รัฐบาลกลางสหรัฐ
รัฐบาลกลางสหรัฐ (อังกฤษ: Federal Government of the United States) เป็นรัฐบาลกลางของสหรัฐ ซึ่งใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐตามรัฐธรรมนูญและประกอบด้วยรัฐห้าสิบรัฐ รวมตลอดถึงเขตการปกครองใหญ่หนึ่งแห่ง และดินแดนอื่น ๆ แบ่งเป็นสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญสหรัฐให้ใช้อำนาจผ่านรัฐสภา ประธานาธิบดี และศาลกลาง รวมถึง ศาลสูงสุด ตามลำดับ อำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายนั้น กับทั้งการจัดตั้งกระทรวงในฝ่ายบริหารและศาลชั้นรองนั้น เป็นไปตามที่บัญญัติเพิ่มเติมไว้ในรัฐบัญญัติ
ชื่อเต็มของประเทศ คือ "สหรัฐอเมริกา" (The United States of America) ไม่ปรากฏชื่ออื่นในรัฐธรรมนูญ และชื่อนี้ยังปรากฏบนเงินตรา สนธิสัญญา และคดีความซึ่งรัฐเป็นคู่ความ (เช่น คดีระหว่างชาลส์ ที. เช็งก์ กับสหรัฐอเมริกา) ส่วนคำว่า "รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา" (Government of the United States of America) หรือ "รัฐบาลสหรัฐ" (United States Government) นั้นนิยมใช้ในเอกสารราชการเพื่อแทนรัฐบาลกลางแยกจากรัฐทั้งหลายโดยรวม ในระดับภาษาเขียนหรือสนทนาอย่างเป็นกันเองนั้น นิยมใช้ว่า "รัฐบาลกลาง" (Federal Government) และบางทีก็ใช้ว่า "รัฐบาลแห่งชาติ" (National Government) คำว่า "กลาง" และ "แห่งชาติ" ที่ปรากฏในชื่อส่วนราชการและโครงการราชการนั้นมักบ่งบอกการสังกัดรัฐบาลกลาง (เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ) นอกจากนี้ เพราะรัฐบาลกลางตั้งอยู่ในวอชิงตัน ดี.ซี. โดยทั่วไปจึงใช้ "วอชิงตัน" เรียกแทนรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
[แก้]รัฐสภาสหรัฐเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลกลาง ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
อำนาจ
[แก้]รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงอำนาจของรัฐสภาไว้หลายประการด้วยกัน ตามที่แจกแจงไว้ในมาตรา 1 อนุมาตรา 8 อำนาจดังกล่าวรวมถึงการเรียกและเก็บภาษี ผลิตและควบคุมมูลค่าเงินตรา บัญญัติโทษสำหรับการปลอมเงินตรา จัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์และถนน ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้วยการออกสิทธิบัตร จัดตั้งศาลกลางซึ่งรองจากศาลสูงสุด ปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ ประกาศสงคราม ระดมและสนับสนุนสรรพกำลังทางทหาร จัดตั้งและดำรงไว้ซึ่งทัพเรือ วางระเบียบการใช้กำลังทางบกและทางน้ำ จัดตั้ง จัดหาอาวุธให้ และควบคุมวินัยกองกำลังอาสาสมัคร ใช้อำนาจนิติบัญญัติแต่เพียงผู้เดียวในวอชิงตัน ดี.ซี. และตรากฎหมายซึ่งจำเป็นแก่การใช้อำนาจให้เหมาะสม ตลอดระยะเวลากว่าสองร้อยปีนับแต่จัดตั้งสหรัฐ มีข้อพิพาทมากมายเกี่ยวกับการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลาง และมักกลายเป็นคดีความซึ่งสุดท้ายแล้วได้รับการตัดสินโดยศาลสูงสุด
องค์ประกอบ
[แก้]สภาผู้แทนราษฎร
[แก้]สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงจำนวน 435 คน แต่ละคนมาเป็นผู้แทนเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้แทนราษฎรที่แต่ละรัฐสามารถมีได้ในสภานั้นเป็นไปตามจำนวนประชากรของรัฐนั้น ๆ ตามที่ระบุไว้ในสำมะโนครัวล่าสุด แต่ละรัฐต้องมีผู้แทนราษฎรอย่างน้อยหนึ่งคน สมาชิกทั้ง 435 คนดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และดำรงตำแหน่งซ้ำได้ไม่จำกัด บุคคลต้องมีอายุอย่างน้อย 25 ปี และเป็นพลเมืองสหรัฐมาแล้วอย่างน้อย 7 ปี จึงสามารถได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร นอกจากสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงจำนวน 435 คนดังกล่าวแล้ว ยังมีสมาชิกที่ไม่มีสิทธิออกเสียงอีก 6 คน 5 คนเป็นผู้แทนวอชิงตัน ดี.ซี. กวม หมู่เกาะเวอร์จิน อเมริกันซามัว และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา อีก 1 คนเป็นข้าหลวงประจำเปอร์โตริโก[1]
วุฒิสภา
[แก้]วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 2 คนจากแต่ละรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้นจะมีประชากรเท่าใด ปัจจุบันมีสมาชิกวุฒสิภา 100 คน (จากทั้งหมด 50 มลรัฐ) แต่ละคนดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี และจะเลือกตั้งราว ๆ หนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดทุก ๆ สองปี
อำนาจที่แตกต่างกัน
[แก้]ทั้งสองสภามีอำนาจสิทธิ์ขาดบางประการ เช่น วุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบ (ให้คำแนะนำและยินยอม) ต่อการแต่งตั้งบุคคลของประธานาธิบดี เช่น สมาชิกคณะรัฐมนตรี ตุลาการส่วนกลาง (รวมถึง ผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุด) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข้าราชการทหารบกและทหารเรือ และเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ร่างรัฐบัญญัติจัดเก็บภาษีอากรนั้นต้องเสนอในสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา และจะเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีลงนาม (หรือถ้าประธานาธิบดียับยั้งร่างกฎหมาย สภาทั้งสองจะต้องพิจารณาร่างนั้นใหม่ ถ้าสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภายืนยันมติเดิม ร่างกฎหมายนั้นจะเป็นกฎหมายโดยไม่จำต้องให้ประธานาธิบดีลงนามอีก) อำนาจของรัฐสภามีจำกัดเท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อำนาจอื่น ๆ ทั้งหลายนั้นสงวนไว้เป็นของรัฐและประชาชน รัฐธรรมนูญยังมี "ข้อบทเพื่อความจำเป็นและเหมาะสม" (Necessary and Proper Claus) ซึ่งให้รัฐสภามีอำนาจ "ตรากฎหมายทั้งปวงที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การใช้อำนาจบรรดาที่ระบุไว้ข้างต้น" สมาชิกทั้งสองสภานั้นมาจากการเลือกตั้งในแต่ละรัฐซึ่งใช้ระบบเลือกตั้งรอบเดียวโดยผู้มีคะแนนเสียงมากสุดชนะ (first-past-the-post) ยกเว้นรัฐหลุยเซียนา แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ใช้การเลือกตั้งสองรอบ (runoff)
การขับข้าราชการส่วนกลางออกจากตำแหน่ง
[แก้]รัฐสภามีอำนาจถอดประธานาธิบดี ตุลาการส่วนกลาง และข้าราชการส่วนกลางอื่น ๆ ออกจากตำแหน่ง ในกระบวนการนี้ทั้งสองสภามีบทบาทแยกกัน อันดับแรก สภาผู้แทนราษฎรต้องออกเสียงลงคะแนนว่าจะขับข้าราชการออกจากตำแหน่งหรือไม่ จากนั้น วุฒิสภาจึงไต่สวนเพื่อวินิจฉัยว่า ข้าราชการผู้นั้นควรพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้เคยมีประธานาธิบดีสองคนถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ขับออกจากตำแหน่ง (คือ แอนดรูว์ จอห์นสัน และบิล คลินตัน แต่ทั้งสองคนก็มิได้พ้นจากตำแหน่งเพราะการไต่สวนในวุฒิสภา
วิธีประชุม
[แก้]รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 อนุมาตรา 1 วรรค 2 ให้แต่ละสภามีอำนาจ "วางระเบียบการดำเนินงานของตนเอง" บทบัญญัตินี้ก่อให้เกิดคณะกรรมาธิการของรัฐสภาขึ้นทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและรับผิดชอบการสืบสวนของรัฐสภาเกี่ยวกับปัญหาระดับชาติ รัฐสภาชุดที่ 108 (ค.ศ. 2003–2005) มีคณะกรรมาธิการสามัญ 19 คณะในสภาผู้แทนราษฎร และ 17 คณะในวุฒิสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการร่วมถาวร 4 คณะซึ่งกรรมาธิการมาจากสภาทั้งสองและมีหน้าที่กำดับดูแลหอสมุดรัฐสภา งานสารบรรณ ภาษีอากร และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แต่ละสภายังสามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาเฉพาะ ปัจจุบัน งานส่วนใหญ่ของรัฐสภาตกเป็นของคณะอนุกรรมาธิการซึ่งมีราว 150 คณะด้วยกัน
ฝ่ายบริหาร
[แก้]อำนาจบริหารรัฐบาลกลางนั้นเป็นของประธานาธิบดีสหรัฐ[2] แต่อำนาจดังกล่าวนั้นมักมอบหมายให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีและข้าราชการอื่นใช้แทน[3] ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งร่วมกันจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) รัฐต่าง ๆ รวมทั้งวอชิงตัน ดี.ซี. จะมีสมาชิกภาพในคณะผู้เลือกตั้งตามจำนวนของสมาชิกของตนในสภาทั้งสอง[2][4] ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ ถ้าประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระแล้ว และมีผู้อื่นได้รับเลือกตั้งมาคั่น เขาจะดำรงตำแหน่งได้อีกเพียง 1 วาระมีระยะ 4 ปีเช่นกัน[2]
ประธานาธิบดี
[แก้]ฝ่ายบริหารประกอบด้วยประธานาธิบดีสหรัฐ (President of the United States) และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งได้รับมอบอำนาจประธานาธิบดี ประธานาธิบเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล รวมถึงจอมทัพ และหัวหน้าทูต ตามรัฐธรรมูญประธานาธิบดีต้อง "ดูแลให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างซื่อสัตย์" และ "สงวน ป้องกัน และพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ประธานาธิบดีเป็นประธานฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นองค์การที่ประกอบด้วยบุคคลราว 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นทหารประจำการราวหนึ่งล้านคน และเจ้าพนักงานไปรษณีย์อีกกว่า 600,000 คน
ประธานาธิบดีอาจลงนามในร่างกฎหมายที่ได้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ร่างนั้นเป็นกฎหมาย หรือจะยับยั้งร่างนั้นก็ได้อันจะส่งผลให้ร่างนั้นตกไป เว้นแต่รัฐสภา โดยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภา จะมีมติคัดค้านการยับยั้ง ประธานาธิบดีฝ่ายเดียวยังอาจลงนามในสนธิสัญญากับต่างประเทศ แต่การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้นจำต้องได้รับความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิก ประธานาธิบดีอาจถูกขับออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร และพ้นจากตำแหน่งด่วยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกวุฒิสภา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ รับสินบน หรือความผิดอาญาอย่างอื่นทั้งอุกฉกรรจ์และลหุโทษ" ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบรัฐสภาหรือสั่งให้เลือกตั้งเป็นกรณีพิเศษ แต่มีอำนาจอภัยโทษหรือปล่อยบุคคลซึ่งถูกพิพากษาว่ามความผิดต่อรัฐบาลกลาง (เว้นแต่กรณีขับออกจากตำแหน่ง) ตรารัฐกำหนด และแต่งตั้งตุลาการศาลสูงสุดกับตุลาการส่วนกลาง (โดยได้รับความยินยอมของวุฒิสภา)
รองประธานาธิบดี
[แก้]รองประธานาธิบดีสหรัฐ (Vice President of the United States) เป็นข้าราชการฝ่ายบริหารซึ่งตามตำแหน่งแล้วถือว่าสูงสุดเป็นอันดับที่สองในรัฐบาล ในฐานะที่เป็นบุคคลแรกที่จะสืบตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อเมื่อประธานาธิบดีตาย ลาออก หรือถูกถอดจากตำแหน่ง ในประวัติศาสตร์สหรัฐเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว 9 ครั้ง อนึ่ง ตามความในรัฐธรรมนูญ รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภา ด้วยบทบาทนี้ เขาจึงเป็นผู้นำของวุฒิสภา และในฐานดังกล่าว รองประธานาบธิดีจะออกเสียงลงคะแนนในวุฒิสภาได้เฉพาะเพื่อเป็นเสียงชี้ขาดเมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12 รองประธานาธิบดีเป็นประธานที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อนับคะแนนการเลือกตั้งของคณะผู้เลือกตั้ง แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจหน้าที่ของรองประธานาธิบดีจะเกี่ยวข้องกับการเป็นประธานวุฒิสภา นอกเหนือไปจากการสืบตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ปัจจุบันมักมองกันว่า รองประธานาธิบดีเป็นสมาชิกฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลาง และเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ตำแหน่งนี้อยู่ฝ่ายไหนโดยเฉพาะ นักวิชาการจึงถกเถียงกันว่า ควรอยู่ในฝ่ายบริการ ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือทั้งสองฝ่าย[5][6]
คณะรัฐมนตรี กระทรวง และส่วนราชการ
[แก้]งานรายวันในการบังคับใช้และดำเนินการตามกฎหมายกลางนั้นเป็นของกระทรวงฝ่ายบริหารในส่วนกลางซึ่งรัฐสภาจัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบราชการระดับประเทศและระหว่างประเทศโดยเฉพาะ หัวหน้ากระทรวงทั้ง 15 มาจากการคัดเลือกโดยประธานาธิบดีตามคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา และประกอบกันเป็นคณะที่ปรึกษาซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า คณะรัฐมนตรีในประธานาธิบดี (President's Cabinet) นอกจากกระทรวงต่าง ๆ แล้ว ยังมีองค์การเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งซึ่งรวมกลุ่มเป็นสำนักประธานาธิบดี (Executive Office of the President) ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักบริหารจัดการและงบประมาณ คณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สภาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ สำนักนโยบายควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ และสำนักนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการเหล่านี้เรียกว่า ข้าราชการพลเรือนกลาง (federal civil servant) อนึ่ง ยังมีส่วนราชการอิสระ เช่น กระทรวงสำนักงานไปรษณีย์สหรัฐ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สำนักข่าวกรองกลาง สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ กับทั้งยังมีรัฐวิสาหกิจ เช่น บรรษัทประกันเงินฝากกลาง และบรรษัทขนส่งคนโดยสารรถไฟแห่งชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ US House Official Website House.gov เก็บถาวร 2011-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 17 August 2008
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Article II, Constitution of the United States of America
- ↑ Barack, Obama (2009-04-27). "Delegation of Certain Authority Under the National Defense Authorization Act for Fiscal Year 2008". United States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-27. สืบค้นเมื่อ 2009-07-01.
- ↑ Amendment XXIII to the United States Constitution
- ↑ Goldstein, Joel K. (1995). "The New Constitutional Vice Presidency". Wake Forest Law Review. Winston Salem, NC: Wake Forest Law Review Association, Inc. 30 (505).
- ↑ Reynolds, Glenn Harlan (2007). "Is Dick Cheney Unconstitutional?". Northwestern University Law Review Colloquy. Chicago: Northwestern University School of Law. 102 (110).