ข้ามไปเนื้อหา

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน
ชื่ออื่นHyperthyroidism, overactive thyroid, hyperthyreosis
ไตรไอโอโดไทโรนีน (T3, ในภาพ) และ ไทรอกซีน (T4) เป็นฮอร์โมนไทรอยด์ทั้งคู่
สาขาวิชาวิทยาต่อมไร้ท่อ
อาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนอนผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ทนร้อนไม่ได้ อุจจาระร่วง ต่อมไทรอยด์โต มือสั่น และน้ำหนักลด[1]
ภาวะแทรกซ้อนภาวะวิกฤตจากพิษไทรอยด์[2]
การตั้งต้นอายุ 20–50 ปี[2]
สาเหตุโรคเกรฟส์, คอพอกหลายปุ่ม, เนื้องอกอะดีโนมาเป็นพิษ, ต่อมไทรอยด์อักเสบ, ได้รับไอโอดีนมากเกินไป, ได้รับยาเลียนแบบฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป[1][2]
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการ ยืนยันด้วยการตรวจเลือด[1]
การรักษาบำบัดด้วยไอโอดีนกัมมันตรังสี ใช้ยา ผ่าตัด[1]
ยายาต้านเบต้า, เมไทมาโซล[1]
ความชุก1.2% (สหรัฐ)[3]

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (อังกฤษ: hyperthyroidism) คือภาวะที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาจากต่อมไทรอยด์มากเกินปกติ[3] ในขณะที่ไทรอยด์เป็นพิษ (อังกฤษ: thyrotoxicosis) คือภาวะที่มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม รวมถึงจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินด้วย[3] แต่บางครั้งสองคำนี้ก็ใช้แทนกันได้[4] ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่อาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนอนผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ทนร้อนไม่ได้ อุจจาระร่วง ต่อมไทรอยด์โต มือสั่น และน้ำหนักลด[1] ผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการน้อยกว่าคนทั่วไป[1] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่มีอาการรุนแรงคือภาวะวิกฤตจากพิษไทรอยด์ เกิดจากมีเหตุกระตุ้น (เช่น การติดเชื้อ) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เช่น สับสน อุณหภูมิกายสูง และอาจเสียชีวิตได้[2] ภาวะตรงข้ามกันเรียกว่าภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกิน เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอ[5]

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะนี้คือโรคเกรฟส์ โดยพบเป็นสาเหตุของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินได้ถึง 50-80% ในสหรัฐ[1][6] สาเหตุอื่นๆ ของภาวะนี้เช่น คอพอก เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ได้รับไอโอดีนมากเกินไป และได้รับฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์มากเกินไป[1][2] อีกสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าคือเนื้องอกต่อมใต้สมอง[1] การวินิจฉัยอาจเริ่มจากการสงสัยในผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงเข้าได้รับภาวะนี้ และยืนยันได้ด้วยการตรวจเลือด[1] โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมน TSH ต่ำ ร่วมกับ T3 และ/หรือ T4 สูง[1] การตรวจเพิ่มเติมเช่น การตรวจการดูดกลืนไอโอดีนกัมมันตรังสีที่ต่อมไทรอยด์ การทำไทรอยด์สแกน และการตรวจแอนติบอดีต่อ TSI อาจช่วยหาสาเหตุได้[1]

การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค[1] ประกอบด้วยสามวิธีหลัก ได้แก่ การใช้สารไอโอดีนกัมมันตรังสี การใช้ยา และการผ่าตัด[1] โดยการใช้สารไอโอดีนกัมมันตังรังสีทำได้โดยการให้ผู้ป่วยกินไอโอดีน-131 เข้าไป สารนี้จะถูกดูดซึมไปรวมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์และค่อยๆ ทำลายต่อมไปช้าๆ โดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน[1] ทำให้เกิดเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการกินฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์[1] แพทย์อาจใช้ยาอื่นๆ เช่น ยาต้านเบต้า เพื่อควบคุมอาการ และใช้ยาต้านไทรอยด์ เช่น เมไทมาโซล เป็นการชั่วคราวระหว่างรอให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เกิดผล[1] การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา[1] มักใช้ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก หรือมีโอกาสเป็นมะเร็ง[1] ในสหรัฐพบผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินประมาณ 1.2% ของประชากร[3] พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-10 เท่า[1] ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการที่อายุ 20-50 ปี[2] โดยรวมแล้วโรคนี้มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี[1]

อาการสำคัญ

[แก้]

ไฮเปอร์ไทรอยด์มีอาการแสดงที่สำคัญดังต่อไปนี้:[7]

  • น้ำหนักลดลง แม้จะสามารถรับประทานอาหารได้อย่างเป็นปกติก็ตาม
  • ใบหน้าบวม ตัวบวม
  • มีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย และหนาวง่าย
  • ผิวแห้ง และผมร่วง

การรักษา

[แก้]

การรักษาอาการไฮเปอร์ไทรอยด์มีหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจาก อายุ สภาพของผู้ป่วย ชนิดของคอพอกเป็นพิษและความรุนแรงของโรค ซึ่งรักษาได้โดยการทานยาที่มีฤทธิ์ในการระงับฮอร์โมน การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การกินสารไอโอดีนชนิดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีเพื่อทำลายต่อมไทรอยด์ ซึ่งเรียกกันในวงการว่าการดื่มน้ำแร่ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 "Hyperthyroidism". www.niddk.nih.gov. July 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-04-02.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Devereaux, D.; Tewelde, SZ. (May 2014). "Hyperthyroidism and thyrotoxicosis". Emerg Med Clin North Am. 32 (2): 277–92. doi:10.1016/j.emc.2013.12.001. PMID 24766932.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Bahn Chair, RS; Burch, HB; Cooper, DS; Garber, JR; Greenlee, MC; Klein, I; Laurberg, P; McDougall, IR; Montori, VM; Rivkees, SA; Ross, DS; Sosa, JA; Stan, MN (June 2011). "Hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis: management guidelines of the American Thyroid Association and American Association of Clinical Endocrinologists". Thyroid. 21 (6): 593–646. doi:10.1089/thy.2010.0417. PMID 21510801.
  4. Erik D Schraga (30 May 2014). "Hyperthyroidism, Thyroid Storm, and Graves Disease". Medscape. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2015. สืบค้นเมื่อ 20 April 2015.
  5. NIDDK (13 March 2013). "Hypothyroidism". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 20 April 2015.
  6. Brent, Gregory A. (12 June 2008). "Clinical practice. Graves' disease". The New England Journal of Medicine. 358 (24): 2594–2605. doi:10.1056/NEJMcp0801880. ISSN 1533-4406. PMID 18550875.
  7. เกี่ยวกับอาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์

หนังสืออ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
อาการที่เกิดขึ้นในมนุษย์
อาการที่เกิดขึ้นในสัตว์
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก