ข้ามไปเนื้อหา

วัดธรรมิการาม (จังหวัดลพบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดธรรมิการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดค้างคาว
ที่ตั้งตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15110
ประเภทวัดราษฏร์
นิกายมหานิกาย
ความพิเศษเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
จุดสนใจพระอุโบสถหลังเก่าที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่คาดว่าวาดในสมัยรัชกาลที่ 4
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดธรรมิการาม หรือวัดค้างคาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขามฝั่งตะวันตก ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นวัดที่มีประวัติการสร้างที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ สาเหตุที่ชื่อวัดค้างคาวเพราะว่าเดิมมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก ปัจจุบันไม่มีแล้วและได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดธรรมิการาม วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมฝั่งคลองในหมู่ไม้ร่มรื่น และในปัจจุบันยังเป็นสถานที่ฝึกและปฏิบัติอบรมพระพุทธศาสนาแก่นักเรียนและนักศึกษา มีทัศนียภาพที่สวยงาม และสภาพบริเวณในวัดยังมีความร่มรื่น เงียบสงบ มีศาสนสถานที่เก่าแก่มากมาย เช่นพระอุโบสถหลังเก่าที่มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ดังปรากฏให้เห็นภายในพระอุโบสถ นั่นคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงามยิ่ง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ คือ มีภาพเขียนที่ผนังโบสถ์ ซึ่งเป็นภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติทั้ง 4 ด้าน ลักษณะของภาพเขียนมีลักษณะแบบตะวันตกเข้ามาปนบ้างแล้ว เช่น การแรเงาต้นไม้ และอื่น ๆ เป็นภาพเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝีมือช่างพื้นบ้านที่งดงามมาก

วัดธรรมิการาม เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมคลอง สามารถเข้าได้ 2 ทางคือ ทางรถ สามารถเข้าได้จากบริเวณใกล้ทางเข้าวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง และทางเท้า ผ่านหมู่บ้าน ข้ามสะพานไม้เข้าไปก็สามารถเข้าถึงวัดนี้ได้โดยสะดวก

จารึกจิตรกรรมฝาผนังวัดธรรมิการาม

[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังวัดธรรมมิการามหรือวัดค้างคาว หมู่ ๔ ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ที่วัดดังกล่าวนั้น มีจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารของวัดสองแห่งคือ

  1. จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ เป็นภาพวาดอยู่เหนือระดับกรอบบนของประตูแและหน้าต่างภายในพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน เป็นเรื่องพุทธประวัติโดยเริ่มเนื้อหาแรกที่ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานคือ เรื่องพระราชพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าชายสิทธัตถะ และพระนางพิมพา จากนั้นเป็นเรื่องเสด็จออกผนวช ผจญมา ตรัสรู้ ประทานธรรม เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และสมโภชแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ ไม่ปรากฏชื่อศิลปินผู้วาด
  2. จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร เป็นภาพวาดอยู่เหนือระดับกรอบบนของประตูและหน้าต่างภายในพระวิหารทั้งสี่ด้าน เป็นภาพวาดเรื่องทศชาติชาดกโดยมีชื่อแต่ละพระชาติกำกับคือ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พระนารทพรหมชาดก พระวิธูรชาดก และพระเวสสันดรชาดก ที่ผนังด้านตรงข้ามกับพระประธาน มีข้อความเขียนไว้ว่า เขียนเดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุน สำเร็จแล้วปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ ราคา ๙๔ บาท ช้าง (ช่าง) เพงเป็นผู้เขียนไว้ใน พระพุทธศาสนา รูปแบบของการวาดเป็นแบบท้องถิ่น จิตรกรรมทั้งสองแห่งอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จากการพิจารณาจึงน่าจะเป็นภาพที่วาดอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๕๓) รูปแบบจิตรกรรมเป็นแบบ "หลวง"

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]