ข้ามไปเนื้อหา

มเหนทรบรรพต

พิกัด: 13°36′46″N 104°6′45″E / 13.61278°N 104.11250°E / 13.61278; 104.11250
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มเหนทรบรรพต

មហេន្ទ្របវ៌ត
โบราณสถาน
มเหนทรบรรพตตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
มเหนทรบรรพต
มเหนทรบรรพต
ที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัด: 13°36′46″N 104°6′45″E / 13.61278°N 104.11250°E / 13.61278; 104.11250
ประเทศธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา
จังหวัดเสียมราฐ
ก่อตั้งค.ศ. 802

มเหนทรบรรพต (เขมร: មហេន្ទ្របវ៌ត มเหนฺทฺรบรฺวต ; สันสกฤต: महेन्द्र पर्वत มเหนฺทฺรปรฺวต ; อักษรโรมัน: Mahendraparvata) เป็นเมืองโบราณสมัยจักรวรรดิเขมร ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

เป็นที่รับรู้กันมาหลายทศวรรษแล้วว่า เมืองนี้มีอยู่ แต่อยู่ที่ใดไม่แน่ชัด เพราะเนื้อที่ส่วนใหญ่กลายเป็นป่ารกร้างและจมอยู่ใต้ดิน กระทั่งคณะนักโบราณคดี ซึ่งมีฌ็อง-บัปติสต์ เชอว็องส์ (Jean-Baptiste Chevance) กับเดเมียน เอวันส์ (Damian Evans) เป็นหัวหน้า ใช้เลเซอร์สแกนหาทางอากาศจนพบใน ค.ศ. 2012 และเริ่มขุดค้นเรื่อยมา

ศัพทมูล

[แก้]

ชื่อ "มเหนทรบรรพต" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ภูเขาขององค์อินทร์ผู้ยิ่งใหญ่" เป็นชื่อหนึ่งของพนมกุเลน (ភ្នំគូលេន ภฺนํคูเลน "ภูเขาลิ้นจี่") ศาสนสถานบนยอดเขาซึ่งใช้อภิเษกพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเมื่อ ค.ศ. 802 ชื่อ "มเหนทรบรรพต" นี้ปรากฏในจารึกหลายหลักจากสมัยพระนครซึ่งพบที่ปราสาทอกยม (ប្រាសាទអកយំ บฺราสาทอกยํ )[1]

ที่ตั้ง

[แก้]

เมืองมเหนทรบรรพตตั้งอยู่บนเนินภูเขาพนมกุเลนในจังหวัดเสียมราฐ ห่างนครวัดไปทางเหนือ 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) และห่างตัวจังหวัดเสียมราฐไปทางเหนือ 45 กิโลเมตร (28 ไมล์)[2]

การขุดค้น

[แก้]

ฌ็อง-บาติสต์ เชอว็องซ์ จากมูลนิธิโบราณคดีและการพัฒนาแห่งลอนดอน (London's Archaeology and Development Foundation) กับเดเมียน เอวันส์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ร่วมกับนำคณะผู้เชี่ยวชาญขุดค้นหาเมืองมเหนทรบรรพตมานานหลายปี จน ค.ศ. 2012 คณะดังกล่าวใช้วิทยาการไลดาร์ (Lidar) คือ ใช้เลเซอร์ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ออกบินสแกนทั่วพื้นที่พนมกุเลนเป็นเวลาเจ็ดวัน จนพบที่ตั้งเมืองมเหนทรบรรพต ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยภาคพื้นดินที่นักโบราณคดีหลายคนเคยทำไว้[2][3]

คณะผู้เชี่ยวชาญจึงขุดค้นจนพบรางน้ำและแอ่งน้ำของเมือง โดยใช้จักรยานยนต์ออกตรวจค้นจนพบจุดเริ่มขุด แต่ต้องเสี่ยงกับระเบิดที่ฝังไว้ในดินตั้งแต่ช่วงสงคราม คณะขุดค้นยังพบศาสนสถาน 5 แห่ง แล้วใช้ลีดาร์ตรวจจนพบศาสนสถานอีก 30 แห่ง ร่องรอยถนนที่เชื่อมโยงกันอย่างอลังการ เขื่อน และสระน้ำ เดเมียน เอวันส์ ยังกล่าวว่า งานครั้งนี้ทำให้ได้ทฤษฎีว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำทำให้จักรวรรดิเขมรล่มสลายในที่สุด[2][3]

ประวัติ

[แก้]

คณะนักโบราณคดีของฌ็อง-บาติสต์ เชอว็องซ์ ประมาณว่า เมืองมเหนทรบรรพตกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 802 ฉะนั้น เมืองมเหนทรบรรพตจึงเก่ากว่านครวัดราว 350 ปี[2]

เมืองมเหนทรบรรพตตั้งขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้สถาปนาจักรวรรดิเขมร และรับการอภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพนมกุเลน ภูเขาอันเป็นที่ตั้งเมืองมเหนทรบรรพต[4]: 99–101 [5]

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ตั้งเมืองมเหนทรบรรพตนี้ขึ้นเพื่อป็นราชสำนักหนึ่งในสามแห่งของพระองค์ อีกสองแห่งคือ อมเรนทรปุระ (អមរេន្ទ្របុរៈ อมเรนฺทฺรบุระ̤ "เมืองพระอินทร์") และหริหราลัย (ហរិហរាល័យ หริหราลัย "เมืองพระหริหระ")[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Higham 2001, p. 54–59.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Murdoch, Lindsay (15 June 2013). "Lost horizons: mediaeval city uncovered". Sydney Morning Herald. สืบค้นเมื่อ 15 June 2013.
  3. 3.0 3.1 Varma, Subodh (15 June 2013). "Lost city of Mahendraparvata discovered in Cambodian jungles". The Times of India. Delhi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-18. สืบค้นเมื่อ 15 June 2013.
  4. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  5. Higham 2001, p. 151.
  6. Higham 2001, p. 84.

บรรณานุกรม

[แก้]