วัดไลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไลย์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
นิกายเถรวาท
พระพุทธรูปสำคัญพระศรีอาพระศรีอริยเมตไตร
ความพิเศษเป็นวัดที่มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
จุดสนใจพระวิหารและภาพปูนปั้น
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไลย์ เป็นวัดตั้งอยู่ริมน้ำบางขาม ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ มีพระวิหาร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น คือ มีลักษณะเจาะช่องผนังแทนหน้าต่าง ๆ ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารมีลายปูนปั้นเรื่องทศชาติ และเรื่องปฐมสมโพธิงามน่าดูนัก ซึ่งนับว่าเป็นภาพประติมากรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติ นอกจากนี้วัดไลย์ยังมีรูปพระศรีอาริย์เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้คนนับถือกันมาแต่โบราณ ในรัชกาลที่ 5 ไฟป่าไหม้วิหารรูปพระศรีอาริย์ชำรุดไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้อัญเชิญลงมาปฏิสังขรณ์ในกรุงเทพฯ แล้วคืนกลับไปประดิษฐานอย่างเดิม ถึงเทศกาลราษฎรยังเชิญออกแห่เป็นประเพณีทุกปี ปัจจุบันทางวัดได้ก่อสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระศรีอาริย์ขึ้นใหม่ ด้านหน้าเป็นรูปมณฑลจตุรมุขแลดูสง่างามมาก พระศรีอาริยเมตไตรยหรือหลวงพ่อพระศรีอาริย์ ซึ่งชาวบ้านนับถือกันมาแต่ครั้งโบราณ มีงานนมัสการที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ศิลปะชิ้นเอกที่ไม่ควรพลาดชมคือ ปูนปั้นที่ผนังด้านนอกวิหารเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านนำมาถวายให้ชมด้วย

ใน พ.ศ. 2561 วัดไลย์เป็นข่าวเนื่องจากมีการบูรณะวัดโดยนำสีทองมาทาทับอาคารโบราณทั้งหลัง ทำให้อธิบดีกรมศิลปากรต้องลงพื้นที่ไปสั่งขูดออกด้วยตนเอง[1]

ตำนานเกี่ยวกับวัดไลย์[แก้]

ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามาก คือพระศรีอาริย์ โดยมีตำนานเล่าเกี่ยวกับพระศรีอาริย์นี้ว่า ชายแก่คนหนึ่งชื่อว่ามณฑา หมั่นทำบุญรักษาศีลภาวนาอยู่เป็นนิจ เพื่อจะได้มีอายุยืนให้ถึงสมัยพระศรีอาริย์มาโปรดโลกมนุษย์ ก่อนจะตายแกได้สั่งญาติไว้ว่าให้เอาศพแกไว้7วันแล้วค่อยเผา เมื่อเฒ่ามณฑาตายไป ด้วยบุญกุศลที่แกสร้างสมไว้ พระอินทร์จึงเป็นผู้มารับวิญญาณและแจ้งแกว่าพระศรีอาริย์มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วและบวชเป็นพระอยู่วัดไลย์ แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร พระอินทร์จึงมอบดอกบัวหนึ่งดอกแก่เฒ่ามณฑา เพื่อนำไปกราบพระศรีอาริย์ แล้วส่งวิญญาณแกกลับสู่ร่าง เฒ่ามณฑาฟื้นขึ้นมาแล้วเล่าเรื่องไปพบพระอินทร์ให้ญาติพี่น้องฟัง และรีบไปวัดไลย์ เมื่อไปถึงพระกำลังสวดปาฏิโมกข์อยู่ในโบสถ์ แกจึงนั่งรออยู่ที่บันไดโบสถ์พร้อมกับพนมมือชูดอกบัวขึ้นถวาย พระได้เดินออกจากโบสถ์ทีละรูป แต่ไม่มีพระองค์ใดรับดอกบัวเลย เนื่องจากพระมองไม่เห็นดอกบัว เห็นเพียงเฒ่ามณฑานั่งพนมมืออยู่ เมื่อพระออกจากโบสถ์จนหมดแล้ว เฒ่ามณฑาจึงถามเณรว่า พระวัดนี้หมดแล้วหรือ เณรบอกว่ายังมีอีกรูปหนึ่งชื่อพระศรี วันนี้อาพาธไม่ได้ลงโบสถ์ แกจึงรีบไปหาพระศรีที่กุฏิเพื่อถวายดอกบัว พระศรีเห็นดอกบัวก็รีบลุกขึ้นรับ เฒ่ามนฑารู้ทันทีว่าเป็นพระศรีอาริย์ยังความปลาบปลื้มปิติให้แก่เฒ่ามณฑาเป็นอย่างยิ่ง จึงขออยู่รับใช้พระศรีอาริย์ โดยพระศรีอาริย์ไม่ให้แกเล่าเรื่องที่พระศรีอาริย์ลงมาเกิดในโลกมนุษย์และบวชเป็นพระอยู่วัดไลย์ให้แกรู้ อยู่ต่อมาพระศรีย์ก็ถึงแก่มรณภาพ พระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจึงร่วมกันหล่อรูปพระศรีอาริย์แต่ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จ พระอินทร์จึงแอบมาหล่อให้ในเวลาเพลที่ภิษุสามเณรไปฉันเพล เมื่อกลับจากฉันเพลก็เห็นรูปหล่อพระศรีอาริย์เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นที่อัศจรรย์

พระศรีอริยเมตไตร[แก้]

พระศรีอาพระศรีอริยเมตไตร หรือพระศรีอาริย์ เป็นปูชนียวัตถุสำคัญของวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยสุโขทัย เป็นการหล่อแบบพุทธสาวก ศีรษะโล้น ไม่มีเปลวรัศมี ลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญ นั่งขัดสมาธิคล้ายปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำจากสำริด ลงรักปิดทอง ตามตำนานว่าหล่อขึ้นแทนองค์พระศรีอาริยเมตไตรองค์เดิมซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่อยู่ในวิหารที่ถูกไฟใหม้ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซ่อมสร้างขึ้นใหม่

พิพิธภัณฑ์สถาน[แก้]

ความงดงามของวัดเก่าแก่ของวัดไลย์แห่งนี้ นับเป็นเส้นทางแห่งการสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของผู้คนในสังคมละแวกนี้ และนี้คืออาคารพิพิธภัณฑ์สถานของวัดไลย์ ที่รวบรวมโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

หอประชุมสงฆ์[แก้]

บรรดาโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุในวัดไลย์ก็ย่อมมีความเป็นไปฉันท์นั้น หลายสิ่งหลายอย่างสูญหายไปกับกาลเวลา แต่อาคารจัตุรมุขอันทรงคุณค่าของศิลปกรรมแห่งนี้ ทั้งหน้าบันทั้งสี่ด้านประดิษฐ์ด้วยไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ที่วิจิตรบรรจงสวยงาม ยากจะหาแห่งใดมาเสมอเหมือน นับเป็นศิลปกรรมที่ประมาณค่าไม่ได้

พระวิหารเก้าห้อง[แก้]

บริเวณของพระวิหารเก้าห้อง เป็นวิหารที่ประกอบไปด้วยงานศิลปกรรมอันล้ำค่า ทอดถึงภูมิปัญญาไทย ตัววิหารกว้าง 13 เมตร ยาว 29 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ประตู นับเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ มีภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติ และปฐมสมโพธิที่ผนังด้านหน้าและด้านหลัง สวยงาม สมบูรณ์ ชนิดเป็นข้อสันนิษฐานว่าพระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีอายุอยู่ในราว 800-900 ปีเศษ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหน้าตักขนาด 3.8 เมตร

ถาวรวัตถุที่สำคัญ[แก้]

วิหารเก่า[แก้]

เป็นวิหารทรงยาว ฐานรับตัวอาคารทำเป็นบัวคว่ำชั้นเดียว ไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องลมที่ผนังทั้งสองข้าง ข้างละห้าช่อง อันเป็นความนิยมของสถาปัตยกรรมก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสิ่งน่าชมได้แก่

ลายปูนปั้น[แก้]

ประดับอยู่ที่ผนังนอกวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมุขตอนในวิหาร เป็นลายปูนปั้นเต็มพื้นผนัง มีความงดงามและสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ที่ผนังด้านหน้าเป็นเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ส่วนด้านหลังยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างว่าเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ บ้างก็ว่าเป็นตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแต่บางคนก็ว่าเป็นเรื่องมโหสถชาดก ที่ผนังมุขตอนในเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช

พระประธาน[แก้]

เป็นพระปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วคล้ายพระพุทธชินราช ศิลปะอู่ทองสังเกตได้จากพระพักตร์เป็นรูปไข่ แต่ดูเข้มแข็งบึกบึน มีไรพระศก และชายสังฆาฏิตัดตรง เดิมองค์พระเป็นหินทรายแดง แต่ปัจจุบันมีการพอกปูนและลงรักปิดทอง

ลำดับเจ้าอาวาสวัดไลย์[แก้]

  1. หลวงพ่อบุญ
  2. หลวงพ่อชื่น
  3. หลวงพ่อพลบ
  4. หลวงพ่อสุ่น พุทฺธสโร
  5. พระครูสุพุทธิสุนทร (หลวงพ่อเล็ก)
  6. พระครูสุจิตธรรมธัช (สาย สุจิตฺโต)
  7. พระครูสถิตปุญญาภิสันท์ (สงวน ฐิตปุณโญ)
  8. พระครูวิลาส พัฒนคุณ (มหาบุญยัง อคฺคธมฺโม)

ประเพณีที่สำคัญ[แก้]

ประเพณีชักพระศรีอาริย์จะมีในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี โดยทางวัดไลย์จะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วประชาชนร่วมกันชักลากตะเฆ่ ตลอดทางที่ชักพระผ่านจะมีประชาชนตั้งโรงทาน และมีจุดหยุดเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีผู้หลั่งไหลเข้าร่วมเป็นจำนวนมากทุกปี พุทธศาสนิกชนจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ประดิษฐานบนตระเข้ชนิดไม่มีล้อ จัดขบวนแห่ด้วยการให้ประชาชนมาร่วมฉุดลากไปตามที่เส้นทางกำหนด เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบนมัสการปิดทองพระศรีอาริย์อย่างทั่วถึง

อ้างอิง[แก้]

  1. "11 ปี ย้อนหายนะโบสถ์(ทา)สีทอง ต้อง 'ขูดทิ้ง' ถึงพระพุทธรูปพระพักตร์แตก วัดอรุณฯ". มติชน. 2023-08-16.