คากูเระคิริชิตัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่พระและพระกุมารตามคติของคากูเระคิริชิตังที่พรางตามอย่างเทพีในพุทธศาสนา

คากูเระคิริชิตัง (ญี่ปุ่น: 隠れキリシタンทับศัพท์: Kakure Kirishitan; "คริสตังลับ", "คริสตังหลบซ่อน") เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ใช้อ้างอิงถึงชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างลับ ๆ หลังเกิดเหตุการณ์กบฏชิมาบาระในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1630[1][2] ที่เวลาต่อมาความเชื่อของพวกเขาได้พัฒนาต่างออกไปจากเดิมโดยมีการผสานความเชื่อนอกศาสนาเข้ามาเนื่องจากขาดการติดต่อกับโลกภายนอก โดยพวกเขาจะสักการะหรือสวดมนต์อย่างเปิดเผยหน้าแท่นบูชาของศาสนาพุทธและลัทธิชินโต รวมทั้งตั้งแท่นบูชาของพุทธและชินโตไว้ในบ้าน แต่พวกเขาลักลอบสวดมนต์ที่แท่นบูชาแบบคริสต์ในห้องลับ เรียกว่า นันโดะ และรวมกันอธิษฐานหรือทำพิธีกรรมอื่นในยามวิกาล[3]

ปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายคากูเระคิริชิตังได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่มีคากูเระคิริชิตังบางส่วนยังยึดถือแนวทางการปฏิบัติที่สืบทอดตามอย่างบรรพบุรุษต่อซึ่งถูกเรียกว่า ฮานาเระคิริชิตัง (ญี่ปุ่น: 離れキリシタンโรมาจิHanare Kirishitan) หรือ "คริสตังแปลกแยก" ปัจจุบันเหลืออยู่ในแถบหมู่เกาะโกโต จังหวัดนางาซากิ[4]

ประวัติ[แก้]

ประวัติตอนต้น[แก้]

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ หรือ จิโซ ในภาษาญี่ปุ่น เป็นโพธิสัตว์แห่งความเมตตา ถูกตัดพระเศียร เมื่อคราวกบฎชิมาบาระ

ประเทศญี่ปุ่นได้รับการเผยแผ่ศาสนาจากชาวสเปนและโปรตุเกส ที่มีการติดต่อค้าขายกันมายาวนานตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฟรันซิสโก คาเบียร์ได้เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในปี ค.ศ. 1549 มีชาวญี่ปุ่นรับเชื่อถึง 200 คน และหลังจากนั้นเกือบหนึ่งศตวรรษชาวคริสต์ในญี่ปุ่นก็ทวีจำนวนขึ้นถึง 300,000 คน พ่อค้าต่างชาติล้วนมีสัมพันธ์อันดีกับหมอสอนศาสนา สร้างความไม่พอใจแก่เหล่าชนชั้นปกครองญี่ปุ่น[5] ต่อมาไดเมียวและทหารอาสาหลายคนที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ กระทำการข่มเหงรังแกผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและลัทธิชินโต[6] ด้วยการข่มเหงกดดันให้นักบวชออกจากวัด บังคับสึกพระแต่งงาน บังคับให้เปลี่ยนศาสนา ลอบสังหารพระ หรือแม้แต่การเผาทำลายวัด[7] โดยนักบวชคณะเยสุอิตมีส่วนร่วมด้วย[6]

ต่อมามัตสึกูระ มัตสึอิเอะ (松倉勝家) ไดเมียวแคว้นชิมาบาระ มีการเรียกเก็บภาษีในราคาสูงกับบุคคลที่นับถือศาสนาคริสต์ และทำการข่มเหงคริสต์ศาสนิกชน เมื่อรวมกับปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงก่อให้เกิดกบฏชิมาบาระขึ้น ซึ่งเดิมเป็บกบฏของชาวนา แต่ต่อมาคริสต์ศาสนิกชนเข้าร่วมก่อกบฏด้วยจนทำให้เหตุบานปลาย ที่สุดหลังกบฏถูกปราบปราม โทกูงาวะ อิเอยาซุ (徳川家康) ซึ่งเป็นโชกุนจึงสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่นั้น[8] มีการขับไล่หมอสอนศาสนาออกจากประเทศในศตวรรษที่ 17 ส่วนคริสตชนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาก็หลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนที่ยังอยู่ก็ถูกบังคับให้ละทิ้งศาสนา บ้างก็ถูกเผาทั้งเป็น บ้างก็ถูกตรึงกางเขน รีดนาทาเร้น หรือลงโทษอย่างทารุณต่าง ๆ นานา ซึ่งศาสนิกชนที่ยอมตายนี้อาจมีตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสนคน[9] และทำให้มิชชันนารีไม่ได้เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในญี่ปุ่นยาวนานถึง 200 ปี[10]

การผสานความเชื่อ[แก้]

รูปปั้นพระแม่มารีย์อำพรางในรูปลักษณ์ของเจ้าแม่กวนอิม
วิญญาณของคริสตังที่ถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรม ตามความเชื่อญี่ปุ่น

ชาวคริสต์ที่ยังหลงเหลือในญี่ปุ่นถูกเรียกว่า "คริสตังใต้ดิน" (ญี่ปุ่น: 潜伏キリシタンโรมาจิSempuku Kirishitan)[11] เพราะชนกลุ่มนี้ยังคงนับถือศาสนาคริสต์อย่างลับ ๆ โดยจะปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในห้องลับภายในบ้านของตนเอง พร้อมกับอำพรางหรือแสร้งว่านับถือศาสนาพุทธหรือชินโต อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปโดยเฉพาะในแถบภาคใต้ พวกเขาต้องเข้าร่วมพิธีเหยียบแผ่นฟูมิเอะ คือแผ่นจำลองรูปพระเยซูหรือแม่พระเพื่อพิสูจน์ศรัทธาว่าไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชนเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเข้าสู่ระบบดันกะ (檀家制度) ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต้องลงทะเบียนขึ้นสังกัดกับวัดพุทธ พวกเขาต้องปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนไปพร้อม ๆ กับเข้าร่วมพิธีกรรมของลัทธิชินโต[12]

เมื่อเวลาผ่านไป คริสตังลับที่ไม่ได้รับคำสอนจากมิชชันนารีและบาทหลวงมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงเริ่มดัดแปลงประเพณีขึ้นใหม่ในรูปแบบของตนเองจนมีเอกลักษณ์พิเศษ คือการผสมสานประเพณีพุทธ คริสต์ และชินโต เข้าด้วยกัน[13] อย่างเช่น รูปเคารพของบรรดานักบุญในคริสต์ศาสนา ได้ถูกแปลงรูปให้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปและรูปของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระแม่มารีย์ที่ถูกพรางให้เหมือนเจ้าแม่กวนอิม เรียกว่า มาริอะคันนง (ญี่ปุ่น: マリア観音โรมาจิMaria-Kannon)[5][14] มีการก่อสร้างศาลเจ้าคาเรมัตสึเพื่ออุทิศแก่บาทหลวงโปรตุเกสที่มรณภาพเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธ ชินโต และคริสตังลับ[13] พวกเขานำตราสัญลักษณ์รูปคัมภีร์สองเล่มไขว้กันของศาลเจ้ากิอง มาดัดแปลงเป็นสัญลักษณ์ของตนเอง เพราะดูคล้ายกับไม้กางเขน สัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์[15] พิธีกรรมสารภาพบาปหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบาทหลวงถูกตัดทิ้งไป[13] นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงคำสวดมนต์ของตนเองให้มีท่วงทำนองคล้ายกับบทสวดมนต์ในศาสนาพุทธ[16] เรียกว่า โอราโช (おらしょ, มาจากคำละติน Oratio)[13][11] ซึ่งยังคงรักษารูปคำเดิมที่ยังไม่แปลจากภาษาละติน ภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ปะปนกับคำญี่ปุ่น[13] ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลถูกถ่ายทอดในลักษณะของมุขปาฐะเนื่องจากหวาดเกรงว่าทางการจะริบพระคัมภีร์ฉบับตีพิมพ์ไปเสีย การดำรงอยู่ของชุมชนชาวคริสต์ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำที่เป็นที่พึงพาได้ เนื่องจากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นมีการกวาดล้างนักบวชคาทอลิกอย่างกว้างขวาง[1] คริสตังลับบนเกาะอิตสึกิสามารถสวดหรือขับร้องได้เต็มที่ ขณะที่คริสตังลับในซาโตเมะทำได้เพียงอธิษฐานอย่างเงียบ ๆ เพราะเกรงจะถูกจับได้ว่าเป็นคริสต์[13] อย่างเช่นบทสวดวันทามารีย์จะมีความแตกต่างจากภาษาละตินดังนี้[4]

ละติน: Ave Maria gratia plena dominus tecum benedicta...
ญี่ปุ่น: Ame Maria karassa binno domisu terikobintsu...

คริสตังลับจะมีการผสมผสานความเชื่อของพุทธและชินโตเข้ากับคริสต์มากขึ้น ในกรณีชาวคริสตังในซากิตสึจะนับถือเทพไดโกกูเต็ง (大黒天) หรือเอบิซุ (恵比須) เพราะคล้องกับคำว่า Deus ซึ่งแปลว่าพระเป็นเจ้า เพื่อขอให้จับปลาได้มาก ๆ พวกเขาบูชาลวดลายบนหอยนางรมและหอยอื่น ๆ เพราะมีลวดลายเหมือนพระแม่มารีย์ มีพิธีการถวายเนื้อปลาบนแท่นบูชาตามธรรมเนียมพุทธ และเมื่อไปศาลเจ้าชินโต ก็จะสวดภาวนาด้วยบท อาเม็งริยูซุ (あんめんりゆす, มาจาก Amen Deus หรือ Jesus)[12] ในเรือนของคริสตังลับจะมีแท่นบูชาแบบพุทธและชินโต และจะมีห้องลับ เรียกว่า นันโดะ (納戸) สำหรับเก็บศาสนวัตถุที่เรียกว่า นันโดกามิ (納戸神) เพื่อเก็บศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาอย่างลับ[17]

ชาวคริสตังลับปรากฏอีกครั้งเมื่อเบอร์นาร์ด เพอตีฌ็อง (Bernard Petitjean) นักบวชคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ได้ทำการก่อสร้างโบสถ์โออูระในนางาซากิเมื่อ ค.ศ. 1865 ชาวคริสต์บางส่วนได้ออกมาปฏิบัติศาสนกิจอย่างเปิดเผย และหลังปี ค.ศ. 1873 ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูเมจิได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา คริสตังลับถูกเรียกว่า "มูกาชิคิริชิตัง" (ญี่ปุ่น: 昔キリシタンโรมาจิMukashi Kirishitan) หรือ "คริสตังโบราณ" ซึ่งไม่เรียกเพียงแต่ชาวคริสต์พื้นเมืองแถบคีวชูเท่านั้น หากแต่รวมชาวคริสต์ชนบทจากภูมิภาคอื่น ๆ ในญี่ปุ่นด้วย[1]

ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ยอมรับแนวทางการปฏิบัติคริสต์ศาสนาแบบใหม่เหล่านี้เลิกหลบซ่อนตัวหลังจากที่ได้รับเสรีภาพในการนับถือศาสนา และได้เข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิก หลังประกาศว่าแนวทางเดิมที่ตนนับถือมานั้นไม่ใช่แนวทางดั้งเดิมที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวคริสต์บางส่วนที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิก คนกลุ่มหลังนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "ฮานาเระคิริชิตัง" (ญี่ปุ่น: 離れキリシタンโรมาจิHanare Kirishitan) หรือ "คริสตังแปลกแยก"[1] ซึ่งปัจจุบันศาสนิกชนแปลกแยกนี้ พบที่ย่านอูรากามิในเมืองนางาซากิ และหมู่เกาะโกโต[2] โดยให้เหตุผลว่าต้องการรักษาศาสนาดั้งเดิมของบรรพชนไว้[18] แต่เพราะการปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรมทางศาสนาที่ยุ่งยาก คริสตังลับบางส่วนก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรือชินโตแทน[11][19]

ฮานาเระคิริชิตังในปัจจุบัน[แก้]

ศาลเจ้าคาเรมัตสึ และหินอธิษฐาน สถานที่สำคัญทางศาสนาของคากูเระคิริชิตัง

ตามธรรมเนียมของฮานาเระคิริชิตัง เด็กผู้ชายจะเรียนรู้การสวดภาวนาและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจากครอบครัว โดยมีลักษณะสืบทอดศาสนาแบบพระสงฆ์ศาสนาพุทธของญี่ปุ่นคือเป็นแบบปุโรหิต แต่ละบ้านจะมีการสวดไม่เหมือนกันซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานบทสวดทั่วไปเลย และนักบวชขาดความรู้ด้านบทสวดเช่น พระบิดา (Our Father), วันทามารีย์ (Hail Mary), วันทาพระราชินี (the Salve Regina) และบทสวดพื้นฐานอื่น ๆ[10] รวมทั้งไม่เข้าใจบทสวดที่พวกเขาท่องกันมาเลยแม้แต่น้อยและไม่มีทีท่าว่าจะสนใจด้วย โดยพวกเขาสนใจด้านจิตวิญญาณมากกว่าประวัติศาสตร์หรือเทววิทยา[10] พวกเขาจะเก็บเหรียญหรือภาพแขวนรูปนักบุญไว้ในตู้และจะนำออกมาเฉพาะในวันพิเศษ พิธีกรรมสารภาพบาปหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่กระทำโดยบาทหลวงจะขาดหายไป แล้วแทนที่ด้วยการบูชาบรรพบุรุษตามธรรมเนียมพุทธ และพิธีกรรมทำให้บริสุทธิ์แบบชินโต[20] หากทายาทของพวกเขาเติบโตขึ้นอาจไม่สนใจ หรือย้ายออกจากแหล่งเดิมจนหมด กอปรกับอัตราการเกิดต่ำของญี่ปุ่น ทำให้ฮานาเระคิริชิตังลดจำนวนลงและขาดคนรับช่วงต่อ[9][13]

ขณะที่ฮานาเระคิริชิตังกำลังจะหมดไป ชาวเกาะอิกิตสึกิที่รัฐบาลญี่ปุ่นมองข้ามมาตลอดได้แสดงตัวตนในปี ค.ศ. 1980 โดยพวกเขาการแสดงออกด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ การแสดงละครผ่านนิทานพื้นบ้าน หรือการสร้างรูปปั้นทางศาสนาที่ก่อนหน้านี้พวกเขากระทำกันอย่างหลบซ่อนมาตลอด เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1981 ทรงสวมกอดชาวคากูเระคิริชิตังสี่คนที่เฝ้ารับเสด็จ แต่การปรากฏตัวของคากูเระคิริชิตังนั้น คือต้องการให้ทุกคนทราบว่าพวกเขามีตัวตนจริง และไม่ประสงค์จะเข้าร่วมศาสนจักรโรมันคาทอลิก[3] แม้จะมีวัยรุ่นที่มีบรรพชนเป็นคริสตังลับมารับศีลล้างบาปกับพระองค์ แต่ก็มีอยู่น้อยคนนัก[21]

คริสตัล วีลัน (Christal Whelan) นักมานุษยวิทยาได้พบกลุ่มฮานาเระคิริชิตังในหมู่เกาะโกโต ซึ่งศาสนิกชนเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากคากูเระคิริชิตังที่ลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ปัจจุบันในหมู่เกาะนี้เหลือนักบวชเพียงสองคนซึ่งทั้งสองมีอายุกว่า 90 ปีและไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ขณะที่สัตบุรุษส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่มีนักบวชสืบทอดพระศาสนาแนวทางนี้อีก[22] ปัจจุบันประชากรบนเกาะอิกิตสึกิมีอยู่ 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีประชากรลดลงเรื่อย ๆ ชิเงโอะ นากาโซโนะ ภัณฑารักษ์บนเกาะอิกิตสึกิระบุว่าคนที่ยังเป็นคากูเระคิริชิตังมีอยู่ 500 คน จากทั้งหมดหกกลุ่มบนเกาะ ซึ่งมีศาสนิกชนราว 2,000 คน จากทั้ง 20 กลุ่ม เมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านี้[20] โดยมากพวกเขากระทำพิธีกรรมแบบส่วนตัว ไม่ค่อยรวมกลุ่มกันอย่างเก่าก่อน[17]

คัมภีร์ทางศาสนา[แก้]

คากูเระคิริชิตังมีคัมภีร์ทางศาสนา เรียกว่า เท็งจิฮาจิเมะโนะโคโตะ (天地始之事, "จุดเริ่มต้นของสวรรค์และโลก") ที่ใช้เล่าเรื่องราวความเป็นมาตามเทววิทยาศาสนาคริสต์ของกลุ่มคริสตังลับ มีการแปลลงหนังสือ The Beginning of Heaven and Earth: The Sacred Book of Japan’s Hidden Christians ("จุดเริ่มต้นของสวรรค์และโลก : คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของคริสตังลับญี่ปุ่น") โดยคริสตัล วีลัน (Christal Whelan) นักมานุษยวิทยา โดยแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 15 บท ตั้งแต่การสร้างโลก เรื่องของอาดัมและเอวา เรื่องน้ำท่วมโลก ชีวิตของนางมารีย์พรหมจารีย์ การประสูติของพระเยซู การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู และวันสิ้นโลก[23] ส่วนบทที่ 15 นั้นมีเนื้อหาที่แปลกประหลาดผิดไปจากเรื่องก่อนหน้า แต่กลับถูกรวบรวมไว้ในคัมภีร์นี้ด้วย[24] อย่างไรก็ตามเนื้อหาใน เท็งจิฮาจิเมะโนะโคโตะ มีลักษณะเป็นอไญยนิยม แลดูเป็นนิทานปรัมปราที่สุด[23] ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากศาสนาพุทธที่ปรากฏอยู่เป็นอันมาก[23][25][24]

  • บทที่ 1 จุดเริ่มต้นของสวรรค์และโลก
เบื้องต้นกล่าวถึง เดอูซุ (พระเป็นเจ้า) ได้รับการบูชาเป็นพระเจ้าแห่งสวรรค์และโลก สร้างสรรค์มนุษยชาติและทุกสรรพสิ่ง เดอูซุมีหลายรูปแบบ และสร้างสวรรค์ไว้ 12 แห่ง ได้แก่ เบ็มโบะ (นรก), มัมโบะ, โอริเบเต็ง, ชิได, โกได, พัปปะ, โอโรฮะ, คนซูตันชิ, โฮระ, โคโรเตรุ, พาไรโซะ และโกกูรากุ จากนั้นก็กล่าวถึงเรื่องราวของ อาดัน (อาดัม) กับ เอวะ (เอวา) มนุษย์คู่แรก วันหนึ่งเมื่ออาดันกลับขึ้นเรือน เอวะก็นำผลไม้มาให้ อาดันรับไว้ในมือและหยิบกินเข้าไป จากนั้นก็มีเสียงดังกังวาลน่าขนลุกขึ้นมาว่า "เฮ้ย! อาดัน มันจะเกิดเรื่องร้าย" นั่นเป็นเสียงของเดอูซุ อาดันสั่นเทาด้วยความกลัว และพยายามขย้อนผลไม้นั้นออกมา แต่พยายามเท่าไรผลไม้ก็ไม่ออกมาสักที สุดท้ายทั้งคู่ก็สูญเสียรัศมีแห่งสวรรค์ และตกจากสวรรค์ ไม่ว่าจะร้องเพลงสรรเสริญเดอูซุเท่าใด ร้องไห้เสียใจอีกพันหนก็ไม่มีประโยชน์อันใด เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของการสวด โอราโช[23]
  • บทที่ 2 ผลไม้ปีศาจเหวี่ยงออกนอกสวรรค์
เป็นเรื่องราวของบุตรอาดันและเอวะ ซึ่งไม่เชื่อเรื่องรูปปั้นสิงโตสุนัขหน้าวิหาร ที่เชื่อกันว่าหากรูปปั้นนี้มีตาสีแดง ก็จะเกิดคลื่นสึนามิถล่ม เด็ก ๆ บางคนคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระจึงเอาสีแดงไปทา ครั้นเมื่อ พัปปะ มารูจิ (โนอาห์) เห็นเช่นนั้น เขาก็พาลูก ๆ ขึ้นเรือแคนูที่เตรียมไว้ (ไม่มีสัตว์บนเรือ) สำหรับหลบหนีเมื่อเกิดน้ำท่วมโลก และกล่าวสรุปว่าความฉิบหายที่เกิดขึ้นมาจากสามสิ่ง คือ ความทะเยอทะยาน ความโลภ และการเห็นแก่ตัว[23]
  • บทที่ 3 พระกายเดอูซุเพื่อความรอดของมนุษย์
เป็นเรื่องราวของ ซันตามารูยะ (พระนางมารีย์พรหมจารี) โดยระบุว่าเมื่อเธอมีอายุได้ 12 ปี ก็ได้รับคำพยากรณ์ว่าจะมีกษัตริย์มาขอซันตามารูยะเป็นบาทบริจาริกาโดยการล่อลวงด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาล แต่เธอไม่สนใจ และกล่าวไปว่า "สมบัติของพระองค์เป็นของไม่จีรัง เมื่อพระองค์ใช้มันหมดแล้วก็หมดไป พวกมันก็ไร้ประโยชน์ แต่ตอนนี้ ฉันจะแสดงพลังบางอย่างของฉันให้พระองค์ดู" จากนั้นซันตามารูยะก็มองไปบนฟ้า พร้อมกับกดฝ่ามือเข้าหากัน โดยรวบรวมพลังทั้งหมดไปรวมอยู่จุดศูนย์กลางของคำอธิษฐาน ทันใดนั้นมังสาหารมากมายทั้งหลายก็ปรากฏขึ้นเป็นที่ประจักษ์ จากนั้นเธอใช้พลังพิเศษให้หิมะตกลงมาในแผ่นดินที่ร้อนที่สุด ในตอนท้ายซันตามารูยะได้นั่งเกี้ยวขึ้นไปบนสวรรค์[23]
  • บทที่ 4 กษัตริย์สวรรคต
เป็นเรื่องราวของ ซันตามารูยะ ที่ได้พูดคุยกับ เดอูซุ บนสวรรค์ เกี่ยวกับแผนการที่พระองค์ไปโลกมนุษย์ โดยใช้ครรภ์อันบริสุทธิ์ของซันตามารูยะเพื่อลงไปเกิดเป็นมนุษย์ ซันตามารูยะจึงทูลขอเดอูซุไว้ว่า "...โปรดให้เราใช้ร่างกายที่อ่อนเยาว์และสดใสตามพระประสงค์ด้วยเถิด" เมื่อซันตามารูยะกลับไปยังพื้นโลก เทวทูตมูริยาอาริกันจิโยะ (กาเบรียล) แปลงเป็นผีเสื้อบินเข้าไปในปากของซันตามารูยะ จากนั้นเธอก็ตั้งครรภ์ อิซาเบรูนะ สหายของซันตามารูยะก็กล่าวว่า "วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใด ๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก" เมื่อได้ยินเช่นนั้นซันตามารูยะก็ตอบไปว่า "ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้" จึงเป็นที่มาของบทสวดวันทามารีย์ และบทข้าแต่พระบิดา[23]
  • บทที่ 5 ซันตามารูยะระทมทุกข์
เป็นเรื่องราวตอนต่อมาของ ซันตามารูยะ เมื่อตั้งครรภ์ เธอจึงกลับไปหาพ่อแม่ แต่พ่อแม่โกรธที่เธอท้องไม่มีพ่อและเกรงว่ากษัตริย์จะพิโรธ จึงไล่เธอออกจากบ้าน เธอต้องไปอาศัยตามบ้านคนแปลกหน้าไปเรื่อย ๆ จนเดินทางไปถึงเมืองเบเร็ง (เบธเลเฮม) และได้กำเนิด จิยูซุคิริฮิโตะ (พระเยซู) มหาบุรุษผู้บริสุทธิ์ในคอกปศุสัตว์ท่ามกลางความหนาวเย็น พระกายของพระเยซูเสี่ยงอันตรายต่อความหนาวเย็น แต่มีม้าและวัวยืนรายรอบให้ความอบอุ่นอยู่ ถือเป็นเมตตาอันยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ในทุกวันพุธจึงห้ามมิให้บริโภคเนื้อสัตว์ใด ๆ เพื่อระลึกถึงการประสูติของพระเยซู วันหนึ่งซันตามารูยะได้เดินทางไปบ้านหญิงคนหนึ่งที่มีบุตรป่วย ซันตามารูยะขอให้บุตรของตนให้อ่างอาบน้ำเดียวกันกับบุตรของหญิงนั้น เบื้องต้นหญิงนั้นปฏิเสธเพราะเกรงว่าพระเยซูจะติดโรค ครั้นซันตามารูยะคะยั้นคะยอเข้าจึงยอมให้เด็กทั้งสองลงอ่างอาบน้ำดังกล่าวด้วยกัน ก็เกิดอัศจรรย์ว่าบุตรของหญิงนั้นหายจากโรคเป็นปลิดทิ้ง[25] เด็กคนนี้จะปรากฏอีกครั้งในปลายพระชนม์ชีพของพระเยซู[24]
  • บทที่ 6 ห้าปริศนาแห่งอรุณรุ่ง
พระเยซูในวัยก่อนวัยรุ่นได้ปลีกตัวออกไปจากบ้านสามวันสามคืน เพื่อไปศึกษาพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนากับพระอาจารย์ชื่อ กากูจูรัง โดยพระอาจารย์ได้สอนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความตายแก่ลูกศิษย์ จากนั้นก็ใช้การสอนแบบปุจฉาวิสัชนา พระเยซูได้ตอบไว้ตอนหนึ่งว่า "โลกห่างจากสวรรค์ 80,000 โจ (โจ = ราว 3 หลา) พระพุทธเจ้าที่ท่านบูชาอยู่ เขาเรียกว่าเดอูซุเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ พระพุทธเจ้าได้แนะทางรอดแก่มนุษย์ตั้งแต่ภัยยังมาไม่ถึง พระพุทธเจ้าองค์นี้สร้างสรรค์สวรรค์และโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ สวรรค์เรียกว่า พาไรโซะ ทรงสร้างมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรที่พระพุทธเจ้าองค์นี้ทำไม่ได้ ตอนที่พระองค์สร้างมนุษย์ทรงเป่าลมหายใจด้วยพระองค์เอง แต่มนุษย์ถอนหายใจมาก เลยเกิดลมพิษ ลมนี้รวมกันมากเข้าก็กลายเป็นพายุไต้ฝุ่น ก่อความพินาศแก่ต้นไม้ เมล็ดพืชแทบสูญพันธุ์ แต่พระพุทธเจ้าแห่งสวรรค์ทรงหยุดมันไว้ แม้ว่าจะเสียหายไป 75 ริ (ริ = 2.44 ไมล์) ก็ตาม"[25] ด้วยคำตอบนี้ ทำให้ศิษย์ของกากูจูรังพากันติดตามพระเยซู ส่วนกากูจูรังได้เปลี่ยนสถานะจากอาจารย์ไปเป็นสาวกของพระเยซู และติดตามพระเยซูจนถึงเมืองโรมะ (โรม)[25]
  • บทที่ 7 ตามหาพลิกแผ่นดิน
กษัตริย์โยโรเต็ตสึแห่งเบเร็ง มีพระราชโองการให้สังหารเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเจ็ดขวบทั่วอาณาจักร มีเยาวชนสังเวยชีวิตไป 44,444 คน เมื่อพระเยซูทราบเข้า พระองค์เสด็จไปในป่าเซเซะมารูยะ และรอพระบัญชาจากเดอูซุ เดอูซุกล่าวว่า เพื่อประโยชน์แก่ผู้คนที่ตายไปแล้ว พระเยซูจะต้องได้รับความทรมานและความเจ็บปวดแทน[25] สาวกคนหนึ่งของพระเยซูคือ จูดัตสึ (ยูดาส อิสคาริโอท) แจ้งเรื่องราวและที่อยู่ของพระเยซูแก่กษัตริย์โยโรเต็ตสึเพราะหวังสินจ้าง พระเยซูทรงทราบอยู่แล้ว เพราะทรงกล่าวไว้ว่า "คนที่กินข้าวกับซุปทุกเช้าคือคนที่จะทรยศฉัน" หลังพระเยซูถูกจับ จูดัตสึก็มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป คือมีจมูกใหญ่ขึ้นและลิ้นยาวใหญ่ล้นปาก เหล่าสาวกของพระคริสต์พากันก่นด่าจูดัตสึว่า "ไอ้สารเลว" ที่สุดจูดัตสึฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ[25]
  • บทที่ 8 โยโรเต็ตสึกุมตัวผู้ศักดิ์สิทธิ์
กษัตริย์โยโรเต็ตสึ ส่ง พนชะ และ พิโรโตะ พร้อมกองทัพไปยังเมืองโรมะเพื่อไปจับกุมพระเยซู ระหว่างที่กำลังถูกล้อมจับ พระเยซูเสียใจที่ จูดัตสึ หักหลังพระองค์ พระเยซูถูกคล้องเชือกที่คอและแขนทั้งสองข้างพากลับไปเมืองเบเร็ง ขณะอยู่ต่อหน้าโยโรเต็ตสึ พระเยซูถูกทรมานด้วยการนำไม้ไผ่มาตีจนกระดูกหัก และนำของเหลวรสขมและเผ็ดกรอกใส่พระโอษฐ์พระเยซู จากนั้นก็สวมมงกุฎที่ทำจากเหล็กจนพระโลหิตอาบท่วมพระพักตร์ จากนั้นก็มีพระราชโองการให้นำพระเยซูไปตรึงกางเขนบนเขาคารูวาริว (เนินเขากัลวารีโอ)[25]
  • บทที่ 9 ขึ้นเขาคารูวาริว
ระหว่างทางขึ้นเขาคารูวาริว พระเยซูทรงพบกับสตรีชื่อว่า เบโรนิกะ (เวโรนีกา) เมื่อนางเห็นพระเยซูก็อุทานว่า "ช่างน่าสมเพชเสียนี่กระไร" เธอจึงนำผ้ามาซับหยาดพระโลหิตบนพระพักตร์ และถวายน้ำดื่มให้พระเยซู พระเยซูกล่าวขอบคุณว่า "ฉันไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร แต่วันหนึ่งฉันจะกลับมาช่วยคุณ" แต่เบโรนิกะเห็นว่าหากเก็บผ้าซับพระพักตร์พระเยซูเอาไว้จะเป็นอัปมงคล จึงนำผ้านั้นถวายโบสถ์ซันตะเอกิเร็นจะ ในช่วงเวลาที่กำลังจะตรึงกางเขน ทรงพบกับอาชญากรคนหนึ่งซึ่งจะถูกตรึงกางเขนพร้อมกัน ชายคนนั้นคือเด็กที่อาบน้ำร่วมอ่างกับพระเยซูจนหายจากโรคร้าย แต่เมื่อเติบใหญ่ เขากลับเป็นคนชั่ว ทั้งยังมีชะตากรรมที่เขาได้พบกับพระเยซูอีกครั้งในบั้นปลายของชีวิต[24]
  • บทที่ 10 เงินมาตาบอด
เป็นเรื่องราวการทรมานของพระเยซูซึ่งกินเวลานาน เพราะไม่มีทหารคนใดนำหอกแทงพระเยซูได้เนื่องจากเห็นภาพลวงตา กระทั่งมีชายตาบอดผ่านมาพอดี ทหารนั้นจึงให้ชายตาบอดนั้นเอาหอกแทงพระเยซูโดยมีเงินเป็นสินจ้าง ชายตาบอดซึ่งมองไม่เห็นภาพลวงตาจึงแทงเข้าที่พระกายของพระเยซู พระโลหิตของพระคริสต์กระเซ็นเข้าตาของชายตาบอด ตาของเขาทั้งสองข้างก็พลันเปิดขึ้นมองเห็นได้อย่างอัศจรรย์ แต่ชายคนนี้ได้รับคำสาปของพระเยซู หลังเขารับสินจ้างมา เขาก็กลับไปตาบอดเหมือนเดิม ในตอนจบของบทนี้เล่าถึงซันตามารูยะ ร่ำไห้จวนขาดใจแทบพระบาทพระเยซู จากนั้นพระศพถูกใส่ในโลงหิน และฝังลงหลุม[24]
  • บทที่ 11 คิรินโตะ
เป็นเรื่องราวการฟื้นพระชนม์ของพระเยซู โดยพระเยซูประทับข้างเดอูซุเสด็จมายังโบสถ์ซันตะเอกิเร็นจะเพื่อสั่งสอนสาวกชื่อ พัปปะ เรื่องความรอดเป็นเวลา 40 วัน แสดงพระธรรมเทศนาอีก 10 วัน และเสด็จกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ในวันที่ 50 พร้อมกับซันตามารูยะ ซึ่งสื่อถึงเรื่องตรีเอกภาพ[24]
  • บทที่ 12 การคัดสรรของพระผู้ศักดิ์สิทธิ์
เป็นบทสั้น ๆ กล่าวถึงเด็ก ๆ ที่ถูกกษัตริย์โยโรเต็ตสึแห่งเบเร็งสังหาร รวมถึงตัวละครอื่น ๆ ที่พระเยซูเลือกไว้ว่าทั้งหมดได้ไปสวรรค์เช่นเดียวกับเดอูซุ พระเยซู และซันตามารูยะ[24]
  • บทที่ 13 ก่อตั้งองค์กร
อธิบายถึงผู้คุมวิญญาณที่เฝ้ารอผู้เข้าสู่ความตาย[24]
  • บทที่ 14 การทำลายโลกของเรา
มีการอธิบายถึงวันสิ้นโลก โดยจะมีกรอบระยะเวลา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยเดอูซุจะเป็นผู้พิพากษาว่าใครควรขึ้นสวรรค์ และใครควรตกนรก โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า "...คนที่รับศีลล้างบาปมาแล้วจะได้พบกับเดอูซุที่พาไรโซะ ความดีงามทั้งหลายนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่าทุกคนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า"[24]
  • บทที่ 15 ไม่มีชื่อเรื่อง
เป็นเรื่องราวของเพื่อนสองคนที่ทำสัญญากันว่าหากใครคนใดคนหนึ่งตายไปก่อนก็จะปรากฏตัวเพื่อแจ้งข่าวกับเพื่อนภายในสามวัน ปรากฏว่าหนึ่งในนั้นเสียชีวิต แม้จะใช้เวลาเกินสามวัน แต่เขาก็ปรากฏตัวและยังมาติดต่อกับเพื่อน[24]

พิธีกรรมและความเชื่อ[แก้]

พระพุทธรูปที่มีไม้กางเขนซ่อนไว้หลังองค์พระ

ในอดีตชาวคริสตังลับเป็นชนชั้นชาวนาชาวไร่ไม่มีการศึกษา จึงท่องจำบทสวดทางศาสนาต่อ ๆ กันมา[3] เรียกว่า โอราโช (おらしょ, มาจากคำละติน Oratio) ซึ่งดัดแปลงให้มีสำเนียงการสวดเหมือนชาวพุทธ[13][11] และสวดภาวนา อาเม็งริยูซุ (あんめんりゆす, มาจาก Amen Deus หรือ Jesus) เมื่อไปศาลเจ้าชินโต[12] ในชุมชนของพวกเขาจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ เรียกว่า คูมิ () แต่ละกลุ่มจะมีผู้นำ เรียกว่า จิฮิซามะ (ジヒサマ) ประกอบด้วยหัวหน้า รองหัวหน้า และสาวกอย่างละคน จิฮิซามะจะทำพิธีล้างบาป พิธีศพ และนำพิธีสวดภาวนาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น วันคริสตสมภพ เรียกว่า โกตันโจ (ご誕生) โดยอ้างอิงปฏิทินพิธีกรรมเรียกว่า โอโจ (お帳) ที่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งห้ามนับถือศาสนา[12] นอกจากนี้ยังมีพิธีโอมิซูโทริ (お水取り) จะกระทำบนเกาะนากาเอโนชิมะ โดยวางจานใส่สุราแทนเหล้าองุ่น (สื่อถึงพระโลหิตพระคริสต์) และปลาดิบซาชิมิแทนแผ่นปัง (สื่อถึงพระกายพระคริสต์) สวดภาวนาแล้วใช้ใบไม้รองน้ำที่ไหลมาตามร่องหินบรรจุลงในไห โดยน้ำดังกล่าวถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เป็น พิธีล้างบาปสำหรับทารก วันคริสต์มาส ใช้พรมหิ้งพระ ใช้พรมบ้านหลังมีพิธีศพ หรือใช้ไล่เสนียดจัญไรเมื่อมีคนต่างศาสนาเข้ามาในเรือน[17]

พิธีกรรมส่วนใหญ่ผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ มีการบูชาบรรพบุรุษ และพิธีกรรมชินโต[13] ชาวคากูเระคิริชิตังคนหนึ่งกล่าวว่า "เราเอ่ยนามพระแม่มารีย์หลายครั้ง แต่เรามิได้สวดอ้อนวอนท่าน และเราก็ไม่ได้อ้างเอ่ยต่อพระเจ้าองค์ใดเป็นการเฉพาะ หากเป็นบรรพบุรุษของเรามากกว่า"[9] และชาวคากูเระคิริชิตังหลายคนอธิบายว่า พวกเขาไม่เข้าใจเนื้อหาในบทสวดเลย และทำตามอย่างที่บรรพชนสั่งสอนมาเท่านั้น[13][3] พวกเขาถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างชาวพุทธและชินโตปะปนด้วยเพื่ออำพราง[16] กล่าวคือ จะกระทำพิธีกรรมหน้าแท่นบูชาแบบพุทธ แต่แฝงด้วยพิธีกรรมแบบคริสต์[3] นักบวชคากูเระคิริชิตังรูปหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อก่อนมันอาจจะเป็นแค่การอำพราง…แต่ตอนนี้ผมเชื่อในพระเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย"[9] และกล่าวอีกว่า "ผมมีแท่นบูชาพระพุทธรูปและศาลเจ้าชินโตในบ้านผมด้วย"[4] แต่จะมีแท่นบูชาแบบคริสต์ซ่อนไว้ห้องลับ[3] เรียกว่า นันโดะ (納戸) สำหรับเก็บศาสนวัตถุที่เรียกว่า นันโดกามิ (納戸神) เช่น โรซาริโอะ (ロザリオ) หรือสายประคำ โอเต็มเป็นชะ (オテンペンシャ, มาจากคำโปรตุเกส Penitencia "ศีลอภัยบาป") คือแส้พลีกรรม แต่ชาวคริสตังลับจะใช้ประพรมบ้านหรือประกอบพิธีรักษายามเจ็บไข้[17] นอกจากนี้ยังมีศาสนภัณฑ์อื่น ๆ เช่น พระพุทธรูปที่เบื้องหลังเป็นภาพไม้กางเขน[11] แผ่นสัมฤทธิ์รูปแม่พระ ภาพแขวน รวมทั้งหุ่นสัมฤทธิ์รูปเทวดาจีน ชาวคริสตังลับเรียกว่า อินัชโชซามะ (イナッショさま) เป็นตัวแทนของนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยนา[12] ทั้งนี้พวกเขาสามารถร่วมงานประเพณีของชินโตและพุทธอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ[10]

เมื่อมีพิธีปลงศพ ชาวคากูเระคิริชิตังจะให้พระสงฆ์ในศาสนาพุทธมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ ในขณะเดียวกันพวกเขาจะแอบสวดอ้อนวอนตามความเชื่อของตนเองอย่างลับ ๆ จากนั้นจิฮิซามะ ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มคริสตังลับ จะทำพิธีกรรมคล้ายกับพิธีล้างบาป โดยนำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากสถานที่มรณสักขีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 มาใช้ในพิธีกรรม[3]

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น[แก้]

  • ชูซากุ เอ็นโด แต่งนวนิยายเรื่อง ศรัทธาไม่เงียบ (Silence) โดยอิงจากประวัติศาสตร์มุขปาฐะของคากูเระคิริชิตังที่ปฏิบัติศาสนกิจอย่างหลบซ่อน และยังทำเป็นเรื่องสั้นได้แก่เรื่อง มาเทอส์ (Mothers) และ อุนเซ็ง (Unzen)
  • ยาซูฮิเดะ อิโต นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น[26][27][28]ในซิมฟอนิกแบนด์ (Symphonic Band) ได้แต่งเพลงชื่อ กลอรีโอซา (Gloriosa) ที่ได้แรงบันดาลใจจากดนตรีของคากูเระคิริชิตัง[27]
  • นางิซะ โอชิมะ ผลิตภาพยนตร์เรื่อง อามากูซะ ชิโร โทกิซาดะ (Amakusa Shirō Tokisada) หรือ "กบฏ" (The Rebels) ในปี ค.ศ. 1962 เป็นเรื่องราวช่วงกบฏชิมาบาระ โดยชื่อภาพยนตร์ตั้งตามชื่อของอามากูซะ ชิโร หัวหน้ากลุ่มกบฏ

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

  • อนิเมะเรื่อง ซามูไรจัมปลู (Samurai Champloo) ที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในช่วงกบฏชิมาบาระ และตัวละครตัวหนึ่งชื่อฟู มีบิดาเป็นคากูเระคิริชิตัง
  • อนิเมะเรื่อง ซามูไรพเนจร (Rurouni Kenshin) มีเรื่องราวของโชโงะ มูโต (Shougo Mutou) ก่อการกบฏเช่นเดียวกับกบฏชิมาบาระ แต่หลังการเสียชีวิตของเขาและซาโยะ น้องสาว รัฐบาลได้เนรเทศผู้ติดตามของโชโงะออกนอกประเทศ ที่ต่อมาทูตเนเธอร์แลนด์ได้เชื้อเชิญคนกลุ่มนี้เข้าประเทศด้วย ซึ่งใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปี ค.ศ. 1639 ที่มีการเนรเทศหญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานกับสามีชาวดัตช์และอังกฤษพร้อมบุตรที่เมืองฮิราโดะโดยถูกส่งไปที่เมืองบาตาเวียด้วยเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเอเชียในเมืองนั้น[29]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "S". Encyclopedia of Japan. Tokyo: Shogakukan. 2012. OCLC 56431036. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2012-08-09.
  2. 2.0 2.1 "隠れキリシタン" [Kakure Kirishitan]. Dijitaru Daijisen (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Shogakukan. 2012. OCLC 56431036. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2012-08-09.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "Religion: Japan's Crypto-Christians". Time (ภาษาอังกฤษ). 11 มกราคม 2524. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 Michael Hoffman. "Japan's 'Hidden Christians'". The Japan Times (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 พลับพลึง คงชนะ. "ชาวคริสต์ญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17". ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2556, หน้า 111-112
  6. 6.0 6.1 Strathern, Alan (2020-11-18). "The Many Meanings of Iconoclasm: Warrior and Christian Temple-Shrine Destruction in Late Sixteenth Century Japan". Journal of Early Modern History. 25 (3): 163–193. doi:10.1163/15700658-BJA10023. ISSN 1385-3783. S2CID 229468278.
  7. Burger, David (2000). "Kirishitan - Early Christianity in Japan". Japanese Religions. 25: 162–164.
  8. "島原の乱 : 宗教一揆的要素の再評価". 史泉. 110: 36–55. 31 July 2009. hdl:10112/1067.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 อดิเทพ พันธ์ทอง (24 ธันวาคม 2559). ""คาคุเระคิริชิตัน" คริสเตียนที่ซ่อนเร้นความเชื่อของตนในคราบชาวพุทธ". สโมสรศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Patrick Downes. "Kakure Kirishitan". Catholic Education Resource Center (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-29. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 1". Marumura. 23 กรกฎาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 "แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 3". Marumura. 14 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 Linda Sieg (15 November 2019). "Japan's ageing 'Hidden Christians' fear they may be their religion's last generation". Reuters. สืบค้นเมื่อ 31 July 2023.
  14. Schumacher, Mark. "Virgin Mary & Kannon, Two Merciful Mothers". A to Z Photo Dictionary: Japanese Buddhist Statuary. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  15. 15.0 15.1 Boxer, C. R. (1951). The Christian Century in Japan: 1549–1650. University of California Press. p. vi.
  16. 16.0 16.1 Anthony Kuhn (11 ตุลาคม 2558). "Driven Underground Years Ago, Japan's 'Hidden Christians' Maintain Faith". NPR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 "แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 2". Marumura. 20 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. Miyazaki, Kentaro (2001). Kakure Kirishitan – Orasho, Figured Bass of Their Souls (in Japanese). Nagasaki Shimbun Shinsho, p. 282–283
  19. Miyazaki, Kentaro (2001). Kakure Kirishitan – Orasho, Figured Bass of Their Souls (in Japanese). Nagasaki Shimbun Shinsho, p.284–286
  20. 20.0 20.1 Linda Sieg (19 ธันวาคม 2550). "Japan's "Hidden Christians" face extinction". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. Miyazaki, Kentaro (2001). Kakure Kirishitan – Orasho, Figured Bass of Their Souls (in Japanese). Nagasaki Shimbun Shinsho, p.287
  22. "Kakure Kirishitan". Catholiceducation.org. 2000-02-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-15. สืบค้นเมื่อ 2012-12-21.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 23.5 23.6 "The "Tenchi" – sacred text of the Kakure Kirishitan (1 of 3)". Culmination of Wisdom (ภาษาอังกฤษ). 4 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. 24.00 24.01 24.02 24.03 24.04 24.05 24.06 24.07 24.08 24.09 "The "Tenchi" – sacred text of the Kakure Kirishitan (3 of 3)". Culmination of Wisdom (ภาษาอังกฤษ). 23 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 25.5 25.6 "The "Tenchi" – sacred text of the Kakure Kirishitan (2 of 3)". Culmination of Wisdom (ภาษาอังกฤษ). 8 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "Yasuhide Ito". Bravo music. สืบค้นเมื่อ 2007-12-02.
  27. 27.0 27.1 "Review". Wasbe. Sep 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-02.
  28. "Yasuhide Ito". Composers' Corner. Philharmonic winds. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-20. สืบค้นเมื่อ 2007-12-02.
  29. "平戸観光協会". History. Hirado net. สืบค้นเมื่อ July 10, 2014.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]