ซัมติง
"ซัมติง" | ||||
---|---|---|---|---|
ซิงเกิลโดยเดอะบีเทิลส์ | ||||
จากอัลบั้มแอบบีโรด | ||||
ด้านเอ | "ซัมติง" | |||
ด้านบี | "คัมทูเกตเตอร์" | |||
วางจำหน่าย | 6 ตุลาคม 1969 (สหรัฐอเมริกา) 31 ตุลาคม ค.ศ. 1969 (สหราชอาณาจักร) | |||
บันทึกเสียง | แอบบีโรดสตูดิโอ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 | |||
แนวเพลง | ร็อก, บลูส์, ป็อป[1] | |||
ความยาว | 3:00 | |||
ค่ายเพลง | แอปเปิลเรเคิดส์ | |||
ผู้ประพันธ์เพลง | จอร์จ แฮร์ริสัน | |||
โปรดิวเซอร์ | จอร์จ มาร์ติน | |||
ลำดับซิงเกิลของเดอะบีเทิลส์ | ||||
|
"ซัมติง" (อังกฤษ: Something) เป็นเพลงของวงเดอะบีเทิลส์ ในปี ค.ศ. 1969 เป็นเพลงที่บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด แอบบีโรด เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ซิงเกิลหน้าเอที่จอร์จ แฮร์ริสันเขียน และถือเป็นซิงเกิลแรกของเดอะบีเทิลส์ที่มีเพลงที่มีอยู่แล้วในอัลบั้มบรรจุอยู่ด้วย ทั้งเพลง "ซัมติง" และเพลง "คัมทูเกตเตอร์" ที่อยู่ในอัลบั้ม แอบบีโรด และเพลง "ซัมติง" ถือเป็นเพลงเดียวที่แฮร์ริสันแต่งแล้วขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตอเมริกันขณะที่ยังอยู่ในวงเดอะบีเทิลส์
จอห์น เลนนอนและพอล แม็กคาร์ตนีย์ ในฐานะสมาชิกหลักผู้เขียนเพลงของวง ทั้งคู่ต่างยกย่องว่าเพลง "ซัมติง" เป็นเพลงที่ดีที่สุดที่แฮร์ริสันเขียนมา ทั้งนี้เพลงยังได้รับการตอบรับที่ดี ซิงเกิลประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ติดอันดับ 1 บนบิลบอร์ดฮอต 100 ในสหรัฐอเมริกา และยังติดท็อป 10 ในชาร์ตสหราชอาณาจักร หลังจากวงได้แตกไป ศิลปินอื่นกว่า 150 ศิลปินก็นำเพลงนี้มาทำใหม่ รวมถึง เอลวิส เพรสลีย์, เชอร์ลีย์ บาสเซย์, แฟรงก์ ซินาตรา, โทนี เบนเนตต์, เจมส์ บราวน์, ฮูลิโอ อีเกลเซียส, สโมกีย์ โรบินสัน และโจ ค็อกเกอร์ ถือเป็นเพลงที่ถูกนำมาทำใหม่มากที่สุดของวงเดอะบีเทิลส์เป็นอันดับ 2 รองจากเพลง "เยสเตอร์เดย์"[2]
การเขียนเพลง
[แก้]ในช่วงระหว่างการบันทึกเสียงอัลบั้ม เดอะบีเทิลส์ ในปี ค.ศ. 1968 (อัลบั้มมีอีกชื่อว่า ไวต์อัลบั้ม ด้วย) แฮร์ริสันเริ่มทำงานเพลงจนท้ายสุดเป็นที่รู้จักในเพลง "ซัมติง" เนื้อเพลงแรก ("Something in the way she moves/Attracts me like no other lover") ดัดแปลงมาจากผลงานเพลงของศิลปินร่วมค่ายแอปเปิ้ลอย่าง เจมส์ เทย์เลอร์[3] ที่ชื่อว่า "ซัมติงอินเดอะเวย์ชีมูฟ" (อังกฤษ: Something In The Way She Moves) โดยใช้เนื้อเป็นส่วนเติมขณะที่กำลังพัฒนาเมโลดี้ของเพลงอยู่
ต่อมาแฮร์ริสันออกมาเปิดเผยว่า "ขณะที่ผมกำลังหยุดพักระหว่างที่พอลกำลังบันทึกเสียงซ้ำอยู่ ผมก็ไปสตูดิโอว่าง ๆ แล้วเริ่มเขียนเพลง ทั้งหมดเกิดขึ้นที่นั่น ยกเว้นตรงกลางที่แยกออกมาตะหาก มันไม่ได้บรรจุอยู่ใน ไวต์อัลบั้ม เพราะว่าเราทำเพลงครบแล้วสำหรับอัลบั้มดังกล่าว"[4] เดโมของเพลงนี้ในช่วงนี้มีบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดรวมเพลง บีตเทิลส์แอนโธโลจี 3 ที่ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1996
มีหลายคนคิดว่า เพลงนี้แฮร์ริสันได้รับแรงบันดาลใจการแต่งมาจากภรรยาของเขาในเวลานั้นที่ชื่อ แพตตี บอยด์ ซึ่งบอยด์ก็ระบุเช่นกันในงานอัตชีวประวัติของเธอในปี ค.ศ. 2007 ที่ชื่อ วันเดอร์ฟูลทูไนต์ โดยเธอเขียนไว้ว่า "เขาบอกฉัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งว่า เขาเขียนเพลงนี้ให้ฉัน"[5]
อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสันเอ่ยถึงแรงบันดาลใจอื่นที่ต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 1996 เขาตอบคำถามว่าเพลงนี้เกี่ยวกับแพตตีหรือไม่ เขาตอบว่า "เปล่า ผมไม่ได้เขียนเพลงนี้ให้เธอ ผมแค่เขียนมันและมีบางคนนำมาใส่ในวิดีโอ เขาใส่ภาพของผมกับแพตตี พอลและลินดา ริงโก้และเมอรีน จอห์นกับโยโกะ พวกเขาได้ทำวิดีโอประมาณนั้น จากนั้นทุก ๆ คนก็เดาว่าผมเขียนเพลงนี้เกี่ยวกับแพตตี แต่จริง ๆ แล้วตอนที่ผมเขียน ผมนึกถึงเรย์ ชาร์ลส"[6]
แต่เดิมแฮร์ริสันตั้งใจจะเสนอเพลงให้ แจ็กกี โลแมกซ์ ที่เขาร่วมเรียบเรียงเพลงก่อนหน้าของแฮร์ริสัน ในเพลงที่ชื่อ "ซาวร์มิลก์ซี" แต่ก็ยกเลิกไป เพลงให้โจ ค็อกเกอร์ไป (เขานำเพลงของเดอะบีเทิลส์ไปทำใหม่ก่อนหน้านี้ในเพลง "วิธอะลิตเทิลเฮลป์ฟอร์มมายเฟรนส์") เพลงในเวอร์ชันของค็อกเกอร์ออกก่อนเดอะบีเทิลส์ 2 เดือน และในระหว่างบันทึกเสียงอัลบั้มชุด เกตแบ็ก ที่ในที่สุดใช้ชื่อว่า เลตอิตบี แฮร์ริสันพิจารณาว่าจะให้มีเพลง "ซัมติง" บรรจุอยู่ในอัลบั้ม แต่ท้ายสุดก็ยกเลิกไปเนื่องจากกลัวไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการบันทึกเสียงอย่างเพียงพอ ซึ่งก่อนหน้านั้นเพลง "โอลด์บราวน์ชู" ก็ไปได้ไม่ดีสำหรับวง[7] เดอะบีเทิลส์ก็ได้บันทึกเสียงในระหว่างการบันทึกอัลบั้ม แอบบีโรด ที่พวกเขาเริ่มเอาจริงเอาจังกับเพลง "ซัมติง"
การทำงาน
[แก้]"ซัมติง" บันทึกเสียงในระหว่างการทำงานชุด แอบบีโรด บันทึก 52 ครั้งใน 2 ช่วงเวลาหลักใหญ่ ๆ ครั้งแรกของการบันทึกเดโมเกิดขึ้นในวันเกิดครบรอบ 26 ปีของแฮร์ริสัน ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 ตามมาด้วยอีก 13 ชุดของการอัดตัดเสียงร้องในวันที่ 16 เมษายน ส่วนการบันทึกครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 บันทึก 39 ครั้งโดยเริ่มเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 บันทึกท่อนหลักของเพลงกับการบันทึกกว่า 36 ครั้ง จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1969 หลังจากหลายวันในการทำการบันทึกเสียงซ้ำ[8]
ต้นฉบับเพลงดั้งเดิมที่เดอะบีเทิลส์ใช้ในช่วงสุดท้ายมีความยาว 8 นาที ที่เลนนอนเล่นเปียโนในตอนจบ (ซึ่งบันทึกเสียงภายหลัง เพราะเลนนอนไม่ได้อยู่ร่วมระหว่างการบันทึกเสียงหลายครั้งแรก ๆ) ในส่วนกลางมีเคาน์เตอร์-เมโลดี้ (สอดแทรกประสานเมโลดี้) ในงานดั้งเดิม แต่ทั้งเคาน์เตอร์-เมโลดี้และเสียงเปียโนของเลนนอนก็ถูกตัดออกในตอนสุดท้าย แต่เสียงเปียโนของเลนนอนก็ไม่ได้ลบออกจนหมด บางส่วนสามารถได้ยินในท่อนมิดเดิลเอจต์ (หรือท่อนเชื่อม) โดยเฉพาะในท่อนที่เล่นลดต่ำลงเหลือบันไดเสียงซีเมเจอร์ ตัวอย่างเช่น ท่อนเชื่อมโซโลกีตาร์ของแฮร์ริสัน ส่วนเสียงเปียโนของเลนนอนที่ถูกตัดออกไป ภายหลังเป็นส่วนสำคัญในเพลง "รีเมมเบอร์" ของเลนนอน
สำหรับในวิดีโอประชาสัมพันธ์ของเพลง "ซัมติง" ถ่ายขึ้นในระยะเวลานั้น ๆ ก่อนที่จะแตกวง ซึ่งในช่วงนั้นวงได้แยกกันแล้ว ดังนั้นในส่วนวิดีโอมีภาพคลิปที่แยกกันไปของสมาชิกแต่ละครเดินที่บ้านตัวเอง รวมถึงภรรยา และนำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน[9]
องค์ประกอบ
[แก้]นักร้องนำของเพลง "ซัมติง" คือจอร์จ แฮร์ริสัน เพลงมีจังหวะความเร็วประมาณ 66 ครั้งต่อนาที และมีจังหวะต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดทั้งเพลง เมโลดี้เริ่มต้นที่คีย์ ซีเมเจอร์ ต่อเนื่องในคีย์นี้ตลอดในส่วนอินโทรและ 2 ท่อนร้องแรก จนท่อนแยก (ท่อนบริดจ์) ที่มีความยาว 8 ห้องจะเป็นคีย์ เอเมเจอร์ หลังจากท่อนแยก เมโลดี้จะกลับมาที่คีย์ซีเมเจอร์ ในท่อนโซโลกีตาร์แล้วมาท่อนร้องท่อนที่ 3 จึงถึงท่อนออกเพลง[10] และถึงแม้ว่าเดอะบีเทิลส์เริ่มทีจะพยายามทำในรูปแบบอคูสติกที่ดูคมกว่า แต่ก็ถูกกลบไปกับท่อนแทรกประสาน เดโมในเวอร์ชันอคูสติกที่มีท่อนแทรกประสานต่อมานำมาออกในส่วนหนึ่งของอัลบั้มชุด แอนโธโลจี 3 ในส่วนท่อนแทรกที่เป็นท่อนแทรกประสาน ภายหลังกลายเป็นท่อนพักของเครื่องดนตรีแทน และทำให้เพลงดูเบาลงโดยใช้เครื่องสายนำ เรียบเรียงโดยจอร์จ มาร์ติน โปรดิวเซอร์ของวงเดอะบีเทิลส์[11]
ไซมอน เลงพูดว่า ธีมของเพลงนี้น่ากังขาและคลุมเครือ[12] ริชชี อันเตอร์เบอร์เกอร์แห่งออลมิวสิก บรรยายไว้ว่า "เป็นเพลงรักที่ตรงไปตรงมาอย่างไม่แสดงความขวยเขินและซาบซึ้ง" ในขณะเดียวกัน "เพลงส่วนมากของเดอะบีเทิลส์จะมีเนื้อหาไม่โรแมนติกหรือแสดงเนื้อเพลงที่กำกวมและพูดเป็นนัย เมื่อพวกเขาเขียนเพลงรัก"[11]
การตอบรับ
[แก้]อัลบั้ม แอบบีโรด ถือเป็นอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการที่มีเพลง "ซัมติง" บรรจุอยู่ ซึ่งออกวางขายเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1969 ในสหราชอาณาจักร โดยในสหรัฐอเมริกาออกขายหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และสามารถติดชาร์ตอันดับ 1 ทั้ง 2 ประเทศ[13][14]
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 6 ตุลาคม มีการออกวางขาย "ซัมติง" ในรูปแบบซิงเกิลหน้าเอคู่ กับเพลง "คัมทูเกตเตอร์" ในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นซิงเกิลแรกของแฮร์ริสันที่เขาแต่งและติดอันดับ 1 ของวงเดอะบีเทิลส์[15]
ถึงแม้ว่าซิงเกิลจะติดชาร์ตหลังจากการออกขายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ก็เกิดความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ซิงเกิล "ซัมติง" ที่ติดชาร์ตอันดับ 1 บนชาร์ตอเมริกัน ผลการนับของยอดขายและยอดการออกอากาศที่ หน้าเอ และ หน้าบี แยกกัน ที่ตามหลักแล้วเพลงจะแยกอันดับกัน โดย "คัมทูเกตเตอร์" เป็นคู่แข่งของ "ซัมติง" ในเรื่องความนิยม และเป็นการยากลำบากที่ใน 2 เพลงนี้ของซิงเกิลจะขึ้นอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ชาร์ตบิลบอร์ดก็เริ่มรวมอันดับเพลงของทั้งหน้าเอ และหน้าบี เข้าสู่การนับผล ในซิงเกิลเดียวกัน ผลก็คือซิงเกิล "คัมทูเกตเตอร์/ซัมติง" ขึ้นเป็นอันดับ 1 บนชาร์ตอเมริกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จนกระทั่งหลุดออกจากชาร์ตไปในอีก 2 เดือนถัดมา (ส่วนในชาร์ต แคชบ็อกซ์ซิงเกิลส์ชาร์ต ที่ยังนับผลของทั้ง 2 หน้าของซิงเกิลแยกกัน เพลง "ซัมติง" ขึ้นสูงสุดอันดับ 2 ส่วนเพลง "คัมทูเกตเตอร์" ติดอันดับ 1 นาน 3 สัปดาห์) ซิงเกิลยังมียอดขายระดับแผ่นเสียงทองคำ หลังจาก 3 สัปดาห์ที่ออกวางขาย และต่อมาในปี 1999 ก็มีการปรับระดับยอดขายเป็นแผ่นเสียงทองคำขาว[15]
ในสหราชอาณาจักร "ซัมติง" ออกจำหน่ายวันที่ 31 ตุลาคม ถือเป็นซิงเกิลแรกของวงเดอะบีเทิลส์ที่เป็นเพลงของแฮร์ริสันในหน้าเอ และยังเป็นซิงเกิลแรกของวงที่มีบรรจุอยู่ในอัลบั้มแล้ว[16] "ซัมติง" ติดชาร์ตสัปดาห์แรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และไต่อันดับสูงสุดที่อันดับ 4 ก่อนที่จะตกลงไปจากชาร์ตหลังจากอยู่ในชาร์ตนานร่วม 3 เดือนหลังออกจำหน่าย ในสหราชอาณาจักร เชอร์ลีย์ บาสเซย์ นำเพลงนี้มาทำใหม่ติดอันดับสูงสุดที่อันดับ 4[9]
ถึงแม้ว่าแฮร์ริสันจะมองข้ามเพลงของเขาเอง โดยต่อมาเขากล่าวว่า "เขาเก็บเพลงนี้ไว้ราว 6 เดือนเพราะคิดว่ามันง่ายเกินไป"[17] ทั้งเลนนอนและแม็กคาร์ตนีย์ต่างก็ออกมากล่าวว่า พวกเขาคิดว่า "ซัมติง" เป็นเพลงที่ดี เลนนอนยังพูดว่า "ผมคิดว่า จริง ๆ แล้วมันดูเหมือนเป็นเพลงที่ดีที่สุดในอัลบั้ม" ขณะที่แม็กคาร์ตนีย์พูดว่า "สำหรับผมแล้ว เป็นเพลงที่ดีที่สุดที่เขาเขียนเลย"[4] ทั้งคู่เคยเมินเฉยต่อการแต่งเพลงของแฮร์ริสันก่อนหน้าการแต่ง "ซัมติง" ขณะที่เพลงที่พวกเขาแต่งเองดูเป็นจุดสนใจมากกว่า ซึ่งต่อมาเลนนอนออกมาอธิบายว่า
“ | มีช่วงน่าละอายอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อเพลงของจอร์จไม่ได้ดีขนาดนั้น และไม่มีใครอยากพูดอะไร เขาแค่ไม่ได้อยู่ทีมเดียวกับเรามานานพอ ไม่ได้ดูถูกเขาหรอกนะ เพียงแค่เขาไม่ได้ฝึกการเป็นนักแต่งเพลงมาอย่างที่เราฝึก[9] | ” |
รางวัล
[แก้]ในปี ค.ศ. 1970 ในปีเดียวกับที่เดอะบีเทิลส์ประกาศแยกตัวไป "ซัมติง" ได้รับรางวัลไอเวอร์โนเวลโลในสาขาเพลงด้านดนตรีและเนื้อร้องยอดเยี่ยม[18] เพลงยังได้รับรางวัลด้านดนตรีอีกหลายครั้งในอีกหลายทศวรรษหลังจากออก โดยเว็บไซต์บีบีซี ให้เป็นเพลงยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอันดับ 64 โดยบีบีซีกล่าวว่า ""ซัมติง" ได้แสดงให้เห็นชัดกว่าเดิม มากกว่าเพลงอื่นทั่วไปของเดอะบีเทิลส์ว่า มีนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยม 3 คน จากวงที่ดูเหมือนจะมีแค่ 2 คนที่แต่ง"[17] เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวงเดอะบีเทิลส์ยังกล่าวว่า ""ซัมติง" ได้แสดงความสำคัญให้เห็นอำนาจของจอร์จ แฮร์ริสันในฐานะผู้ผลักดันการเขียนเพลงอย่างมาก"[19] ในปี ค.ศ. 1999 องค์กรเผยแพร่ดนตรี (Broadcast Music Incorporated (BMI)) ให้ "ซัมติง" อยู่อันดับที่ 17 ของเพลงที่ถูกเล่นมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 กับการเล่นกว่า 5 ล้านครั้ง ส่วนเพลงอื่นของเดอะบีเทิลส์ที่ติดอันดับในรายชื่อคือเพลง "เยสเตอร์เดย์" และ "เลตอิตบี" ที่ทั้งสองเพลงแต่งโดยพอล แม็กคาร์ตนีย์ (ถึงแม้ว่าจะระบุเครดิตว่า เลนนอน/แม็กคาร์ตนีย์ก็ตาม) [20] ในปี 2004 นิตยสารโรลลิงสโตนยังให้เพลงนี้อยู่อันดับที่ 273 ในหัวข้อ 500 เพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล[21]
ผู้มีส่วนร่วมทำเพลง
[แก้]- เดอะบีเทิลส์
- จอร์จ แฮร์ริสัน – กีตาร์ลีดและกีตาร์ริธึม ร้องนำ
- พอล แม็กคาร์ตนีย์ – กีตาร์เบส ร้องประสาน
- จอห์น เลนนอน – กีตาร์ เปียโน
- ริงโก สตาร์ – กลอง
- ผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ
- จอร์จ มาร์ติน – เรียบเรียงเครื่องสาย
- บิลลี เพรสตัน – แฮมมอนด์ออร์แกน
การนำมาทำใหม่
[แก้]มีการนำเพลงนี้มาทำใหม่แล้วมากกว่า 150 เวอร์ชัน "ซัมติง" ถือเป็นเพลงที่ถูกนำมาทำใหม่มากที่สุดของเดอะบีเทิลส์เป็นอันดับที่ 2 รองจากเพลง "เยสเตอร์เดย์"[2] โดยเริ่มมีการนำมาทำใหม่โดยศิลปินอื่นแทบจะโดยทันทีหลังจากที่ออกโดยเดอะบีเทิลส์ โดยลีนา ฮอร์นนำมาทำใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1969 สำหรับอัลบั้มที่เธอบันทึกเสียงกับนักกีตาร์ที่ชื่อกาบอร์ ซาโบ ชื่ออัลบั้ม ลีนาแอนด์กาบอร์ ส่วนในฉบับอื่นหลังจากนั้นไม่นาน อย่างเช่นในเวอร์ชันของเพรสลีย์ (ซึ่งก็รวมอยู่ในรายการการแสดงพิเศษทางโทรทัศน์อโลฮาฟรอมฮาวาย ), ซินาตรา, ดิโอเจส์ และชาร์ลส ซึ่งแฮร์ริสันได้นึกนักร้องคนนี้ไว้ในใจเมื่อคราวที่เขียนเพลง "ซัมติง" แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาแฮร์ริสันก็ออกมาพูดภายหลังว่า เวอร์ชันที่เขาชื่นชอบที่สุดเป็นของเจมส์ บราวน์และสโมกีย์ โรบินสัน[22]
แฟรงก์ ซินาตรา ประทับใจในเพลง "ซัมติง" เป็นอย่างมาก โดยเขาเรียกเพลงนี้ว่า "เป็นเพลงรักที่ยอดเยี่ยมที่สุด" เขาร้องเพลงนี้นับร้อยครั้งในหลายคอนเสิร์ต อย่างไรก็ตามเขาก็เคยเอ่ยถึงเพลง "ซัมติง" ครั้งหนึ่งว่า เป็นเพลงที่เขียนโดย เลนนอน/แม็กคาร์ตนีย์ ที่เขาชื่นชอบที่สุดตลอดกาล (เขาไม่รู้ว่าใครแต่งเพลงนี้) และยังแนะนำเพลงนี้อยู่เป็นประจำอีกด้วย[23] แฮร์ริสันไม่รังเกียจที่ซินาตรา ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อเพลง ที่เดิมเพลงเขียนว่า "You stick around now it may show" โดยซินาตราร้องว่าเป็น "You stick around, Jack, she might show" ซึ่งแฮร์ริสันก็ยังนำเนื้อร้องในเวอร์ชันของซินาตราไปขับร้องในส่วนหนึ่งของการแสดงในทัวร์ของเขา[24]
เวอร์ชันของนักร้องคันทรีจอห์นนี ร็อดริเกซ ขึ้นติดท็อป 10 บนชาร์ตบิลบอร์ดฮอตคันทรีซิงเกิลส์ชาร์ต ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1974[25] เพลงนี้ยังปรากฏในอัลบั้มอุทิศให้วงเดอะบีเทิลส์ในปี ค.ศ. 1995 ที่ชื่อ คัมทูเกตเตอร์: อเมริกาซาลูตส์เดอะบีเทิลส์ ร้องโดยทันย่า ทักเกอร์ นอกจากนี้มิวสิกโซลไชลด์ยังเคยนำเพลงนี้มาทำใหม่ด้วย
ในปี ค.ศ. 2002 หลังจากที่แฮร์ริสันเสียชีวิต แม็กคาร์ตนีย์และอีริก แคลปตันนำเพลง "ซัมติง" มาร้องในคอนเสิร์ตที่ชื่อ "คอนเสิร์ตฟอร์จอร์จ" การขับร้องครั้งนี้ทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขาเพลงร่วมร้องป็อปยอดเยี่ยม[26] แม็กคาร์ตนีย์ยังร้องเพลงนี้โดยเล่นเครื่องดนตรียูเคเลเลเพียงอย่างเดียวในการแสดงในทัวร์ของเขาที่ชื่อ "แบ็กอินดิยูเอส" และ "แบ็กอินเดอะเวิลด์" เขายังร้องเพลงเพื่ออุทิศให้แฮร์ริสัน ในปี ค.ศ. 2008 ในคอนเสิร์ตลิเวอร์พูซาวด์ แสดงเพลงนี้ในลักษณะคล้ายกับที่แสดงใน "คอนเสิร์ตฟอร์จอร์จ" โดยเริ่มดนตรีด้วยยูเคเลเลอย่างเดียว หลังจากท่อนบริดจ์จึงเล่นเต็มวงและจบลงเหมือนกับเพลงต้นฉบับ[27][28][29] นอกจากนั้นบ็อบ ดีแลนยังร้องสดเพลงนี้เพื่ออุทิศให้แฮร์ริสันสำหรับการเสียชีวิตของเขา[30][31]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Richie Unterberger. "Allmusic review". สืบค้นเมื่อ 15 April 2011.
- ↑ 2.0 2.1 Time เก็บถาวร 2012-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Robert Sullivan, His Magical, Mystical Tour, 10 December 2001. retrieved 2 October 2008.
- ↑ MacDonald, Ian (2003). Revolution in the Head:The Beatles' Records and the Sixties (Second Revised ed.). Pimlico. p. 348. ISBN 9781844138289.
- ↑ 4.0 4.1 "Album: Abbey Road". Retrieved 30 March 2006.
- ↑ Boyd, Pattie; Penny Junor (2007). Wonderful Tonight. Harmony Books. pp. 117. ISBN 0-307-39384-4.
- ↑ Paul Cashmere (1996). "George Harrison Gets "Undercover". Retrieved 1 January 2008.
- ↑ Cross, Craig (2006). "Beatles History - 1969" เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 1 April 2006.
- ↑ norwegianwood.org เก็บถาวร 2013-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 1969: Abbey Road. retrieved 2 October 2008
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Cross, Craig (2006). "British Singles" เก็บถาวร 2015-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 30 March 2006.
- ↑ Pollack, Alan W. (1999). "Notes on 'Something. Retrieved 27 August 2009.
- ↑ 11.0 11.1 Unterberger, Richie (2006). ""Something"". สืบค้นเมื่อ 30 March 2006.
- ↑ Leng, Simon (2006). While My Guitar Gently Weeps: The Music of George Harrison. Hal Leonard. p. 41. ISBN 1-4234-0609-5.
- ↑ Cross, Craig (2006). "British Albums" เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2 April 2006.
- ↑ Cross, Craig (2006). "American Albums" เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2 April 2006.
- ↑ 15.0 15.1 Cross, Craig (2006). "American Singles" เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 30 March 2006.
- ↑ "เลิฟมีดู" และ "พลีสพลีสมี" ออกขายก่อนที่จะบรรจุอยู่ในอัลบั้ม พลีสพลีสมี แต่ "ซัมติง" ได้บรรจุอยู่ใน แอบบีโรด ก่อนที่จะออกเป็นซิงเกิล
- ↑ 17.0 17.1 "Something". Retrieved 2 April 2006.
- ↑ "The Ivor Novello Awards for the Year 1970"[ลิงก์เสีย] Retrieved 2 April 2006.
- ↑ ""Something"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-02-06. สืบค้นเมื่อ 2003-02-06.
- ↑ "Awards: The BMI Top 100 Songs". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-02-11. สืบค้นเมื่อ 2004-02-11.
- ↑ "The RS 500 Greatest Songs of All Time". Rolling Stone. 2004-12-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
- ↑ George Harrison - In His Own Words
- ↑ "The Movable Buffet: Los Angeles Times". Vegasblog.latimes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-05. สืบค้นเมื่อ 2008-10-02.
- ↑ Marck, John T. (2006). "Oh Look Out! Part 12, Abbey Road". สืบค้นเมื่อ 1 April 2006.
- ↑ Whitburn, Joel, "Top Country Songs: 1944-2005," 2006
- ↑ "Grammy Win For 'The Concert For George เก็บถาวร 2006-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2 April 2006.
- ↑ Paul McCartney Back in the US DVD review. Retrieved 22 February 2008.
- ↑ Back in the US tour fan page. Retrieved 22 February 2008.
- ↑ Back in the World tour fan page. Retrieved 22 February 2008.
- ↑ Pareles, Jon. "Dylan's After-Hours Side," New York Times. Retrieved 28 February 2007.
- ↑ Bob Dylan's official website: Nov 13, 2002 concert at Madison Square Garden setlist. Retrieved 20 September 2009.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | ซัมติง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
"เวดดิงเบลบลูส์" โดย เดอะฟิฟธ์ไดเมนชัน |
ซิงเกิลอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 (29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969 (1 สัปดาห์)) |
"นานาเฮย์เฮย์ (คิสฮิมกูดบาย)" โดย สตีม | ||
"เทรซี" โดย เดอะคัฟฟ์ลิงส์ | ซิงเกิลอันดับ 1 แคนาดา นิตยสารอาร์พีเอ็ม (15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969 - 6 ธันวาคม ค.ศ. 1969 (4 สัปดาห์)) |
"แอนด์เวนไอดาย" โดย บลัด, สเวตแอนด์เทียส์ |