การโจรกรรมสัญญาณออกอากาศ
การโจรกรรมสัญญาณออกอากาศ (อังกฤษ: Broadcast signal intrusion) หมายถึงการที่ผู้โจรกรรมส่งสัญญาณแทรกการออกอากาศของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ เพื่อนำสื่อหรือเนื้อหาที่ผู้โจรกรรมสร้างขึ้นไปออกอากาศทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์นั้น ๆ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โจรกรรมสัญญาณนั้นมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ
ตัวอย่างเหตุการณ์โจรกรรมสัญญาณที่สำคัญ
[แก้]เซาเทิร์นเทเลวิชัน
[แก้]เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ระหว่างที่มีการออกอากาศรายการข่าวสั้นของไอทีเอ็น (ITN) ทางสถานีเซาเทิร์นเทเลวิชัน (Southern Television) ในสหราชอาณาจักร อยู่นั้น ก็เกิดสัญญาณภาพรบกวนขึ้น และจากนั้นสักครู่ก็มีเสียงพูดแทรกเข้ามาแทนเสียงรายการ ซึ่งผู้พูดนั้นอ้างว่าตนเป็นมนุษย์ต่างดาวมาจากอวกาศชื่อว่า 'วริลลอน' (Vrillon) จาก 'หน่วยบัญชาการกาแล็กซีแอชตาร์' (Ashtar Galactic Command) โดยเนื้อหาที่พูดมีความยาวประมาณ 6 นาที ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชะตากรรมของมนุษย์ รวมทั้งหายนะที่จะส่งผลต่อ "โลกมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกอื่นที่อยู่รอบโลกมนุษย์" จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทางอินดิเพนเดนต์บรอดแคสติงออเทอริตี (Independent Broadcasting Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลกำกับกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงเชิงพาณิชย์ของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์แรกที่มีการรบกวนสัญญาณเกิดขึ้น โดยจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ที่รบกวนสัญญาณในเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มจะเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวอาจเป็นผู้รบกวนสัญญาณโดยแท้จริง[1] แต่บุคคลกลุ่มอื่นก็ได้สังเกตว่า จากการที่ "มนุษย์ต่างดาว" พูดด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงบริติช และทำการรบกวนสัญญาณโทรทัศน์ในเขตชนบททางตอนใต้ของอังกฤษนั้น ทำให้อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าผู้รบกวนนั้นอาจเป็นมนุษย์โลกที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นโดยแท้จริงก็ได้ และเป็นไปได้ด้วยว่าอาจเป็นการแพร่ข่าวลวงโดยนักศึกษาด้านการแพร่สัญญาณ หรือพนักงานในสถานีโทรทัศน์[2]
กัปตัน มิดไนต์
[แก้]เมื่อเวลา 0.32 น. ตามเวลาในเขตตะวันออกของอเมริกาเหนือ ของวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1986 มีชายคนหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "กัปตัน มิดไนต์" (Captain Midnight) ได้ทำการโจรกรรมสัญญาณดาวเทียมของเอชบีโอที่ออกอากาศจากศูนย์ปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ในเกาะลอง รัฐนิวยอร์ก ระหว่างการออกอากาศภาพยนตร์เรื่อง เดอะฟัลคอนแอนด์เดอะสโนว์แมน (The Falcon and the Snowman) โดยปรากฏภาพข้อความตัวอักษรระยะเวลา 4-5 นาที ซึ่งเนื้อหาเป็นการแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการบอกรับเป็นสมาชิกแบบรายเดือนที่มีราคาแพงเกินไป และได้ข่มขู่ว่าจะทำการโจรกรรมสัญญาณของโชว์ไทม์ (Showtime) และ เดอะมูฟวีแชนเนล (The Movie Channel) ซึ่งให้บริการบอกรับเป็นสมาชิกแบบรายเดือนเช่นกัน โดยมีข้อความดังนี้
GOODEVENING HBO
FROM CAPTAIN MIDNIGHT
$12.95/MONTH ?
NO WAY !
[SHOWTIME/MOVIE CHANNEL BEWARE!]
ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า
สวัสดีตอนเย็น เอชบีโอ
จากกัปตัน มิดไนต์
12.95 เหรียญสหรัฐต่อเดือนงั้นเหรอ?
ไม่มีทางหรอก!
[โชว์ไทม์กับมูฟวีแชนเนล ระวังตัวไว้ด้วย!]
ภายหลังทราบตัวผู้กระทำชื่อ จอห์น อาร์ แม็กดูกัล (John R. MacDougall) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่รัฐฟลอริดา และต่อมาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาแพร่สัญญาณโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมทั้งถูกปรับเงินจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งประมวลกฎหมายของสหรัฐถือว่าการโจรกรรมสัญญาณดาวเทียมเป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์
แมกซ์ เฮดรูม
[แก้]เมื่อคืนวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 มีชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่งสวมหน้ากากตัวละคร แมกซ์ เฮดรูม (Max Headroom) ได้ปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย ซึ่งได้แก่ ดับบลิวจีเอ็น-ทีวี (WGN-TV) ถูกโจรกรรมเป็นสถานีแรก โดยเกิดขึ้นระหว่างการรายงานข่าวกีฬาในช่วงรายการข่าวประมาณ 21.00 น. มีระยะเวลานาน 25 วินาที และอีกสถานีหนึ่งคือ ดับบลิวทีทีดับบลิว (WTTW) ซึ่งเป็นสถานีย่อยของพีบีเอส (PBS) ซึ่งปรากฏภาพชายคนดังกล่าวพูดจาแปลกประหลาด ต่อมาปรากฏภาพปล่อยกางเกงขายาว ซึ่งทำให้เห็นบริเวณบั้นท้ายของชายคนดังกล่าว ถูกตีโดยหญิงคนหนึ่ง จากนั้นจึงกลับสู่รายการปกติ โดยเกิดขึ้นประมาณ 23.00 น. ระหว่างการออกอากาศภาพยนตร์ชุดเรื่องดอกเตอร์ฮู ตอน "Horror of Fang Rock" มีระยะเวลานาน 90 วินาที จากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุตัวผู้โจรกรรมได้ และในวันรุ่งขึ้นได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้มีการพูดถึงไปทั่วประเทศ โดยในรายงานข่าวได้มีการอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่องเอชบีโอด้วย
เพลย์บอยแชนเนล
[แก้]เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1987 ระหว่างที่ออกอากาศภาพยนตร์ลามกทางช่องเพลย์บอยแชนเนล (Playboy Channel) อยู่นั้น ก็ปรากฏข้อความที่เกี่ยวกับศาสนาขึ้น[3] ซึ่งมีข้อความว่า "Thus sayeth the Lord thy God: Remember the Sabbath and keep it holy. Repent, the kingdom of Heaven is at hand"[4][5] (พระเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงกลับใจใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว", จากหนังสืออพยพ 20:8 และมัทธิว 4:17 ในคัมภีร์ไบเบิล)
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พบตัวผู้โจรกรรมคือ โทมัส เฮย์นี (Thomas Haynie) ซึ่งเป็นพนักงานอยู่ที่คริสเตียนบรอดแคสติงเน็ตเวิร์ก (Christian Broadcasting Network) ในขณะนั้น และได้ถูกตั้งข้อหาโจรกรรมสัญญาณดาวเทียม[4] และถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี ปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 150 ชั่วโมง
สงครามเลบานอน ค.ศ. 2006
[แก้]ระหว่างสงครามเลบานอน ค.ศ. 2006 ทางการอิสราเอลได้ส่งสัญญาณดาวเทียมแทรกสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ Al Manar TV ของพรรคการเมืองที่มีชื่อว่าฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) เพื่อออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อโจมตีพรรคซึ่งเป็นเจ้าของสถานี โดยมุมหนึ่งปรากฏภาพฮะซัน นัศรุลลอหฺ เลขาธิการใหญ่ของพรรค พร้อมมีเส้นเล็งปืนไปที่ภาพของเขา และยิงสามครั้ง และมีเสียงพูดว่า "ชัยชนะของคุณกำลังจะมาถึง" และปรากฏภาพของกองทัพอากาศอิสราเอลที่ทำลายเป้าฝึกซ้อมในเลบานอน[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Source of hoax space broadcast stays a mystery". The Times. 28 November 1977. pp. 2, col. E.
- ↑ "Oddity Archive: Episode 10 - Captain Midnight/Vrillon". Oddity Archive. Nov 12, 2012. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 11:43. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-19.
- ↑ "Jury Tries Again on Messages Put in Porn Films". Los Angeles Times. United Press International. 24 September 1990. p. 10. ISSN 0458-3035.
A federal judge today ordered deadlocked jurors to resume deliberations in the case of a Christian Broadcasting Network technician accused of interrupting soft-porn movies with religious messages.
- ↑ 4.0 4.1 "Porn-Film Message Suspect Is Convicted". Los Angeles Times. 25 September 1990. p. 17. ISSN 0458-3035.
[Haynie] was convicted on one felony count of interfering with the operation of a satellite and a misdemeanor count of violating a radio license, both for the interruption of the Playboy Channel. He was acquitted of similar piracy charges regarding interruptions on the American Exxxtasy Channel.
- ↑ Branscomb, Anne W. (1994). Who owns information?: from privacy to public access. New York: Basic Books. pp. 112–113. ISBN 0-4650-9175-X.
- ↑ Friedman, Herbert. "Psychological Operations during the Israel-Lebanon War 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-07. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17.