว้นฟร็องช์-กงเต และพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดกับเนเธอร์แลนด์ของสเปน รวมไปถึงแคว้นอาลซัส แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะกันได้อย่างเด็ดขาด สงครามมายุติลงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1678 ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพไนเมเคิน ถึงแม้เงื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าวจะให้ผลประโยชน์น้อยกว่าข้อเสนอสงบศึกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1672 แต่ก็ถือกันว่าสงครามครั้งนี้เป็นจุดสูงสุดของความสำเร็จทางด้านการทหารในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และส่งผลให้การโฆษณาชวนเชื่อของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญ

สเปนได้เมืองชาร์เลอรัว คืนจากฝรั่งเศส แลกกับการมอบแคว้นแคว้นฟร็องช์-กงเต รวมไปพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาร์ตัวและแอโน ก่อให้เกิดแนวพรมแดนที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน การได้มาสทริชท์กลับคืนมาหมายความว่าเนเธอร์แลนด์ได้พื้นที่ที่เสียไปในช่วงต้นสงครามกลับคืนมาทั้งหมด ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้อิทธิพลของเจ้าชายวิลเลมแห่งออเรนจ์มีบทบาทเด่นในกิจการภายในของสาธารณรัฐดัตช์ ซึ่งช่วยให้พระองค์สามารถต้านทานภัยคุกคามจากการขยายดินแดนของฝรั่งเศส และนำไปสู่การก่อตั้งมหาพันธมิตร ซึ่งต่อสู้ในสงครามเก้าปี

อ้างอิง

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]