วัดพระธาตุจอมกิตติ
วัดพระธาตุจอมกิตติ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนยอดดอยน้อย หมู่บ้านจอมกิตติ หมู่ที่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยเป็นหนึ่งใน พระธาตุเก้าจอม ปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
ประวัติ
[แก้]ตามตำนานสิงหนติโยนกกล่าวว่า พ.ศ. 1438 หลังจากพระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) 16 องค์มาด้วย พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพญาเรือนแก้ว ได้สร้างโกศเงิน โกศทอง โกศแก้ว บรรจุพระธาตุ แบ่งให้พญาเรือนแก้วนำไปบรรจุในพระธาตุจอมทอง กลางเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล 5 องค์ ส่วนพระธาตุที่เหลืออีก 11 องค์ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บนดอยน้อย ซึ่งเป็นสถานที่พุทธทำนายว่าต่อไปจะได้ชื่อ จอมกิตติ[1][2] แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่ค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยโยนกนครตามที่ตำนานอ้างไว้
พ.ศ. 2030 หมื่นเชียงสง เจ้าเมืองเชียงแสน ได้ทำการสร้างพระธาตุจอมกิตติและวิหารขึ้น ตามพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า
"เถิงสักกราชได้ 849 ตัว ปีเมืองเม็ด (พ.ศ. 2030) เจ้าพระญาสุวัณณฅำล้านนากินเมืองเชียงแสนกับหมื่นพร้าวผู้เปนพรองเมืองที่นี้มาได้ 25 ปีแล้วจุติตายไปแล ยามนั้นพระญาอติโลกราชเจ้าก็ยกยังหมื่นพร้าวพรองเมืองนั้น หื้อกินเมืองเชียงแสนที่นี้ ใส่ชื่อว่า หมื่นเชียงสง ว่าอั้นแล้ว ก็หื้อหมื่นงั่วผู้หลานนั้นเปนพรองเมืองดังเก่า เหตุว่าท่านยังหนุ่มอยู่แล
สักกราชได้ 849 ตัว ปีเมืองเม็ด (พ.ศ. 2030) เดือน 5 ออก 12 ฅ่ำนี้ หมื่นเชียงสงได้กินเมืองแล้ว ท่านก็สร้างธาตุเจ้าจอมกิตติ เจติยะกว้าง 4 วาศอก สูง 12 วาศอก ที่อันพระพุทธเจ้ายังธรมานมาถาปนาเกสาธาตุแล้วทำนวายว่า ธาตุดูกหน้าผาก ดูกอกแลดูกแขนกล้ำขวา จักมาสถิตอยู่ที่นี้ ว่าอั้นนั้นแล สร้างวิหารกว้าง 5 ยาว 9 วาแล แล้วเอานาบุญลงไปเถิงอติโลกราชเจ้า ในสักกราชได้ 850 ตัว (พ.ศ. 2031) ปีเปิกสันนี้แล ท่านก็ทานฅนไว้กับ 200 ครัว กับนา 4 หมื่น 4 พัน 500 เบี้ย ไว้เขตตั้งแต่ตีนดอยไป 40 วา ชุด้านแล"[3]
พ.ศ. 2227 เจ้าฟ้าเฉลิมเมือง เจ้าฟ้าเชียงแสนได้ทำการบูรณะพระธาตุจอมกิตติครั้งใหญ่ ใช้เวลา 1 ปี และมีการทำบุญฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ตามพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า
"สักกราชได้ 1046 ตัว ปีกาบใจ้ เดือน 6 เพ็ง วัน 4 มหาสัทธาเจ้าฟ้าเฉลิมเมืองเปนเค้าแก่เสนาอามาตย์ปัชชานราชทังมวล พร้อมกันเวียกสร้างธาตุเจ้าจอมกิตติ ได้ขวบหนึ่งบอรมวลแล สักกราชได้ 1047 ตัว ปีดับเป้า เดือน 6 เพ็ง วัน 4 ฉลองทานมีบอกไฟแสน 8 หมื่นบอก 1 บอกน้อยมากหลายแล เดือน 6 แรม 3 ฅ่ำ วัน 2 ตกปีใหม่แล้ว แรม 4 ฅ่ำ เจาะบอกไฟหลวงบูชามหาธาตุที่ท่งห้วยหอมขึ้นนัก"[4]
ภายหลังเมื่อเมืองเชียงแสนถูกตีแตกใน พ.ศ. 2347 ทำให้พระธาตุจอมกิตติขาดการดูแลรักษา และชำรุดทรุดโทรมลง องค์พระเจดีย์ตั้งเอียงไปทางทิศใต้จวนจะล้มพังทลายลง
พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ได้ทรงนมัสการพระธาตุจอมกิตติเมื่อวันที่ 17 มกราคม
พ.ศ. 2498 พลโทยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมรักษาดินแดน เป็นผู้ติดต่อประสานงานไปยังคุณเชื้อ ศาลิกมาลย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้มาพัฒนาและปรับสถานภาพองค์พระเจดีย์ที่ตั้งเอียงให้ตรงดังเดิม ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2510 จากนั้นจึงมีการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่บริเวณซึ่งเป็นป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยซากโบราณวัตถุกระจัดกระจาย จนเป็นที่น่ารื่นรมย์เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเชียงแสน และทรงนมัสการพระธาตุจอมกิตติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม
พ.ศ. 2519 ได้ทำการฉลองสมโภชองค์พระเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินถวายสักการะองค์พระเจดีย์พร้อมกันทั้ง 4 พระองค์ และทรงเป็นประธานงานพิธียกฉัตรพระธาตุจอมกิตติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 14.00 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป ร่วมเจริญพระพุทธมนต์
พ.ศ. 2532-2533 พลอากาศเอกวรนาถ อภิจารีและคณะได้ขึ้นมาบูรณะกำแพงรอบพระธาตุบางส่วน พร้อมทั้งปิดทองปูกระเบื้องลานพระธาตุ
พ.ศ. 2538 พลตำรวจเอกประสาน วงศ์ใหญ่ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ได้สร้างนาค 2 ตัวที่บันไดทิศใต้ข้างกุฏิเจ้าอาวาส พร้อมสร้างกุฏิด้านล่างอีก 1 หลัง
พ.ศ. 2544-2545 พลตรีพงศ์ทัศน์ เศวตเศรนี พร้อมครอบครัวและคณะของแม่ชีมัณฑนาได้สร้างบันไดด้านทิศใต้
พ.ศ. 2541-2546 พลเอกโอภาส โพธิแพทย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเรืออากาศตรีหญิงจันทรา โพธิแพทย์ ได้เข้าร่วมพัฒนาวัดพระธาตุจอมกิตติอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายโอกาส โดยจัดหาทุนสร้างระบบไฟฟ้า ประปา ถนน ขึ้นสู่บริเวณพระธาตุจอมกิตติ บูรณะพระธาตุและสร้างกุฏิ จัดหาทุนก่อตั้งมูลนิธิพระธาตุจอมกิตติ
พ.ศ. 2545 คุณประจักษ์ แจ่มรัศมีโชติ รองผู้อำนวยการบริษัทการบินไทยได้ทำการบูรณะกำแพงรอบพระธาตุด้านทิศเหนือ[5]
เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เวลา 15.57 น. เกิดแผ่นดินไหววัดขนาดได้ 5.8 มีศูนย์กลางบริเวณชายแดนไทย-ลาว ห่างจากจังหวัดเชียงราย 57 กิโลเมตร ส่งผลให้ยอดฉัตรพระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หักโค่นลงมาได้รับความเสียหาย ทางวัดได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์เชียงแสน สิ่งของที่บรรจุในยอดปลีองค์พระธาตุ ซึ่งมีอัญมณี 9 ชนิด ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานบรรจุในยอดฉัตรเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพบแล้ว 7 อย่าง สูญหายไป 2 อย่าง
ต่อมา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมฉัตรจากของเดิมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งได้เปลี่ยนก้านและแกนฉัตรเป็นสแตนเลส จากเดิมที่เป็นเหล็ก ซึ่งผุกร่อนเป็นสนิม ส่วนตัวฉัตรนั้น ช่างได้ทำให้เข้ารูปเดิม และเปลี่ยนวิธีห่อหุ้มทองคำ 99 เปอร์เซ็นต์ จากวิธีเปียกทองโบราณ มาใช้เทคโนโลยีใหม่วิธีฟอร์มทอง โดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวหล่อและหุ้ม ซึ่งทำให้ทองคำอยู่ติดคงทน และสีไม่หมอง ส่วนยอดฉัตรที่ประดับด้วยอัญมณีนพเก้า และมีอัญมณีหลุดหายไป 2 ชนิดนั้น ได้มีประชาชนบริจาคโกเมนและนิล ซึ่งช่างได้นำขึ้นไปประดับไว้ครบทั้ง 9 ชนิดแล้ว ส่วนองค์พระธาตุ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนโครงสร้างและฐานราก เสริมอิฐซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและเสริมความมั่นคงรอยแตกร้าวด้วยกาววิทยาศาสตร์ (Epoxy) และอัดฉีดน้ำปูนเข้าไป
ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทรงประกอบพิธียกฉัตรประดับยอดพระธาตุกลับคืนดังเดิม
พระธาตุจอมกิตติ
[แก้]ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ย่อเก็จ ระหว่างชั้นฐานปัทม์ฐานเขียงมีชั้นบัวคว่ำคั่นกลาง
ส่วนกลาง เป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมมีจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทุกด้าน เรือนธาตุอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่ต่อเนื่องมาจากฐานด้านล่าง มุมที่เกิดจากการยกเก็จค่อนข้างใหญ่และลึกมากกว่าการยกเก็จในศิลปะล้านนา เรือนธาตุของพระธาตุจอมกิตติมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในรายละเอียดของส่วนประกอบคือ บัวเชิงและบัวรัดเกล้ามีลักษณะคล้ายกับฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ โดยเฉพาะบัวเชิงมีความต่อเนื่องจากฐานปัทม์ของส่วนฐาน ดูคล้ายกับเป็นฐานปัทม์สองชั้น แต่ที่จริงเป็นส่วนหนึ่งของเรือนธาตุเพราะจระนำได้เจาะลึกลงไปจนถึงหน้ากระดานบนของฐานปัทม์ด้านล่าง
ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีแนวยกเก็จต่อเนื่องขึ้นมาจากยกเก็จของเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์สิบสองเหลี่ยมซ้อนลดหลั่งกับองค์ระฆังทรงกลม บัลลังก์กลมบัวกลุ่มกลีบยาว ปล้องไฉน และปลียอดตามลำดับ
จากลักษณะของส่วนฐาน เรือนธาตุ ชุดฐานบัวเหนือชั้นหลังคาลาดและบัวกลุ่มกลีบยาว อาจสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบของเจดีย์วัดพระธาตุจอมกิตติในปัจจุบันคงมีการปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ . ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
- ↑ . ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546
- ↑ อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
- ↑ จิรศักดิ์ เดชวงญา, พระเจดีย์เมืองเชียงแสน, เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์. 2539