ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิประทับใจยุคหลัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ร้อยปีแห่งความมีอิสระ" โดยอ็องรี รูโซ ค.ศ. 1892

ลัทธิประทับใจยุคหลัง (อังกฤษ: post-impressionism) เป็นคำที่คิดขึ้นในปี ค.ศ. 1910 โดยรอเจอร์ ฟราย (Roger Fry) ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ เพื่อบรรยายศิลปะที่วิวัฒนาการขึ้นในฝรั่งเศสหลังสมัยเอดัวร์ มาแน จิตรกรลัทธิประทับใจยุคหลังยังคงสร้างงานศิลปะลัทธิประทับใจ แต่ไม่ยอมรับความจำกัดของศิลปะลัทธิประทับใจ จิตรกรสมัยหลังจะเลือกใช้สีจัด เขียนสีหนา ฝีแปรงที่เด่นชัดและวาดภาพจากของจริง และมักจะเน้นรูปทรงเชิงเรขาคณิตเพื่อจะบิดเบือนจากการแสดงออก นอกจากนั้นการใช้สีก็จะเป็นสีที่ไม่เป็นธรรมชาติและจะขึ้นอยู่กับสีที่จิตรกรต้องการจะใช้

ลักษณะทั่วไป

[แก้]

จิตรกรลัทธิประทับใจยุคหลังมีความไม่พึงพอใจต่อความจำกัดของหัวเรื่องที่วาดของศิลปะลัทธิประทับใจ และแนวความคิดของปรัชญาที่เริ่มจะสูญหายไปของขบวนการเขียนของลัทธิประทับใจ แต่จิตรกรกลุ่มนี้ก็มิได้มีความเห็นพ้องกันถึงทิศทางใหม่ที่ควรจะดำเนินต่อไปข้างหน้า ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอราและผู้ติดตามนิยมการเขียนโดยวิธีผสานจุดสี (pointillism) ซึ่งเป็นการเขียนที่ใช้จุดสีเล็ก ๆ ในการสร้างภาพเขียน ปอล เซซานพยายามสร้างกฎเกณฑ์และความมีระเบียบของศิลปะลัทธิประทับใจให้เป็นรูปเป็นทรงขึ้นเพื่อจะทำให้ "ศิลปะลัทธิประทับใจเป็นศิลปะที่มั่งคงและคงยืนตลอดไป เช่นเดียวกับศิลปะที่แสดงในพิพิธภัณฑ์"[1] การสร้างกฎเกณฑ์การเขียนของเซซานทำด้วยการลดจำนวนสิ่งของในภาพลงไป จนเหลือแต่รูปทรงที่เป็นแก่นสำคัญแต่ยังเซซานยังคงรักษาความจัดของสีที่ใช้แบบศิลปะลัทธิประทับใจ กามีย์ ปีซาโร ทดลองการเขียนแบบใหม่โดยการวาดในลัทธิประทับใจใหม่ระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษ 1880 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1890 เมื่อไม่พอใจที่ถูกเรียกว่าเป็นจิตรกรลัทธิประทับใจแบบจินตนิยม ปีซาโรก็หันไปหาการเขียนไปเป็นแบบผสานจุดสีซึ่งปีซาโรเรียกว่าเป็นศิลปะลัทธิประทับใจแบบวิทยาศาสตร์ ก่อนที่กลับไปเขียนภาพแบบลัทธิประทับใจแท้ตามเดิมในช่วงสิบปีสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต[2] ฟินเซนต์ ฟัน โคค ใช้สีเข้มสดและฝีแปรงที่ขดม้วนอย่างมีชีวิตจิตใจเพื่อสื่อความรู้สึกและสถานะภาพทางจิตใจของตนเอง แม้ว่าจิตรกรลัทธิประทับใจยุคหลังมักจะแสดงงานร่วมกันแต่ก็ยังไม่มีความคิดเห็นพ้องกันในแนวทางของขบวนการเขียน จิตรกรรุ่นเด็กกว่าระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1890 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขียนงานในบริเวณที่แตกต่างออกไปและในแนวการเขียนที่ต่างออกไปเช่นคติโฟวิสต์และลัทธิบาศกนิยม

ที่มาและความหมายของ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง"

[แก้]
อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก, ภาพเหมือนของเอมีล แบร์นาร์, ค.ศ. 1886, หอศิลป์เทต ลอนดอน

คำว่า "ลัทธิประทับใจยุคหลัง" เป็นคำที่เริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1910 โดยรอเจอร์ ฟราย (ศิลปินและนักวิพากษ์ศิลป์ชาวอังกฤษ) สำหรับการแสดงงานศิลปะของจิตรกรฝรั่งเศสสมัยใหม่ที่จัดขึ้นในลอนดอน จิตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมอายุน้อยกว่าจิตรกรลัทธิประทับใจ ต่อมาฟรายให้คำอธิบายในการใช้คำว่า "ลัทธิประทับใจยุคหลัง" ว่าเป็นการใช้ "เพื่อความสะดวก ที่จำเป็นต้องตั้งชื่อให้ศิลปินกลุ่มนี้โดยใช้ชื่อที่มีความหมายกว้างที่ไม่บ่งเฉพาะเจาะจงถึงแนวเขียน ชื่อที่เลือกก็คือ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" เพื่อเป็นการแสดงการแยกตัวของศิลปินกลุ่มนี้แต่ยังแสดงความสัมพันธ์บางอย่างกับขบวนการลัทธิประทับใจเดิม"[3]

"ลัทธิประทับใจยุคหลัง" กระตุ้นอารมณ์ผ่านความรู้สึกลึก ๆ ภายในมากกว่าต้องการแสดงศักยภาพหรือความสามารถ กระแสศิลปะนี้หันไปตอบสนองความต้องการตามทัศนคติของตัวศิลปิน รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของการค้นหาหมายของชีวิต และอุทิศผลงานเพื่อความผาสุกของเหล่ามวลมนุษย์ ศิลปินลัทธิประทับใจยุคหลังเชื่อว่า จิตวิญญาณกับธรรมชาติแยกออกจากกันแต่นำมาเชื่อมโยงกันผ่านการสังเคราะห์ด้วยการหลอมรวมจิตวิญญาณของศิลปินกับธรรมชาติ ผ่านผลงานไปสู่ผู้ชม ศิลปินเสนอภาพจากภายในไม่ใช่เพียงการลอกเลียนแบบความงามของธรรมชาติ แสดงเนื้อหาสำคัญอย่างนามธรรม ด้วยอารมณ์ที่เป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับรูปแบบ รูปทรง หรือสีตามสิ่งที่ตาเห็น

จอห์น เรวอลด์ (John Rewald) ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะอาชีพคนแรกที่มีความสนใจในการกำเนิดของศิลปะสมัยใหม่ในระยะแรกที่จำกัดอยู่ในระยะเวลาของ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" ที่นิยมกันระหว่าง ค.ศ. 1886 ถึงค.ศ. 1892 ในหนังสือ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง : จากฟัน โคค ถึงโกแก็ง" (ค.ศ. 1956) เรวอลด์เห็นว่าเป็นขบวนการที่ต่อเนื่องจากหนังสือที่เขียนก่อนหน้านั้น "ประวัติของศิลปะลัทธิประทับใจ" (ค.ศ. 1946) และให้ข้อสังเกตว่าเป็น "ฉบับที่อุทิศให้แก่สมัยหลังของศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง"[4]—"ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง : จากโกแก็งถึงมาติส" เป็นเล่มที่ตามมาแต่เล่มนี้รวมศิลปะแนวอื่นที่แตกหน่อมาจากศิลปะลัทธิประทับใจด้วย" และจำกัดเวลาระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรวอลด์เน้นความสนใจกับการวิวัฒนาการของศิลปินลัทธิประทับใจยุคหลังในระยะแรกในฝรั่งเศส : ฟินเซนต์ ฟัน โคค, ปอล โกแก็ง, ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา, ออดีลง เรอดง (Odilon Redon) และความสัมพันธ์ต่อกันในกลุ่ม และรวมถึงกลุ่มศิลปินอื่นที่ศิลปินกลุ่มนี้ให้ความสนใจหรือต่อต้าน :

  • ลัทธิประทับใจใหม่ (neo-impressionism) เยาะหยันโดยนักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยและจิตรกรผสานจุดสี; ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา และปอล ซีญัก (Paul Signac) จะพอใจมากกว่าถ้าจะใช้คำอื่นแทนเช่นวิภาคนิยม หรือ "จุดสีเรือง" (Chromoluminarism) เป็นต้น
  • คตินิยมเส้นกั้นสี (cloisonnism) เป็นขบวนการที่เขียนกันอยู่ไม่นานนักที่เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1888 โดยนักวิจารณ์ศิลปะเอดัวร์ ดูว์ฌาร์แด็ง (Édouard Dujardin) เพื่อเป็นการเผยแพร่งานของหลุยส์ อ็องเกอแต็ง (Louis Anquetin) ที่ต่อมารวมทั้งงานของจิตรกรร่วมสมัยของเอมีล แบร์นาร์ (Émile Bernard) ด้วย
  • ลัทธิสังเคราะห์นิยม (synthetism) เป็นขบวนการอายุสั้นอีกขบวนการหนึ่ง ใช้ในปี ค.ศ. 1889 เพื่อแยกงานของโกแก็งและแบร์นาร์จากงานของผู้ที่เขียนแบบลัทธิประทับใจที่มีแนวโน้มไปทางแบบเดิมที่แสดงงานที่ The Volpini Exhibition ในปี ค.ศ. 1889
  • กลุ่มปงตาแวน (Pont-Aven School) ที่หมายถึงเพียงกลุ่มศิลปินที่ทำงานในบริเวณปงตาแวนหรือในบริเวณอื่นในแคว้นเบรอตาญ
  • ลัทธิสัญลักษณ์นิยม (symbolism) เป็นคำที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในบรรดานักวิจารณ์ศิลปะใน ค.ศ. 1891 เมื่อโกแก็งทิ้งสังเคราะห์นิยมทันทีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของสัญลักษณ์นิยมในสร้างงานจิตรกรรม

นอกจากนั้นในบทนำใน "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" เรวอลด์เกริ่นเนื้อหาที่จะเขียนในเล่มสองที่จะรวมอ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก, อ็องรี รูโซ, กลุ่มนาบี, ปอล เซซาน และคติโฟวิสต์, ปาโบล ปีกัสโซ และการเดินทางครั้งสุดท้ายของโกแก็งไปทะเลใต้; ที่จะมีเนื้อครอบคลุมอย่างน้อยจนถึงคริสต์ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่เรวอลด์ไม่มีโอกาสเขียนเล่มสองเสร็จ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสลัทธิประทับใจยุคหลัง

[แก้]
  • การเมือง ลัทธิชาตินิยม ตามมาซึ่งความต้องการแผ่อำนาจและยึดครองรัฐต่าง ๆ, สังคมนิยม
  • สังคม เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนมองโลกในแง่ร้าย เกิดปัญหาเรื่องระดับทางสังคม ในระบบทุนนิยม คนชนชั้นแรงงานถูกกดขี่
  • ปรัชญาและความเชื่อแนวใหม่ ปรัชญาของมากซ์และเอ็งเงิลส์, อนาธิปไตย (anarchy) ความคิดและความเชื่อที่รุนแรงเกิดจากความกดดัน, ทฤษฎีแห่งปรัชญาที่ว่าคนนั้นเป็นอิสระ (Existentialism) การค้นพบทฤษฎีเรื่องจิตวิเคราะห์ของซีคมุนท์ ฟร็อยท์, ศาสตร์แห่งการใช้การสังเคราะห์ (synthesism)
  • วิทยาศาสตร์ การค้นพบเรื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของดอลตัน, ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

การจัดช่วงเวลา

[แก้]
กามีย์ ปีซาโร, เกี่ยวฟางที่เอราญี ค.ศ. 1889, งานสะสมส่วนบุคคล

เรวอลด์กล่าวว่าคำว่า "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อความสะดวกและมิได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงลักษณะการเขียนแต่อย่างใด และเป็นคำที่ใช้ที่จำกัดเฉพาะทัศนศิลป์ของฝรั่งเศสที่วิวัฒนาการมาจากศิลปะลัทธิประทับใจตั้งแต่ ค.ศ. 1886 วิธีเขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลังของเรวอลด์เป็นการเขียนตามที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นการวิจัยลักษณะของศิลปะ เรวอลด์ทิ้งไวให้ศิลปะเป็นเครื่องตัดสินตัวเองในอนาคต[4] คำอื่นเช่น นวยุคนิยม (modernism) หรือลัทธิสัญลักษณ์นิยมก็เป็นคำที่ยากที่จะใช้เพราะเป็นคำที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับศิลปะแต่ครอบคลุมสาขาวิชาอื่นด้วยเช่นวรรณกรรมหรือสถาปัตยกรรมและเป็นคำที่ขยายออกไปใช้ในหลายประเทศ

  • ลัทธิสัญลักษณ์นิยม เป็นขบวนการที่เริ่มร้อยปีต่อมาในฝรั่งเศสและเป็นนัยว่าเป็นแนวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล จิตรกรต่างก็ใช้สัญลักษณ์ในการเขียนไม่ว่าอย่างใดก็อย่างหนึ่งมากบ้างน้อยบ้าง

แอลัน โบว์เนสส์ (Alan Bowness) ยืดเวลา "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" ไปจนถึง ค.ศ. 1914 แต่จำกัดการเขียนในฝรั่งเศสลงไปอย่างมากในคริสต์ทศวรรษ 1890 ประเทศยุโรปอื่น ๆ ใช้มาตรฐานของ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" ส่วนศิลปะของยุโรปตะวันออกไม่รวมอยู่ในกลุ่มนี้

แม้ว่า "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" จะแยกจาก "ศิลปะลัทธิประทับใจ" ใน ค.ศ. 1886 แต่จุดจบของ "ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน สำหรับโบว์เนสส์และเรวอลด์แล้ว ลัทธิบาศกนิยม (cubism) เป็นการเริ่มยุคใหม่ ฉะนั้นบาศกนิยมจึงถือว่าเป็นการเริ่มยุคการเขียนใหม่ในฝรั่งเศสตั้งแต่ต้นและต่อมาในประเทศอื่น ขณะเดียวกันศิลปินยุโรปตะวันออกไม่คำนึงถึงการแบ่งแยกตระกูลการเขียนที่ใช้ในศิลปะตะวันตกก็ยังเขียนตามแบบที่เรียกว่าจิตรกรรมนามธรรมและอนุตรนิยม (suprematism) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ต่อมาจนในคริสต์ศตวรรษที่ 20

ศิลปินสำคัญ

[แก้]

สรุป

[แก้]

"ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง" ตามความหมายของเรวอลด์จึงเป็นคำที่หมายถึงช่วงเวลาของประวัติศิลปะเท่านั้นที่เน้นงานศิลปะของฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1886 ถึงปี ค.ศ. 1914

อ้างอิง

[แก้]
  1. Impressionism, 1973, p. 222.
  2. Cogniat, 1975, pp. 69–72.
  3. Gowing, p. 804.
  4. 4.0 4.1 Rewald 1978, p. 9.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะลัทธิประทับใจยุคหลัง

ระเบียงภาพ

[แก้]