ข้ามไปเนื้อหา

พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสุพรหม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสุพรหม)

พระศรีวรราช
พระสุนทรราชวงศา
พระประเทศราช
ครองราชย์พ.ศ. 2421
รัชสมัย14 ปี
รัชกาลก่อนหน้าพระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น)
รัชกาลถัดไปเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
ประสูติพ.ศ. 2376
พิราลัยวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 (เมืองยโสธร)
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
พระสุนทรราชวงศา
พระบุตรไม่มี
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาพระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น)
พระมารดาหม่อมคำ

พระสุนทรราชวงศา หรือ ท้าวสุพรหม พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช องค์ที่ 5 อันสืบเชื้อสายมาแต่เจ้านอง ปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว ปฐมเจ้าเมืองผู้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน)

พระประวัติ

[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (สุพรหม) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2376 ปีมะเส็ง เบญจศก เป็นพระโอรสของพระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช องค์ที่ 4 กับหม่อมคำ เป็นพระนัดดาของพระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช องค์ที่ 3 และพระปนัดดาของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาสัก องค์ที่ 3 มีพระอนุชา 1 องค์ คือ ท้าวโพธิสาร (สมเพ็ชร)

พ.ศ. 2403 ปีวอก โทศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระศรีวรราช (เหม็น) พระโอรสพระสุนทรราชวงศา (ท้าวฝ่ายบุต) ขึ้นเป็นที่พระสุนทรราชวงศาฯ พระประเทศราชผู้ครองเมืองยโสธร ตั้งให้ท้าวแข้ บุตรอุปราช (แพง) ขึ้นเป็นที่อุปราชเมืองยโสธร ตั้งให้ท้าวอ้น บุตรท้าวจันทร์ศรีสุราช ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์เมืองยโสธร ตั้งให้ท้าวพิมพ์ บุตรหลานอุปราช (แพง) ขึ้นเป็นที่ราชบุตรเมืองยโสธร และตั้งให้เจ้าสุพรหม โอรสพระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น) ขึ้นเป็นที่พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร

พ.ศ. 2416 ปีระกา เบญจศก พระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น) มีใบบอกขอรับพระราชทานสัญญาบัตรพระศรีวรราช (สุพรหม) การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระศรีวรราช (สุพรหม) ขึ้นเป็นที่อุปราชเมืองยโสธร ตั้งให้ท้าวบา ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์เมืองยโสธร และตั้งให้ท้าวแก่ ขึ้นเป็นที่พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร

พ.ศ. 2420 พระสุนทรราชวงศา (ท้าวเหม็น) ได้ประชวร และถึงแก่พิราลัย อุปราช (สุพรหม) ราชบุตร (บา) และพระศรีวรราช (แก่) ได้มีใบบอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาพระราชทานเพลิงศพพระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวเหม็น) เมื่อเสร็จสิ้นลง แสนท้าวพระยากรมการเมืองจึงพร้อมใจกันเห็นว่า อุปราช (สุพรหม) ราชบุตร (บา) พระศรีวรราช (แก่) ท้าวกันยาบุตรอุปราช (แพง) และท้าวอ้นบุตรราชวงศ์ (สุดตา) เป็นผู้มีความมั่นคงรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จึงมีใบบอกขอให้อุปราช (สุพรหม) เป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองต่อไป

พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้อุปราช (สุพรหม) บุตรพระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวเหม็น) ขึ้นเป็นที่พระสุนทรราชวงศา (ท้าวสุพรหม) พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร คนที่ 5 ราชบุตร (บา) ขึ้นเป็นที่อุปราช พระศรีวรราช (แก่) ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์ ท้าวกันยา บุตรอุปราช (แพง) ขึ้นเป็นที่ราชบุตร และท้าวอ้น บุตรเจ้าราชวงศ์ (สุดตา) ขึ้นเป็นที่พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการ รับราชการปกครองเมืองยโสธรสืบไป

พ.ศ. 2423 หลวงจุมพลภักดี (เสน) กรมการเมืองยโสธร บุตรอุปราช (แพง) และมีศักดิ์เป็นหลานของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ซึ่งเป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืององค์ก่อนตั้งให้เป็นนายกองเก็บส่วยผลเร่วที่บ้านเขาดินบึงโดนขึ้นแขวงเมืองยโสธร ต่อมาจะขอทำส่วยผลเร่วแยกจากเมืองยศสุนทรไปขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง แต่ฝ่ายพระสุนทรราชวงศา มิยินยอมให้ทำอย่างนั้น หลวงจุมพลภักดีจึงมีความขุ่นเคืองแอบเอาบัญชีตัวเลขไปสมัครขึ้นกับพระราษฎรบริหาร เจ้าเมืองกมลาไสย ต่อมาพระราษฎรบริหารจึงมีใบบอกกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านเขาหินบึงโดนขึ้นเป็นเมือง ขอตั้งหลวงจุมพลภักดีเป็นเจ้าเมือง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเขาหินบึงโดนขึ้นเป็นเมืองเสลภูมินิคม ให้หลวงจุมพลภักดีเป็นพระนิคมบริรักษ์ เจ้าเมืองเสลภูมินิคม ให้ท้าวสุริยะเป็นอัคฮาด ให้ท้าวผู้ช่วยเป็นอัควงษ์ ท้าวสุทธิสารเป็นอัคบุตร รักษาราชการเมืองเสลภูมินิคมขึ้นกับเมืองกมลาไสย ให้แบ่งเขตท้องที่เมืองยโสธรตั้งแต่ห้วยยังฝ่ายเหนือให้เป็นเขตเมืองเสลภูมินิคม ตั้งแต่ห้วยยังฝ่ายใต้ให้เป็นเขตเมืองยโสธร

พ.ศ. 2426 พระศรีวรราช (อ้น) ถึงแก่กรรม พระสุนทรราชวงศา เห็นว่า ท้าวสุย บุตรราชบุตร (กันยา) เป็นคนมั่นคงซื่อสัตย์สุจริต จึงมีใบบอกขอรับพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวสุย ขึ้นเป็นที่พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร

พ.ศ. 2429 ปีจอ อัฏฐศก พระสุนทรราชวงศา เห็นว่า ราชวงศ์ (แก่) เป็นผู้ใหญ่ และควรได้รับสัญญาบัตร ทั้งมีความชอบกับได้ให้ท้าวฮู้ ผู้บุตรอุปราช (แข้) ไปส่งข้าวน้ำลำเลียงกองทัพสยามปราบศึกฮ่อ ครั้งที่พระยาราชวรานุกุล (เวก) การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ราชวงศ์ (แก่) ขึ้นเป็นที่อุปราชเมืองยโสธร และท้าวสุริยะ (ฮู้) ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์เมืองยโสธร

พระกรณียกิจ และเหตุการณ์สำคัญ

[แก้]

พ.ศ. 2426 พวกฮ่อได้ยกกองกำลังมาตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ (ปัจจุบันอยู่ในแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาราชวรานุกูล (เวก) เป็นแม่ทัพใหญ่ นำกองทัพสยามขึ้นมาตีพวกฮ่อ จากนั้นพระยาราชวรานุกูล จึงตั้งให้หลวงอภัยพิพิธเป็นข้าหลวงมาเกณฑ์เอาช้าง ม้า โคต่างจากเมืองยโสธร ไปเป็นพาหนะบรรทุกลำเลียงข้าว น้ำ เสบียงไปเลี้ยงกองทัพสยาม และพระสุนทรราชวงศา จึงตั้งให้ท้าวสุริยะ (ฮู้) เป็นนายคุมเอาช้าง ม้า โคต่างไปร่วมกองทัพสยาม แต่ก็หาทันเสร็จไม่ พระยาราชวรานุกูลได้ถอยกองทัพกลับคืนมาตั้งอยู่ที่เมืองหนองคาย

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพสยามที่ตั้งอยู่เมืองหนองคาย และพระสุนทรราชวงศาจึงตั้งให้ท้าวโพธิสาร (สมเพ็ชร) ผู้น้อง เป็นนายคุมเอาช้าง ม้า และโคต่างไปร่วมกองทัพสยามอีกครั้ง และสามารถปราบพวกฮ่อได้สำเร็จ

การศาสนา

[แก้]

พ.ศ. 2426 พระสุนทรราชวงศา พร้อมด้วยอุปราช (เงาะ) ได้สร้างวัดขึ้นตรงป่ามะม่วงนอกเมือง และให้ไพร่พลชาวเมืองไปเลือกหาหินจากห้วยทวนข้างบ้านสิงห์โคกมาแกะสลักเป็นรอยพระพุทธบาท และนำประดิษฐานไว้บนแท่น ชาวเมืองเรียกว่า “หอพระบาท” ประทานนามวัดว่า “วัดป่ามะม่วง” (ต่อมาคือ วัดอัมพวัน)

พิราลัย

[แก้]

พระสุนทรราชวงศา ได้มีอาการป่วยด้วยโรคอุจระธาตุ อุปราชราชวงศ์ท้าวเพียกรมการเมืองบุตรหลานได้หาหมอเชลยศักดิ์มาประกอบยารักษาโรค แต่พระสุนทรราชวงศาหาคลายหายไม่ จนถึงวันพุธ ที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2434 (ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนสิบสอง ปีเถาะ ตรีศก) พระสุนทรราชวงศาได้ถึงแก่พิราลัย สิริอายุศม์ได้ 58 ปี ครองเมืองยโสธร 14 ปี อุปราชราชวงศ์ท้าวเพียกรมการเมืองบุตรหลานจึงได้ทำหีบใส่ศพตั้งไว้ตามสมควรแก่เกียรติยศ และได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์สวดอภิธรรมทำบุญตามสมควร

พ.ศ. 2435 อุปราช (แก) ราชบุตร (หนู) พระศรีวรราช พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการเมืองมีใบบอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาพระราชทานเพลิงศพพระสุนทรราชวงศา (ท้าวสุพรหม) แต่หาทันได้เผาไม่

พ.ศ. 2436 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์สุเทพ (ข้าหลวง) ท้าวไชยกุมาร (กุคำ) เมืองอุบลราชธานี ขึ้นมาจัดราชการเมืองยโสธร แล้วจึงพร้อมใจกันกับอุปราชราชวงศ์ท้าวเพียกรมการเมืองบุตรหลาน จัดงานพระราชทานเพลิงศพพระสุนทรราชวงศา (ท้าวสุพรหม) เมื่องานพระราชทานเพลิงศพฯ เสร็จลง เมืองยโสธรก็ว่างเว้นจากผู้ครองเมือง เหลือแต่อุปราช (แก) ราชบุตร (หนู) รับราชการกับหลวงพิทักษ์สุเทพ

ในปีนี้เองเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยกกำลังจากเมืองญวนมาตีเมืองสมโบกของไทย ฝ่ายเมืองยโสธรได้ถูกเกณฑ์กำลังทหารไปสมทบกองทัพจากกรุงเทพฯ ทั้งสามกองทัพ กองทัพละ 1,000 คน จำนวน 1,000 นาย โดยมีหลวงพิทักษ์สุเทพเป็นนายคุมทัพไป

อิสริยยศและตำแหน่ง

[แก้]
    • พ.ศ. 2403 พระศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร
    • พ.ศ. 2416 อุปราชเมืองยโสธร
    • พ.ศ. 2421 พระประเทศราชผู้ครองเมืองยโสธร

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสุพรหม) ถัดไป
พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าเหม็น)
พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2412

เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช
(พ.ศ. 2421 - พ.ศ. 2429)
พระสุนทรราชเดช (แก)
พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2438