ข้ามไปเนื้อหา

วัดบางกุ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางกุ้ง
พระอุโบสถ เมื่อมองผ่านหน้าต่างเข้าสู่ภายในจะเห็นพระประธาน "หลวงพ่อนิลมณี"
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางกุ้ง
ที่ตั้งตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ไทย ประเทศไทย
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อนิลมณี
จุดสนใจ"โบสถ์ปรกโพธิ์" วัดบางกุ้ง
กิจกรรมเดิมเคยเป็นที่ตั้งค่ายบางกุ้ง สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดบางกุ้ง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีจุดเด่นที่พระอุโบสถ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ ถูกปกคลุมทั้งอาคารด้วยรากของต้นโพธิ์ ต้นกร่าง ต้นไกร จนได้รับยกให้เป็นอันซีนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม[1]

พระอุโบสถเป็นอาคารเครื่องก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ตามแบบวัดไทยทั่วๆไป ที่มักเป็นเครื่องลำยอง ภายในโบสถ์เป็นที่สถิตของ "หลวงพ่อนิลมณี" หรือ "หลวงพ่อดำ" ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ[2]

วัดแห่งนี้ยังมีจุดเด่นที่มีรูปปั้นนักมวยไทยเป็นจำนวนมาก[3] เช่นเดียวกับเครื่องบินเก่าตั้งโชว์ และยังมีสวนสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่มีทั้งกรงอูฐ กวาง ม้า ตั้งอยู่ริมท่าน้ำวัดบางกุ้งอีกด้วย[4]

ประวัติ

[แก้]
หลวงพ่อนิลมณี พระประธานประจำพระอุโบสถที่ถูกต้นไทรปกคลุม

ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2308 กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์รับสั่งให้หัวเมืองปากใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” กองทัพพม่าซึ่งยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก

หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2311 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ 8 เดือน กองทัพพม่านำโดยเจ้าเมืองทวายยกทัพบกและทัพเรือลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารจีนที่รักษาค่ายบางกุ้งสู้รบอย่างเต็มที่แต่มีกำลังน้อยกว่าเกือบจะเสียค่ายแก่พม่า กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีหนังสือกราบทูลไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงยกกองทัพมาตีทัพพม่าแตกพ่ายไป และต่อมาในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือนำทหารไปออกศึกที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ในระหว่างการเดินทางได้หยุดกองทัพพักพลเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง

หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนปัจจุบันถูกต้นไทรขึ้นปกคลุมทั้งหลังหน้าบันของพระอุโบสถ มีปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง แสดงปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ฝาผนังของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระอดีตพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้างประมาณ 5 เมตร ความยาว 7 เมตร ที่ขอบสระมีกำแพงเตี้ยกั้น และกรุด้วยอิฐถือปูนลักษณะสอบลงไป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบางกุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539

ที่วัดบางกุ้งนี้เองมีศาลอยู่ทางด้านหลัง โดยมีชื่อว่า "ศาลนางไม้เจ้าจอม" หรือศาลขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคนให้ความเคารพนับถือกันมาก

ศาลนางไม้เจ้าจอม วัดบางกุ้ง

[แก้]
"นี่แหละองค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) จึงได้ชื่อว่า “เจ้าหญิงผู้หาญกล้า” รักชาติยิ่งชีพ แม้ร่างกายสูญสลายแต่วิญญาณแห่งความรักชาติยังคงอยู่ตราบนิรันดร ควรแก่การสรรเสริญและสักการบูชายิ่งนัก"
ท.เลียงพิบูลย์[5]

เมื่อปี พ.ศ. 2531 บริเวณวัดเป็นป่ารกร้าง พระวินัยธร องอาจอาริโยได้เดินธุดงค์มาที่บริเวณวัดบางกุ้ง ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ข้างอุโบสถหลวงพ่อนิลมณีหรืออุโบสถปรกโพธิ์ ซึ่งเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐาน ท่านได้เดินสำรวจบริเวณวัดซึ่งทราบมาบ้างว่าวัดนี้เคยเป็นค่ายทหารจีนบางกุ้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมาก่อน ยามดึกขณะเจริญกรรมฐานมักจะเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดไทยโบราณมากราบไหว้หลวงพ่อนิลมณีหน้าอุโบสถปรกโพธิ์เป็นประจำ มีลักษณะผอมสูงผมยาวใบหน้างาม แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ต่อมาไม่นานเสาคานที่หน้าอุโบสถหล่นตกลงมาพิงอยู่ข้างอุโบสถ คืนนั้นเองท่านได้นิมิตเห็นผู้หญิงชุดไทยคนเดิมมาบอกให้นำไม้ท่อนนี้มาไว้ที่หลังอุโบสถแล้วให้สร้างศาลด้วยท่านก็ทำตาม

ให้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้มาไว้หลังอุโบสถแล้วสร้างศาลให้ตามคำขอร้อง นำไม้ท่อนนั้นแกะสลักเป็นรูปหน้าผู้หญิงไม่มีแขนขาไว้ภายในให้ชื่อว่า “ศาลนางไม้เจ้าจอม” ผู้คนให้ความเคารพนับถือกันมากเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารแก่ผู้คนอยู่เสมอ

ต่อมาพระวินัยธรฯ ได้ฟื้นฟูวัดบางกุ้งร่วมกับประชาชนจนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ผู้หญิงแต่งกายชุดไทยโบราณมาปรากฏในนิมิตอีกได้บอกว่าเป็นองค์หญิงพระนามว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”ต้องการให้สลักรูปองค์หญิงจากไม้ต้นโพธิ์ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ปี โดยขอร้องให้แกะสลักทั้งองค์ หลังจากนั้นท่านได้ปรึกษาหารือญาติโยมหาช่างแกะสลัก โดยนายช่างคิดราคาค่าแรง 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เมื่อตกลงราคากันแล้วพอช่างจะลงมือแกะสลักกลับไม่รู้ว่าจะแกะสลักเป็นรูปองค์แบบใด เพราะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาองค์หญิงมณฑาทิพย์มาก่อนทำให้แกะสลักไม่ได้

เมื่อการเป็นดังนี้ ท่านเจ้าอาวาสจึงลงมือแกะสลักเองทั้งที่ไม่เคยแกะสลักไม้รูปใด ๆ มาก่อน การแกะสลักไม้เป็นรูปคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างสูงแกะสลักแบบที่เห็นองค์หญิงในนิมิตเหมือนมีอำนาจอย่างหนึ่งมาดลบรรดาลให้แกะได้สำเร็จ สลักอักษรไว้ที่ฐานว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”

ภายหลังพระวินัยธร องอาจอาริโยพบหนังสือ “กฎแห่งกรรม” ของท.เลียงพิบูลย์ เข้าโดยบังเอิญพบเห็นเรื่องราวขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2291 เช่นเดียวกับที่เคยนิมิตเห็นน่าจะเป็นองค์เดียวกัน มีเนื้อหาดังนี้ “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2291 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) กับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ องค์หญิงเป็นพระธิดาของกรมหลวงบวรวังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ บ้านเมืองมีเหตุเดือดร้อนมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงผู้ใดประจบสอพลอผู้นั้นจะได้เป็นใหญ่ทั้งที่ไร้ความสามารถ ผู้ครองแผ่นดินได้แต่ลุ่มหลงและเสพสุขในกามา หากใครมีบุตรีต้องนำตัวมาถวายใครขัดขืนจะถูกประหารชีวิต เหลืออยู่ก็แต่กรมหลวงบวรวังในที่ท่านไม่ทรงยอมข้องเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ไม่คบค้าสมาคมกับใคร

เมื่อพระธิดาเจริญพระชันษาเป็นสาวให้แต่งองค์เป็นชายพร้อมทั้งข้าทาสบริวารที่เป็นหญิง 300 คน เป็นชายอีก 16 คน จัดให้ฝึกอาวุธเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น ฟันดาบ กระบี่กระบอง หมัดมวย ตำราพิชัยสงคราม องค์หญิงทรงเชี่ยวชาญอาวุธตลอดจนเวทมนตร์คาถา ทรงมีความสามารถด้านวิชาอาคมยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกพม่ายกกองทัพประชิดเมือง ผู้เป็นพระบิดาทรงสั่งให้บ่าวไพร่ต่อเรือใหญ่ 30 ลำ เรือเร็ว 10 ลำ เรือแจว 20 ลำ พร้อมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อุปกรณ์การก่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ลงด้วยอาคมพร้อมเรือคุ้มกันองค์หญิง ซึ่งแต่งกายเป็นชายเยี่ยงชายชาวบ้านธรรมดาหลบหนีออกจากกรุงตอนกลางคืน แต่พระบิดามิได้มาด้วย กองเรือได้ล่องน้ำมาเป็นระยะเวลา 3 วัน พบกองเรือพม่าบรรทุกกระสุน ดินดำ

จึงสั่งให้พลพรรคเข้าโจมตีตอนเวลาดึก จึงเกิดไฟลุกโชติช่วงฆ่าทหารพม่าซึ่งกำลังหลับเพราะเมามายแทบหมดสิ้น จนรุ่งเช้าพม่าส่งกำลังติดตามองค์หญิงทรงสั่งให้กองกำลังหลบตามป่าชายฝั่งแล้วร่ายเวทมนตร์กำบังพรางตาจนพม่าพ้นไป กองเรือหนีเล็ดรอดไปได้อย่างปลอดภัย แล้วหาทำเลสร้างเมืองเล็ก ๆ อยู่ เมื่อคราวศึกบางกุ้งองค์หญิงได้ทรงคุมกำลังเข้าช่วยรบพม่าเป็นสามารถจนได้รับชัยชนะ เมื่อสิ้นอายุขัยดวงพระวิญญาณยังผูกพันกับวัดบางกุ้งยังคงวนเวียนอยู่ที่ศาลคอยแผ่บารมีให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนที่มาขอพึ่งพา

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]