พระยาอภัยภูเบศร (นอง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอภัยภูเบศร (นอง)
ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2390–2403
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้านักองค์อิ่ม
ถัดไปเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
นอง, ฟอง หรือ ม่วง
เสียชีวิตพ.ศ. 2403
บุตร5

พระยาอภัยภูเบศร (นอง) ตระกูล อภัยวงศ์ (สกุล อภัยวงศ์ มีหลังจากที่พระยาอภัยภูเบศร ถึงแก่อนิจกรรม) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 6 ระหว่าง พ.ศ. 2390–2403 มีนามเดิมว่า นอง, ฟอง หรือ ม่วง เป็นบุตรของพระยาธิราชวงศา[1]

หลังจากเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 5 ที่นักองค์อิ่มเป็นกบฏต่อไทย ทำลายเมืองพระตะบองแล้วลงไปอยู่กับญวนที่พนมเปญ เมื่อ พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุง ซ่อมแซม เมืองพระตะบองเสียใหม่ แต่มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองพระตะบองเป็นเวลานานถึง 7 ปี ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลที่ไทยยังไม่สามารถจะหาผู้ใดที่ไว้วางใจ จงรักภักดีต่อไทยอย่างจริงใจ

บุคคลที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพระตะบองขณะนั้นมีอยู่ 2 ท่าน คือ พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) ซึ่งเป็นปลัดเมืองพระตะบอง และพระนิรนทรโยธา (นอง, ฟอง หรือ ม่วง) กรมการเมืองซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 1 ทั้งสองท่านมีบทบาทในการต่อสู้ป้องกันเมืองพระตะบองจากญวนเมื่อ พ.ศ. 2382 โดยนำกองทัพออกสะกัดครอบครัวเมืองพระตะบองให้กลับเข้าเมือง และนำกำลังเข้าตั้งมั่นรักษาเมือง ก่อนที่กองทัพจากกรุงเทพจะยกออกไป ทั้งสองท่านยังร่วมมือกับนักองค์ด้วงเกลี้ยกล่อมชักชวนชาวเมืองพระตะบองให้ลงไปพนมเปญ เมื่อ พ.ศ. 2381 และถูกจับได้จึงมีความผิด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าที่ทำไปเพราะตั้งใจจะประจบนักองค์ด้วงเพียงเท่านั้น อีกทั้งทั้งสองท่านเป็นข้าหลวงและบุตรหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) จึงทรงพระกรุณามิให้ลงโทษ โปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน

หลังจากเว้นว่างจากการมีเจ้าเมืองพระตะบองนาน 7 ปี เป็นเวลาที่ไทยทำสงครามกับญวนครั้งที่ 2 เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพในการบัญชาทัพ ท่านเดินทางไปยังเมืองพระตะบองเพื่อติดต่อสั่งราชการที่เมืองพระตะบอง ท่านตั้งให้พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) รั้งราชการเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง และให้พระนิรนทรโยธานำกองทัพออกไปทำสงครามกับญวนในเขมร เมื่อสงครามจบลง พระพิทักษ์บดินทร์ (โสม) ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระนิรนทรโยธา เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 6 ต่อมาท่านปกครองเมืองพระตะบองโดยปรับปรุงเมืองที่ทรุดโทรมให้เจริญขึ้น สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น[2] พระยาอภัยภูเบศร (นอง) ว่าราชการได้ 12 ปี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2403

บุตร[แก้]

มีบุตรชายรวม 5 คน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ไกรฤกษ์ นานา. "สยามรัฐท่ามกลางจักวรรดินิยม". p. 63.
  2. ระยับศรี กาญจนะวงศ์. "บทบาทของเจ้าเมืองพระตะบองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2337-2449" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 126–128.
  3. "ประชุมพงศาวดาร, เล่มที่ 12". p. 148.