คาทอลิกแบบพื้นบ้าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แท่นบูชาอย่างวูดูในวาระเฉลิมฉลองปาปาเกเดในบอสตัน มีรัศมีบรรจุแผ่นศีลสีทองตั้งอยู่ตรงกลาง
การบูชาซันตามวยร์เตหรือนักบุญมรณะของชาวเม็กซิกัน

คาทอลิกพื้นบ้าน (อังกฤษ: Folk Catholicism) เป็นศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกรูปแบบหนึ่งที่พบได้ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่นับถือนิกายนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แม้ศาสนิกชนจะนิยามตนเองว่าเป็นคริสตัง แต่ทว่าการประพฤติปฏิบัติหรือถือธรรมเนียมบางประการขัดแย้งกับหลักคำสอนหรือธรรมเนียมปฏิบัติของนิกายโรมันคาทอลิกสายหลัก

คริสตังเหล่านี้จะมีการผสานความเชื่อกับหลักปฏิบัตินอกธรรมเนียมคาทอลิก โดยมีการบูชานักบุญร่วมกับเทพเจ้านอกศาสนาคริสต์ที่บางส่วนได้แยกออกไปเป็นลัทธิต่างหาก อาทิ วูดูของเฮติ, ซันเตรีอาของคิวบา และกาดอมเบลของบราซิล ซึ่งทั้งสามลัทธินี้เป็นการผสานความเชื่อระหว่างคาทอลิกกับศาสนาพื้นเมืองของชาวแอฟริกันตะวันตก นอกจากนี้ยังมีการผสานความเชื่อแบบคาทอลิกเข้ากับศาสนาดั้งเดิมของชาวอเมริกันพื้นเมือง เช่น ชาวมายาในกัวเตมาลา และชาวเกชัวในเปรู พวกเขายืนยันว่าพวกเขาเป็นคริสตชนที่ดี แม้ว่าจะบูชาเทพเจ้านอกคริสต์ศาสนาไปด้วยก็ตาม

ในประเทศญี่ปุ่น มีคริสต์ศาสนิกชนที่ตกทอดมาแต่ยุคเอโดะอาศัยอยู่ในประเทศอย่างหลบซ่อน เรียกว่าคากูเระคิริชิตัง (ญี่ปุ่น: 隠れキリシタン) หรือคริสตังลับ พวกเขามีการผสานความเชื่อคาทอลิกเข้ากับพุทธ, ชินโต และการบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันแม้ญี่ปุ่นจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแล้ว แต่ยังมีคริสตชนบางส่วนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิกเพราะยังยึดถือศาสนาในแนวทางนี้ จึงถูกเรียกว่าฮานาเระคิริชิตัง (離れキリシタン) หรือคริสตังแปลกแยก[1][2][3]

ในประเทศเม็กซิโก มีการบูชาซานตามูเอร์เต (สเปน: Santa Muerte; en) หรือนักบุญมรณะ ซึ่งชาวเม็กซิกันให้ความเคารพนับถือในฐานะนักบุญผู้ช่วยให้รอดจากความตาย นักบุญองค์นี้จะให้พรแก่ผู้ที่ใช้ชีวิตเสี่ยงความตายหรือถูกทอดทิ้งจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชนที่มีความหลากหลายทางเพศ, อาชญากร และพ่อค้ายาเสพติด แต่ทว่านักบุญองค์นี้มิได้รับการยอมรับจากคริสตจักร[4][5] ซึ่งทางพระศาสนจักรคาทอลิกได้ออกมาประณามคติความเชื่อดังกล่าวว่าเป็น "ความเสื่อมโทรมของพระศาสนา"[6][7][8]

ในประเทศไทย คริสตังไทยสามารถลอยกระทงได้โดยไม่ถือว่าผิดหลักศาสนา แต่เปลี่ยนจากการอธิษฐานถึงพระแม่คงคา ไปเป็นอธิษฐานขอบคุณพระเจ้าที่ประทานน้ำแก่มนุษย์แทน[9] ส่วนคริสตังไทยเชื้อสายจีนสามารถไหว้บรรพบุรุษในประเพณีไหว้เจ้าได้ เพราะเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ[10] และคริสตังจีนบางนกแขวกจะมีพิธียิ้บเหนียมซึ่งเป็นพิธีปลงศพลักษณะคล้ายกับเทศกาลเชงเม้งทั้งยังมีพิธีกรรมบางประการนอกคริสต์ศาสนา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาพื้นบ้านจีนที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับศาสนาคริสต์[11] นอกจากนี้มีชุมชนกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งหนึ่งบูชาไม้กางเขนคล้องสายประคำที่ปักริมท้องนา เบื้องหน้าจัดโต๊ะบูชาสังเวยเครื่องเซ่นเพื่อให้พระเจ้าอวยพรสำหรับการเพาะปลูก อันแสดงให้เห็นถึงการผสานความเชื่อระหว่างคาทอลิกกับศาสนาผีซึ่งแต่เดิมจะบูชาโพสพแต่ที่นี้ได้เปลี่ยนไปบูชาพระเจ้าแทน[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. อดิเทพ พันธ์ทอง (24 ธันวาคม 2559). ""คาคุเระคิริชิตัน" คริสเตียนที่ซ่อนเร้นความเชื่อของตนในคราบชาวพุทธ". สโมสรศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Patrick Downes. "Kakure Kirishitan". Catholic Education Resource Center (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-29. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. Linda Sieg (19 ธันวาคม 2550). "Japan's "Hidden Christians" face extinction". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "พาไปชม ซานตา มัวร์เต "นักบุญแห่งความตาย" คัลท์ในแบบฉบับเม็กซิโก". ประชาชาติธุรกิจ. 17 กุมภาพันธ์ 2559. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "mexicano santa muerte". หมีขาว. 10 กันยายน 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-27. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. Tribune, Chicago. "'Saint Death' comes to Chicago". สืบค้นเมื่อ 8 September 2016.
  7. Garma, Carlos (10 April 2009). "El culto a la Santa Muerte". El Universal (ภาษาสเปน). Mexico City. สืบค้นเมื่อ 8 September 2016.
  8. "Vatican declares Mexican Death Saint blasphemous". BBC News. สืบค้นเมื่อ 8 September 2016.
  9. "ประเพณีลอยกระทง". แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 24 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "การไหว้เจ้า". แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 28 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ปณิตา สระวาสี (31 สิงหาคม 2561). "พิธีศพชาวจีนคาทอลิก บางนกแขวก". ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ (28 มิถุนายน 2558). "ไหว้ไม้กางเขนริมนา". ศาสนวิทยา. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]