ดำรง พุฒตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดำรง พุฒตาล
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 (79 ปี)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
อาชีพนักการเมือง, นักแสดง, พิธีกร

ดำรง พุฒตาล (เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2487, พระนครศรีอยุธยา) เป็นบุคคลในแวดวงโทรทัศน์และสื่อมวลชนชาวไทย โดยเริ่มงานในแวดวงนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา(กิตติมศักดิ์)(นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา)

ประวัติ[แก้]

ดำรงเป็นชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายเปอร์เซีย โดยบรรพบุรุษได้เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย เมื่อกว่า 400 ปีก่อน ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ[ต้องการอ้างอิง] โดยเจ้าตัวเกิดที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมแม่น้ำลพบุรี และมีผู้เป็นทวดมีที่ดินอยู่ที่อำเภอวังน้อยกว่า 300 ไร่

ในวัยเด็กเจ้าตัวมักว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก รวมถึงแม่น้ำลพบุรี และชอบที่จะพูดคุยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวยังพระนครศรีอยุธยา ด้วยการเป็นมัคคุเทศน์ท้องถิ่น และได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษไปในตัว

ผลงานของดำรง ได้แก่ การเป็นพิธีคู่กับธรรมรัตน์ นาคสุริยะ รวมถึงการเป็นพิธีในรายการเจาะใจทางช่อง 5 อย่างยาวนานหลายปี คู่กับสัญญา คุณากร รวมถึงการเป็นผู้ผลิตนิตยสารคู่สร้างคู่สม และรายการโทรทัศน์ สู้แล้วรวย เป็นต้น

น้องชายของเจ้าตัว คือ มาโนช พุฒตาล นักดนตรีและนักวิจารณ์เพลง

ปัจจุบัน เจ้าตัวพักอาศัยอยู่ในบ้านพักที่ใช้ชื่อว่า บ้านเวียงเหล็ก ริมถนนอู่ทอง ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอยู่ตรงข้ามกับวัดพุทไธศวรรย์ และห่างจากสถานที่เจ้าตัวเกิดไม่เกิน 2 กิโลเมตร

การศึกษา[แก้]

  • จบปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต (ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร)
  • ปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (ม.สุโขทัยธรรมาธิราช)
  • ปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตจาก 3 สถาบัน คือ
  1. ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ปี 2532
  2. ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ปี 2553
  3. ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ปี 2558

ผลงานแสดงภาพยนตร์[แก้]

  • ดรุณีผีสิง (2516)
  • เท่งป๊ะต๊ะติ๊งโหน่ง (2521)
  • สุริโยไท (2544)

การงาน[แก้]

  • อดีตสมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้ง) 4 ปี
  • อดีตสมาชิกวุฒิสภา (เลือกตั้ง—กรุงเทพมหานคร) 6 ปี
  • ผู้ผลิต พิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ ปี 2510
  • ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเมาไม่ขับ
  • ประธานมูลนิธิดำรงพุฒตาล (อนุรักษ์ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย)
  • กรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
  • กรรมการมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ,มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • ผู้ก่อตั้งและเจ้าของนิตยสาร คู่สร้างคู่สม
  • วิทยากรบรรยายในหัวข้อที่มีประสบการณ์ให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน
  • ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา(กิตติมศักดิ์)(นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา)[1]

เกียรติคุณ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "'วันนอร์' ตั้ง 'ดำรง พุฒตาล' เป็นที่ปรึกษาประธานรัฐสภา". 2023-09-01.
  2. "ชาคริต-ใหม่-ก๊อต-กรีน" คว้ารางวัลนาฏราช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 (จากเว็บไซต์ true ID)
  3. "มาแล้ว! "ต่อ-ญาญ่า-ใหม่-โอ" คว้ารางวัลนาฏราช ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565". TrueID. 2023-09-14. สืบค้นเมื่อ 2023-09-14.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๑ ข หน้า ๑๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๙, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๑๐, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]