นัสซิงเบ เอยาเดมา
นัสซิงเบ เอยาเดมา | |
---|---|
ประธานาธิบดีโตโกคนที่ 5 | |
ดำรงตำแหน่ง 14 เมษายน พ.ศ. 2510 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 | |
ก่อนหน้า | Kléber Dadjo |
ถัดไป | โฟร์ กนาซีง-กเบ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ปียา โตโกของฝรั่่งเศส |
เสียชีวิต | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (67 ปี) |
เชื้อชาติ | โตโก |
พรรคการเมือง | Rassemblement du peuple togolais |
นัสซิงเบ เอยาเดมา (ฝรั่งเศส: Gnassingbé Eyadéma, 26 ธันวาคม พ.ศ. 2480 − 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548) เป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศโตโก ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 38 ปี (พ.ศ. 2510 − 2548) ซึ่งนับเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่นานที่สุดในทวีปแอฟริกา[1] ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ระหว่างการเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส[2]
ประวัติ
[แก้]เอยาเดมาเกิดในครอบครัวชาวนาเผ่าคาบิเยทางตอนเหนือของประเทศโตโก เขาเคยเข้าร่วมกับกองทัพของฝรั่งเศสและเคยไปรบในอินโดจีนและแอลจีเรีย ก่อนที่จะกลับสู่โตโกใน พ.ศ. 2505 ในปีถัดมา เขาก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีซิลวานัส โอลิมพิโอ และสนับสนุนให้นิโคลาส กรูนิสกี้ มารับตำแหน่งผู้นำประเทศแทน แต่ใน พ.ศ. 2510 เขาก็ก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และขึ้นดำรงตำแหน่งประธาธิบดีของโตโกเองด้วยอายุ 29 ปี
เอยาเดมาได้รับความนิยมมากในช่วงแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ด้วยความเป็นเผด็จการและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ความนิยมนั้นตกลงอย่างรวดเร็ว เขาโดนลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง เมื่อกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เอยาเดมาก็ยอมให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเอยาเดมาชนะไปด้วยคะแนน 96.42% เพราะไม่มีคู่แข่งที่น่าเชื่อถือ เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2541 และเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แม้จะมีเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งครั้งนี้[3] เอยาเดมาสัญญาว่าจะยอมลงจากตำแหน่งเมื่อหมดวาระใน พ.ศ. 2546 แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำตามสัญญา เขายอมที่จะ "เสียสละอีกครั้ง" เพื่อความสงบและความมั่นคงของประเทศด้วยการเป็นประธานาธิบดีต่อไป
เอยาเดมาปกครองประเทศโตโกอย่างเผด็จการมาโดยตลอด ทำให้ประเทศขาดระบบจัดการปัญหาต่าง ๆ เมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2548 ด้วยโรคหัวใจ นักวิจารณ์เกรงว่าโตโกจะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในเหมือนประเทศโกตดิวัวร์[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Obituary: Gnassingbe Eyadema". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 5 กุมภาพันธ์ 2005. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.
- ↑ 2.0 2.1 "Eyadéma's woeful legacy". The Economist (ภาษาอังกฤษ). 10 กุมภาพันธ์ 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.
- ↑ "A test for France". The Economist (ภาษาอังกฤษ). 2 กรกฎาคม 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Gnassingbé Eyadéma Biography. Brief Biographies - JRank Articles. (ในภาษาอังกฤษ)