ข้ามไปเนื้อหา

สกันเซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สกันเซิน
อาคารทางเข้าของสกันเซิน ฮาเซียลิอุสพุตเติน (Hazeliusporten)
แผนที่
ก่อตั้ง11 ตุลาคม ค.ศ. 1891 (1891-10-11)
ที่ตั้งยือร์กัวเดิน สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
พิกัดภูมิศาสตร์59°19′34″N 18°06′13″E / 59.32611°N 18.10361°E / 59.32611; 18.10361
ประเภทพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและสวนสัตว์
จำนวนผู้เยี่ยมชม1,369,431 คน (2016)[1]
ผู้อำนวยการJohn Brattmyhr
เว็บไซต์www.skansen.se/en/

สกันเซิน (สวีเดน: Skansen, ออกเสียง: [ˈskǎnːsɛn]; "ป้อมเล็ก ๆ") เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและสวนสัตว์ ตั้งอยู่บนเกาะยือร์กัวเดิน สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 1891 โดยอัตตือร์ ฮาเซียลิอุส (1833–1901) เพื่อแสดงวิถีชีวิตในต่างจังหวัดของสวีเดนส่วนต่าง ๆ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มแรกพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยบ้านเรือนกว่า 150 หลัง ที่ฮาเซียลิอุสเดินทางไปซื้อมาจากทั่วประเทศ และมีหนึ่งหลังที่มาจากเทเลอมาร์กในประเทศนอร์เวย์) ในพิพิธภัณฑ์มีเพียงสามอาคารเท่านั้นที่ไม่ใช่อาคารหลังต้นฉบับ แต่มาจากการสร้างขึ้นเลียนแบบให้สมจริงที่สุด

ยอดเข้าชมของสกันเซินอยู่ที่มากกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี[2] สกันเซินมีขนาดพื้นที่ 75 เอเคอร์ (300,000 ตารางเมตร) ภายในจัดแสดงบ้านเรือนและอาคารที่จำลองวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 19 ในอาคารยังมีการจำลองวิถีชีวิตของช่างสาขาต่าง ๆ ในชุดแบบดั้งเดิม เช่น ช่างขัดหนัง ช่างทำรองเท้า ช่างเงิน ช่างเป่าแก้ว คนอบขนมปัง ภายในยังมีแปลงปลูกใบยาสูบขนาดเล็กสำหรับใช้ทำบุหรี่ รวมถึงยังมีสวนสัตว์ที่มีสัตว์สแกนดิเนเวียจำนวนมาก เช่น หมีสีน้ำตาล, กวางมูส, แมวน้ำเทา, ลิงซ์ยูเรเชีย, หมาป่า, หมาจิ้งจอกแดง, นาก, กวางเรนเดียร์, แมวน้ำอ่าว, นกเค้าใหญ่ยูเรเชีย, นกฮูกเทาใหญ่ และวุลเวอรีน นับตั้งแต่ปี 1903 มีการจัดตลาดนัดคริสต์มาสในต้นเดือนธันวาคมที่จัตุรัสกลาง "บ็อลเนิส" (Bollnäs)

นับตั้งแต่ปี 1897 สกันเซินให้บริการโดยสกันเซินส์แบร์ยบานา รถไฟจิ๋วความยาวรางระยะทาง 196.4 เมตร และไต่ไปถึงความสูง 34.57 เมตร[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-01-18. สืบค้นเมื่อ 2018-03-24.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  2. "Skansen". Official site. สืบค้นเมื่อ 7 February 2008.
  3. "Skansens Bergbana". Funiculars.net. สืบค้นเมื่อ 25 June 2007.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]