วัดคอนสวรรค์ (จังหวัดชัยภูมิ)
วัดคอนสวรรค์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อใหญ่ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดคอนสวรรค์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
วัดคอนสวรรค์ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2517[1]
สิมของวัดศิลปะล้านช้างฝีมือช่างท้องถิ่นอีสาน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 5X7 เมตร ก่อสร้างด้วยไม้ ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีประตูและบันไดยื่นออกมา ที่ผนังด้านข้างเจาะเป็นรูปช่องหน้าต่างด้านละสองช่อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้ (แป้นเกร็ด) หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายดวงอาทิตย์ มีหลังคาปีกนกยื่นออกไปทั้งสี่ด้านรองรับด้วยเสาไม้ ฐานทำเป็นเอวขันแกะสลักลวดลาย พื้นที่ระหว่างฐานและเสารองรับปีกนกปูด้วยอิฐเป็นแนวขนาดไปกับตัวอาคาร สันนิษฐานว่าอิฐเหล่านี้คงงมีการสร้างโบราณเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี มีการสร้างศาสนสถานขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม[2]
ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อตาแดง และมีพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ หลวงพ่อใหญ่ หรือ หลวงพ่อพระสีศิลาแลง[3] ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลังเล็กสีขาว เป็นพระพุทธรูปสร้างจากศิลาแลงทั้งองค์ ศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 11–16 ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ขวายกขึ้น พระหัตถ์ซ้ายแนบพระวรกาย ครองจีวรห่มคลุม ขนาดวัดรอบองค์พระ 60 นิ้ว สูงจากฐาน 124 นิ้ว พระเศียรทรงกรวย ผิวเรียบ ไม่มีขมวด พระเกศา พระพักตร์ค่อนข้างกลมคล้ายรูปไข่ พระขนงยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา และพระกรรณยาว[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดคอนสวรรค์". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "สิมวัดคอนสวรรค์". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "ประวัติพระใหญ่ทวารวดี วัดคอนสวรรค์" (PDF).
- ↑ "พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี (วัดคอนสวรรค์)". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.