พระยาอภัยภูเบศร (นอง)
พระยาอภัยภูเบศร (นอง) | |
---|---|
ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2390–2403 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | นักองค์อิ่ม |
ถัดไป | เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | นอง, ฟอง หรือ ม่วง |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2403 |
บุตร | 5 |
พระยาอภัยภูเบศร (นอง) ตระกูล อภัยวงศ์ (สกุล อภัยวงศ์ มีหลังจากที่พระยาอภัยภูเบศร ถึงแก่อนิจกรรม) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 6 ระหว่าง พ.ศ. 2390–2403 มีนามเดิมว่า นอง, ฟอง หรือ ม่วง เป็นบุตรของพระยาธิราชวงศา[1]
หลังจากเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 5 ที่นักองค์อิ่มเป็นกบฏต่อไทย ทำลายเมืองพระตะบองแล้วลงไปอยู่กับญวนที่พนมเปญ เมื่อ พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุง ซ่อมแซม เมืองพระตะบองเสียใหม่ แต่มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองพระตะบองเป็นเวลานานถึง 7 ปี ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลที่ไทยยังไม่สามารถจะหาผู้ใดที่ไว้วางใจ จงรักภักดีต่อไทยอย่างจริงใจ
บุคคลที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพระตะบองขณะนั้นมีอยู่ 2 ท่าน คือ พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) ซึ่งเป็นปลัดเมืองพระตะบอง และพระนิรนทรโยธา (นอง, ฟอง หรือ ม่วง) กรมการเมืองซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 1 ทั้งสองท่านมีบทบาทในการต่อสู้ป้องกันเมืองพระตะบองจากญวนเมื่อ พ.ศ. 2382 โดยนำกองทัพออกสะกัดครอบครัวเมืองพระตะบองให้กลับเข้าเมือง และนำกำลังเข้าตั้งมั่นรักษาเมือง ก่อนที่กองทัพจากกรุงเทพจะยกออกไป ทั้งสองท่านยังร่วมมือกับนักองค์ด้วงเกลี้ยกล่อมชักชวนชาวเมืองพระตะบองให้ลงไปพนมเปญ เมื่อ พ.ศ. 2381 และถูกจับได้จึงมีความผิด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าที่ทำไปเพราะตั้งใจจะประจบนักองค์ด้วงเพียงเท่านั้น อีกทั้งทั้งสองท่านเป็นข้าหลวงและบุตรหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) จึงทรงพระกรุณามิให้ลงโทษ โปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน
หลังจากเว้นว่างจากการมีเจ้าเมืองพระตะบองนาน 7 ปี เป็นเวลาที่ไทยทำสงครามกับญวนครั้งที่ 2 เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพในการบัญชาทัพ ท่านเดินทางไปยังเมืองพระตะบองเพื่อติดต่อสั่งราชการที่เมืองพระตะบอง ท่านตั้งให้พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) รั้งราชการเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง และให้พระนิรนทรโยธานำกองทัพออกไปทำสงครามกับญวนในเขมร เมื่อสงครามจบลง พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระนิรนทรโยธา เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 6 ต่อมาท่านปกครองเมืองพระตะบองโดยปรับปรุงเมืองที่ทรุดโทรมให้เจริญขึ้น สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น[2] พระยาอภัยภูเบศร (นอง) ว่าราชการได้ 12 ปี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2403
บุตร
[แก้]มีบุตรชายรวม 5 คน[3]
- เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์)
- นายทองอยู่
- นายขำ
- นายบัว
- นายยศ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ไกรฤกษ์ นานา. "สยามรัฐท่ามกลางจักวรรดินิยม". p. 63.
- ↑ ระยับศรี กาญจนะวงศ์. "บทบาทของเจ้าเมืองพระตะบองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2337-2449" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 126–128.
- ↑ "ประชุมพงศาวดาร, เล่มที่ 12". p. 148.