ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดช้างค้ำ, วัดหลวงกลางเวียง
ที่ตั้งตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นตรี
ชนิดวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิทักษ์เจติยานันท์ (เพียร ธมฺมวโร)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถาน สำคัญ เป็นเจดีย์ ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก

หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ดังปรากฏในพระประวัติ ของพระองค์ว่า "ร.ศ. 127 พ.ศ. 2453 ก่อสร้างหอพระไตรปิฏก ในบริเวณวัดช้างค้ำ 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 16 วา 1 ศอก กว้าง 5 วา 2 ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ 13 วา หลังคาทำเป็นชั้น ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานจั่ว 2 ข้าง และเพดาน ทำด้วยลวดลายต่าง ๆ พระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋วจีนซาง เป็นสล่าสิ้นเงิน 12,558 บาท

ลักษณะโครงสร้างสถาปัตยกรรมมีลักษณะอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า คู่กับ พระวิหารหลวง อาคารก่ออิฐโบกปูน ยกพื้นสูงมีสิงห์ยืนอยู่ด้านหน้า ตรงเชิงบันใดด้านละ 1 ตัว ตั้งเสาราย รับหลังคาเชิงชายแทนผนัง และก่อผนังปิด ทำเป็นห้องไว้พระธรรม และพระไตรปิฏก ตรงแนวเสาที่รับคาน มีทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูทางเดียว บานประตูสลักเป็นรูปเทวดา 2 องค์ และมีลายปูนปั้น เป็นรูปยอดปราสาท ทำเป็นชั้นติดหน้าต่างด้านละ 3 บาน ผนังด้านหลังปิดทึบ ด้านนอกสองข้างทาง ระหว่างเสารายและผนัง เป็นทางเดินถึงกันได้ตลอดโดยรอบ อาคารสูงหลังคาช้อน 3 ชั้น ไม่มีมุขลด ที่หน้าบัน ใช้แผ่นไม้เรียงต่อกัน เป็นแผ่นๆ ประดับลายปูนปั้น เป็นรูปกนกล้อพระยาครุฑ ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยแผ่นไม้จำหลัก ลายกนก เป็นรูปสามเหลี่ยม สลับลายพุ่มข้าวบิณฑ์คว่ำ และรูปพระยาครุฑห้อยลงมาตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา ภายในมีลักษณะส่วนกว้างแคบ ส่วนยาวลึก เข้าไปภายใน และส่วนสูงชะลูดขึ้นไปมาก ใช้เป็นที่เก็บ พระไตรปิฏก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบลาน จารอักษรตัวธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นวิหาร ใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมนี

สิ่งสำคัญภายในวัด

[แก้]

สิ่งสำคัญภายในวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร พระอารามหลวง ได้แก่

  • พระธาตุช้างค้ำ
    สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1949 โดย พญาภูเข่ง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองราชย์ พ.ศ. 1950 - พ.ศ. 1960) ภายในองค์พระธาตุได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นับเป็นปูชนียสถานสำคัญ รูปทรงเจดีย์ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงลังกา เช่นเดียวกับเจดีย์วัดช้างล้อม พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่แต่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบัน องค์พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2455 ดังปรากฏบันทึกในหนังสือประวัติวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ความว่า “พระธาตุช้างค้ำ ซึ่งขณะนั้นของเดิมได้หุ้มทองจังโกทั้งองค์มีบางส่วนขององค์พระธาตุชำรุดเพราะถูกน้ำกัดเซาะลงตามช่องที่หุ้มทองจังโก เจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ พระครูนันทสมณาจารย์ ได้ร่วมกับคณะกรรมการโดยความเห็นชอบจาก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ได้ทำการรื้อเอาทองจังโกออกทั้งหมด แล้วทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยมีหม่องโกละเป็นนายช่างทำการรื้อ“ นับแต่นั้นมาองค์พระธาตุช้างค้ำจึ่งก่ออิฐถือปูนทาสีขาวนวลมาเป็นเวลานาน กระทั้งมีการหุ้มทองจังโกให้เหมือนเช่นเดิมอีกครั้ง ดังปรากฎความงดงามมาถึงในปัจจุบัน
  • พระวิหารหลวง
    สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1949 โดย พญาภูเข่ง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองราชย์ พ.ศ. 1950 - พ.ศ. 1960) ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2455 ในรัชสมัย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารใหญ่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร 1 หลัง เปลี่ยนเครื่องบนไม้สัก แลต่อน่ามุขออก 1 ห้อง รวมเปน 8 ห้อง ทำตามรูปเดิม เปนแต่น่ามุขแลเปลี่ยนเครื่องบน หลังคามุงกระเบื้องดิน ประดับตกแต่งเสาในพระวิหาร แลเพดานกันน่าจั่วทั้ง 2 ข้าง ทำเปนลวดลายลงรักปิดทอง แลประดับแก้วสีต่าง ๆ กับซ่อมแซมฐานพระประธานแลธรรมาศน์ ลงรักปิดทอง กับปิดทองพระประธานในพระวิหารนี้ แลมีการทำบุญฉลองเปนการใหญ่โตครึกครื้นมาก สิ้นเงิน 12,419 บาท 85 สตางค์ พระสมุห์อินทร์ วัดหัวข่วง เปนสล่า
  • พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
    ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยนักโบราณคดีชาวอเมริกันชื่อ อเล็กซานเดอร์ เบราว์ กริสโวล์ด และ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ณ เจดีย์ทิพย์ข้างพระธาตุช้างค้ำ ซึ่งถูกโบกปูนทับเอาไว้ เมื่อกระเทาะปูนออก จึงพบพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งมีส่วนผสมของทองคำอยู่ 65 เปอร์เซนต์ของเนื้อสำริดทั้งหมด สูง 184.5 เซนติเมตร นับเป็นพระพุทธรูปที่มีส่วนผสมของทองคำมากที่สุดของจังหวัดน่าน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1969 โดย พระเจ้างั่วฬารผาสุม กษัตริย์น่าน องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองราชย์ พ.ศ. 1969 - พ.ศ. 1976) โดยมีจารึกใต้ที่ฐานพระพุทธรูปความว่า “สมเด็จเจ้าพระยาสารผาสุม เสวยราชย์ในนันทบุระ สถาบกสมเด็จพระเป็นเจ้า ๕ พระองค์ เพราะจักให้คงในศาสนา ๕๐๐๐ ปี นี้ตั้งเป็นพระในปีมะเมีย เพื่อบุญ จุลศักราช ๗๘๘ มหาศักราช ๑๙๖๙ เดือน ๖ วันพุธ ยามปรารถนาเห็นพระศรีอาริยาเมตะไมตรีเจ้า”
  • หอพระไตรปิฎก

งานประจำปี

[แก้]

ประเพณีถวายสลากภัต หรือ ประเพณีตานก๋วยสลาก จะจัดขึ้นในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของคนน่านควบคู่ไปกับประเพณีแข่งเรือ

อ้างอิง

[แก้]