ฟินเซนต์ ฟัน โคค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟินเซนต์ ฟัน โคค
เกิดฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค
30 มีนาคม ค.ศ. 1853(1853-03-30)
ซึนเดิร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์
เสียชีวิต29 กรกฎาคม ค.ศ. 1890(1890-07-29) (37 ปี)
โอแวร์ซูว์รวซ ประเทศฝรั่งเศส
สาเหตุเสียชีวิตได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืนจากปืนที่ยิงใส่หน้าอกตนเอง
สุสานCimetière d'Auvers-sur-Oise, ประเทศฝรั่งเศส
49°04′31″N 2°10′44″E / 49.07531°N 2.17894°E / 49.07531; 2.17894
สัญชาติดัตช์
การศึกษาAnton Mauve
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม วาดภาพชีวิต ภาพบุคคล และทิวทัศน์
ผลงานเด่นคนกินมันฝรั่ง (1885)
ดอกทานตะวัน (1887)
ห้องนอนที่อาร์ล (1888)
ราตรีประดับดาว (1889)
ภาพเหมือนของนายแพทย์กาแช (1890)
ฝูงกาเหนือทุ่งข้าวสาลี (1890)
The Siesta (1890)
Church at Auvers (1890)
ขบวนการลัทธิประทับใจยุคหลัง
ครอบครัวTheodorus van Gogh (พี่/น้องชาย)

ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค (ดัตช์: เกี่ยวกับเสียงนี้ Vincent Willem van Gogh ; 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 — 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1890)[เชิงอรรถ 1] คนไทยมักเรียก วินเซนต์ แวน โก๊ะ เป็นจิตรกรชาวดัตช์ในลัทธิประทับใจยุคหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก เขาสร้างสรรค์งานศิลป์กว่า 2,100 ชิ้นในเวลาเพียงสิบปีกว่า ในจำนวนนี้เป็นภาพสีน้ำมัน 860 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในสองปีสุดท้ายของชีวิตเขา ผลงานของเขามีทั้งภาพภูมิประเทศ ภาพนิ่ง ภาพคนเหมือน และภาพเหมือนตนเอง ซึ่งล้วนมีลักษณะเด่นเป็นสีสันจัดจ้านและงานพู่กันที่ฉวัดเฉวียนแฝงอารมณ์ชวนประทับใจอันช่วยสร้างรากฐานให้แก่ศิลปะสมัยใหม่ หลังทนทุกข์เพราะไข้ใจและความจนมานานหลายปี เขาปลิดชีวิตตนเองเมื่ออายุได้ 37 ปี

เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางชั้นสูง เขาเป็นเด็กที่เคร่งขรึม พูดน้อย แต่คิดมาก เมื่อโตเป็นหนุ่ม เขาทำงานเป็นนายหน้าขายศิลปกรรม จึงเดินทางบ่อย แต่เมื่อต้องย้ายบ้านไปอยู่ลอนดอน เขาก็ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จึงหันไปหาศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจในฐานะมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ทางภาคใต้ของเบลเยียม ชีวิตเขาล่องลอยไปมาระหว่างสุขภาพอันทรุดโทรมกับความโดดเดี่ยวอ้างว้าง กระทั่งมาจับงานวาดเขียนเอาใน ค.ศ. 1881 หลังย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนกับบิดามารดา เขาได้ Theo น้องชาย คอยสนับสนุนทางการเงิน เขากับน้องติดต่อกันมาเสมอด้วยจดหมายโต้ตอบ ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาส่วนใหญ่เป็นภาพนิ่งและภาพแสดงชนชั้นกรรมกร แต่มีไม่มากที่ใช้สีสันสดใส ต่างจากผลงานชิ้นหลัง ๆ ครั้น ค.ศ. 1886 เขาย้ายไปอยู่ปารีส ได้พบเจอสมาชิกกลุ่มล้ำยุค เช่น Émile Bernard กับปอล โกแก็ง ที่กำลังมีปฏิกิริยาตอบโต้ประเด็นอ่อนไหวเรื่องลัทธิประทับใจ เมื่องานของเขาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เขาก็สร้างรูปโฉมใหม่ให้แก่งานภาพนิ่งและภาพภูมิประเทศท้องถิ่นของตน โดยให้มีสีสันกระจ่างใสขึ้น เป็นรูปแบบที่ใช้งานจริงอย่างเต็มที่ในช่วงที่เขาพำนักอยู่ ณ เมืองอาร์ล ทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1888 ช่วงนี้เองที่เขาขยายหัวเรื่องสำหรับงานของตนออกไปเป็นภาพชุดต้นมะกอก ทุ่งสาลี และทานตะวัน

เขาประสบปัญหาทางใจอยู่หลายช่วง และแม้จะกังวลเรื่องเสถียรภาพทางจิตใจของเขายิ่งนัก เขากลับละเลยสุขภาพทางกายไปเสียสิ้น ไม่กินไม่นอนตามสมควร ทั้งยังร่ำสุราอย่างหนัก ครั้งหนึ่ง เขามีปากเสียงกับโกแก็ง แล้วคว้ามีดโกนไล่ตามโกแก็ง ก่อนเฉือนหูซ้ายของตัว ความปั่นป่วนทางใจทำให้เขาต้องอยู่โรงพยาบาลจิตเวชหลายครั้ง เช่นครั้งที่เขาพักอยู่ในแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ เมื่อออกโรงพยาบาลแล้ว เขาย้ายไปอยู่ Auberge Ravoux ที่โอแวร์ซูว์รวซใกล้กับปารีส และอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์แผนโฮมีโอพาธีนาม Paul Gachet ภาวะซึมเศร้าของเขาดำเนินต่อมาจนวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 เขาใช้ปืนลูกโม่ยิงอกตนเอง บาดแผลครั้งนี้ทำให้เขาเสียชีวิตในอีกสองวันถัดมา

ตอนมีชีวิตอยู่ เขาไม่ประสบความสำเร็จ และถูกมองเป็นคนบ้า คนล้มเหลว แต่พอเสียชีวิตเพราะอัตวินิบาตกรรมแล้ว เขากลับโด่งดัง สถิตอยู่ในภาพจำของสาธารณชนในฐานะอัจฉริยบุคคลผู้ถูกมองข้าม ถึงกับมีคำกล่าวว่า เขาเป็น ศิลปิน "ผู้ซึ่งวาทกรรมเรื่องความบ้าคลั่งและความสร้างสรรค์มีเส้นคั่นอยู่บาง ๆ" (where discourses on madness and creativity converge)[1] เกียรติยศเริ่มหลั่งไหลมาหาเขาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากองค์ประกอบในรูปแบบงานวาดเขียนของเขากลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเพราะคติโฟวิสต์และลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบเยอรมัน หลายสิบปีให้หลัง ผลงานของเขาประสบความสำเร็จทางการค้าพาณิชย์อย่างกว้างขวาง ทุกวันนี้ เขาเป็นที่จดจำในฐานะจิตรกรคนสำคัญผู้มีชีวิตอันชวนสลด บุคลิกภาพที่เป็นปัญหาของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินระทม (tortured artist) ในอุดมคติแนวสุขนาฏกรรม

ประวัติ[แก้]

"ภาพเขียนตัวเอง" โดยฟินเซนต์ ฟัน โคค (1887)
"รูปทางสามแพร่ง"
"ราตรีประดับดาว" หนึ่งในผลงานที่รู้จักกันมากที่สุดของฟัน โคค

ฟัน โคค เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 ที่เมืองซึนเดิร์ต (Zundert) ในภูมิภาคบราแบนต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ (เป็นเมืองที่ติดกับชายแดนเบลเยียม) มีพ่อเป็นนักบวชในศาสนาคริสต์ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตแบบแคบ ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ดูเงอะงะ ไม่คล่องแคล่วเหมือนคนมีปมด้อย ค่อนข้างใจน้อย เขามีนิสัยชอบเก็บตัวและมีอาการของโรควิตกกังวล และยังมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย อ่อนโยน มีความเมตตาต่อคนทุกข์ยาก ทำให้ทุกคนมองเขาว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ น่ารำคาญ เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานที่ห้องภาพแห่งหนึ่งที่เดอะเฮก กับญาติที่ทำงานด้านศิลปะ และเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี เขาก็ถูกส่งตัวไปยังห้องภาพที่สาขาปารีส ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อ และความเบื่อหน่ายที่ทางห้องภาพเอารูปเลว ๆ มาหลอกขายกับคนที่ไม่รู้จักศิลปะ เขาถึงกับบอกให้ลูกค้าไม่ให้ซื้อภาพนั้น จนกระทั่งทางร้านไม่พอใจไล่เขาออกจากงานในที่สุด

หลังจากนั้น เขาจึงหันไปศึกษาทางศาสนาอย่างจริงจัง หลังจากสอบเข้าวิทยาลัยศาสนาที่นครอัมสเตอร์ดัมได้ 14 เดือน เขาพบว่าตนเองไม่ได้อะไรอย่างที่ตั้งใจไว้ จึงเลิกเรียนเสียและได้ย้ายไปอยู่ในเหมืองถ่านหินในตำบลบอรีนาฌ เพื่อเทศนาสั่งสอนและช่วยเหลือคนทุกข์ยากในเหมืองนั้นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาอุทิศเงินจำนวนหนึ่งให้กับคนทุกข์ยากโดยที่ตนเองมีเงินใช้อย่างจำกัด และต้องกินเศษขนมปัง ทำให้ร่างกายผอมลงและเป็นพิษไข้ เพราะการบริโภคที่ผิดอนามัยและความหนาวเหน็บจากกองไฟกองเล็กที่ไม่อาจสู้กับความหนาวเย็นของอากาศได้ ทำให้ความงก ๆ เงิ่น ๆ ของเขามีมากยิ่งขึ้น

ฟัน โคค เป็นคนที่พูดไม่เก่ง ทำให้การเทศนาสั่งสอนของเขาไม่อาจจับจิตชาวเหมืองได้ ประกอบกับความใจบุญของเขาทำให้คนเหล่านั้นมองว่าเขาเป็นคนแปลกแตกต่างจากคนเหมือง ทำให้เขาเศร้าใจมาก และศาลพระก็ไม่ยอมแต่งตั้งให้เขาเป็นนักเทศน์ ในที่สุดชีวิตของเขาต้องเร่ร่อนไปอย่างไร้จุดหมาย เขาไม่ยอมแม้กระทั่งที่จะเขียนจดหมายถึงเตโอ น้องชายคนสนิท

จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1880 เขาได้เขียนจดหมายมาบอกกับเตโอ น้องของเขาว่า เขาค้นพบแล้วว่า ศิลปะคือทุกสิ่งทุกอย่างของเขา และเข้ามาแทนที่สิ่งอื่น ๆ จนหมด เขาใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตนเองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมาบ้างแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่ต่อจากนี้ไปมันคือชีวิตจิตใจของเขา (จดหมายที่ฟัน โคค เขียนถึงน้องชายของเขา ในปัจจุบันก็เป็นที่ต้องการและมีความสำคัญมากต่อการชมงานศิลปะของเขา)

ฟัน โคค ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายศิลปะอย่างลำบากยากแค้น เขายิงตัวเองเข้าทางซี่โครงด้านซ้าย ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 หลังจากการเขียน "รูปทางสามแพร่ง" (Wheat Field with Crows) (งานชิ้นนี้อาจจะสื่อถึงการหาทางออกให้กับของชีวิตของเขาเอง ที่เปรียบเสมือนทาง 3 สายที่มาบรรจบกันทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะไปทางใดต่อ) ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่ทุ่งนา แต่เขาไม่เสียชีวิตทันที โดยเขาได้เอามือกดปากแผลไว้และเดินกลับมาที่ร้านกาแฟที่เขาพัก

ฟัน โคค สิ้นใจในวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของเพื่อน ๆ ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสานเล็ก ๆ ที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส

หลังจากนั้นอีก 1 ปีต่อมา เตโอ น้องชายก็เสียชีวิตตามพี่ชายของเขาไปเนื่องจากความโศกเศร้าและอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ศพของเตโอถูกฝังที่เมืองยูเทรกต์ และในอีก 23 ปีต่อมา ภรรยาของเตโอจึงย้ายศพของเขาบางส่วนมาฝังไว้ใกล้ ๆ ศพของฟัน โคค ในที่สุดพี่น้องที่รักกันมากก็ได้มาอยู่ด้วยกันในสุสานเล็ก ๆ ที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ

ค.ศ. 2013 ได้มีการพบผลงานของเขาอีกชิ้นชื่อ "อาทิตย์อัสดงที่มงมาฌูร์" (Sunset at Montmajour) ที่ห้องใต้หลังคาของนักสะสมชาวนอร์เวย์[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. คำอ่านในภาษาอังกฤษบริติชมีทั้ง /ˌvæn ˈɡɒx/ แวน โกค หรือบ้าง /ˌvæn ˈɡɒf/ แวน กอฟ พจนานุกรมสหรัฐลงว่า /ˌvæn ˈɡ/ แวน โก

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]