การโจรกรรมสัญญาณออกอากาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การโจรกรรมสัญญาณออกอากาศ (อังกฤษ: Broadcast signal intrusion) หมายถึงการที่ผู้โจรกรรมส่งสัญญาณแทรกการออกอากาศของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ เพื่อนำสื่อหรือเนื้อหาที่ผู้โจรกรรมสร้างขึ้นไปออกอากาศทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์นั้น ๆ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โจรกรรมสัญญาณนั้นมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ

ตัวอย่างเหตุการณ์โจรกรรมสัญญาณที่สำคัญ[แก้]

เซาเทิร์นเทเลวิชัน[แก้]

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ระหว่างที่มีการออกอากาศรายการข่าวสั้นของไอทีเอ็น (ITN) ทางสถานีเซาเทิร์นเทเลวิชัน (Southern Television) ในสหราชอาณาจักร อยู่นั้น ก็เกิดสัญญาณภาพรบกวนขึ้น และจากนั้นสักครู่ก็มีเสียงพูดแทรกเข้ามาแทนเสียงรายการ ซึ่งผู้พูดนั้นอ้างว่าตนเป็นมนุษย์ต่างดาวมาจากอวกาศชื่อว่า 'วริลลอน' (Vrillon) จาก 'หน่วยบัญชาการกาแล็กซีแอชตาร์' (Ashtar Galactic Command) โดยเนื้อหาที่พูดมีความยาวประมาณ 6 นาที ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชะตากรรมของมนุษย์ รวมทั้งหายนะที่จะส่งผลต่อ "โลกมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกอื่นที่อยู่รอบโลกมนุษย์" จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทางอินดิเพนเดนต์บรอดแคสติงออเทอริตี (Independent Broadcasting Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลกำกับกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงเชิงพาณิชย์ของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์แรกที่มีการรบกวนสัญญาณเกิดขึ้น โดยจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ที่รบกวนสัญญาณในเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มจะเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวอาจเป็นผู้รบกวนสัญญาณโดยแท้จริง[1] แต่บุคคลกลุ่มอื่นก็ได้สังเกตว่า จากการที่ "มนุษย์ต่างดาว" พูดด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงบริติช และทำการรบกวนสัญญาณโทรทัศน์ในเขตชนบททางตอนใต้ของอังกฤษนั้น ทำให้อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าผู้รบกวนนั้นอาจเป็นมนุษย์โลกที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นโดยแท้จริงก็ได้ และเป็นไปได้ด้วยว่าอาจเป็นการแพร่ข่าวลวงโดยนักศึกษาด้านการแพร่สัญญาณ หรือพนักงานในสถานีโทรทัศน์[2]

กัปตัน มิดไนต์[แก้]

ข้อความที่แม็กดูกัล ผู้โจรกรรม ได้นำไปออกอากาศทางช่องเอชบีโอ โดยมีแถบสีเป็นพื้นหลัง

เมื่อเวลา 0.32 น. ตามเวลาในเขตตะวันออกของอเมริกาเหนือ ของวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1986 มีชายคนหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "กัปตัน มิดไนต์" (Captain Midnight) ได้ทำการโจรกรรมสัญญาณดาวเทียมของเอชบีโอที่ออกอากาศจากศูนย์ปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ในเกาะลอง รัฐนิวยอร์ก ระหว่างการออกอากาศภาพยนตร์เรื่อง เดอะฟัลคอนแอนด์เดอะสโนว์แมน (The Falcon and the Snowman) โดยปรากฏภาพข้อความตัวอักษรระยะเวลา 4-5 นาที ซึ่งเนื้อหาเป็นการแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการบอกรับเป็นสมาชิกแบบรายเดือนที่มีราคาแพงเกินไป และได้ข่มขู่ว่าจะทำการโจรกรรมสัญญาณของโชว์ไทม์ (Showtime) และ เดอะมูฟวีแชนเนล (The Movie Channel) ซึ่งให้บริการบอกรับเป็นสมาชิกแบบรายเดือนเช่นกัน โดยมีข้อความดังนี้

GOODEVENING HBO
FROM CAPTAIN MIDNIGHT
$12.95/MONTH  ?
NO WAY !
[SHOWTIME/MOVIE CHANNEL BEWARE!]

ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า

สวัสดีตอนเย็น เอชบีโอ
จากกัปตัน มิดไนต์
12.95 เหรียญสหรัฐต่อเดือนงั้นเหรอ?
ไม่มีทางหรอก!
[โชว์ไทม์กับมูฟวีแชนเนล ระวังตัวไว้ด้วย!]

ภายหลังทราบตัวผู้กระทำชื่อ จอห์น อาร์ แม็กดูกัล (John R. MacDougall) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่รัฐฟลอริดา และต่อมาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาแพร่สัญญาณโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมทั้งถูกปรับเงินจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งประมวลกฎหมายของสหรัฐถือว่าการโจรกรรมสัญญาณดาวเทียมเป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์

แมกซ์ เฮดรูม[แก้]

ภาพที่จับได้ขณะเกิดเหตุการณ์โจรกรรมสัญญาณแมกซ์ เฮดรูม

เมื่อคืนวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 มีชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่งสวมหน้ากากตัวละคร แมกซ์ เฮดรูม (Max Headroom) ได้ปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย ซึ่งได้แก่ ดับบลิวจีเอ็น-ทีวี (WGN-TV) ถูกโจรกรรมเป็นสถานีแรก โดยเกิดขึ้นระหว่างการรายงานข่าวกีฬาในช่วงรายการข่าวประมาณ 21.00 น. มีระยะเวลานาน 25 วินาที และอีกสถานีหนึ่งคือ ดับบลิวทีทีดับบลิว (WTTW) ซึ่งเป็นสถานีย่อยของพีบีเอส (PBS) ซึ่งปรากฏภาพชายคนดังกล่าวพูดจาแปลกประหลาด ต่อมาปรากฏภาพปล่อยกางเกงขายาว ซึ่งทำให้เห็นบริเวณบั้นท้ายของชายคนดังกล่าว ถูกตีโดยหญิงคนหนึ่ง จากนั้นจึงกลับสู่รายการปกติ โดยเกิดขึ้นประมาณ 23.00 น. ระหว่างการออกอากาศภาพยนตร์ชุดเรื่องดอกเตอร์ฮู ตอน "Horror of Fang Rock" มีระยะเวลานาน 90 วินาที จากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุตัวผู้โจรกรรมได้ และในวันรุ่งขึ้นได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้มีการพูดถึงไปทั่วประเทศ โดยในรายงานข่าวได้มีการอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่องเอชบีโอด้วย

เพลย์บอยแชนเนล[แก้]

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1987 ระหว่างที่ออกอากาศภาพยนตร์ลามกทางช่องเพลย์บอยแชนเนล (Playboy Channel) อยู่นั้น ก็ปรากฏข้อความที่เกี่ยวกับศาสนาขึ้น[3] ซึ่งมีข้อความว่า "Thus sayeth the Lord thy God: Remember the Sabbath and keep it holy. Repent, the kingdom of Heaven is at hand"[4][5] (พระเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงกลับใจใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว", จากหนังสืออพยพ 20:8 และมัทธิว 4:17 ในคัมภีร์ไบเบิล)

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พบตัวผู้โจรกรรมคือ โทมัส เฮย์นี (Thomas Haynie) ซึ่งเป็นพนักงานอยู่ที่คริสเตียนบรอดแคสติงเน็ตเวิร์ก (Christian Broadcasting Network) ในขณะนั้น และได้ถูกตั้งข้อหาโจรกรรมสัญญาณดาวเทียม[4] และถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี ปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 150 ชั่วโมง

สงครามเลบานอน ค.ศ. 2006[แก้]

ระหว่างสงครามเลบานอน ค.ศ. 2006 ทางการอิสราเอลได้ส่งสัญญาณดาวเทียมแทรกสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ Al Manar TV ของพรรคการเมืองที่มีชื่อว่าฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) เพื่อออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อโจมตีพรรคซึ่งเป็นเจ้าของสถานี โดยมุมหนึ่งปรากฏภาพฮะซัน นัศรุลลอหฺ เลขาธิการใหญ่ของพรรค พร้อมมีเส้นเล็งปืนไปที่ภาพของเขา และยิงสามครั้ง และมีเสียงพูดว่า "ชัยชนะของคุณกำลังจะมาถึง" และปรากฏภาพของกองทัพอากาศอิสราเอลที่ทำลายเป้าฝึกซ้อมในเลบานอน[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Source of hoax space broadcast stays a mystery". The Times. 28 November 1977. pp. 2, col. E.
  2. "Oddity Archive: Episode 10 - Captain Midnight/Vrillon". Oddity Archive. Nov 12, 2012. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 11:43. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-19.
  3. "Jury Tries Again on Messages Put in Porn Films". Los Angeles Times. United Press International. 24 September 1990. p. 10. ISSN 0458-3035. A federal judge today ordered deadlocked jurors to resume deliberations in the case of a Christian Broadcasting Network technician accused of interrupting soft-porn movies with religious messages.
  4. 4.0 4.1 "Porn-Film Message Suspect Is Convicted". Los Angeles Times. 25 September 1990. p. 17. ISSN 0458-3035. [Haynie] was convicted on one felony count of interfering with the operation of a satellite and a misdemeanor count of violating a radio license, both for the interruption of the Playboy Channel. He was acquitted of similar piracy charges regarding interruptions on the American Exxxtasy Channel.
  5. Branscomb, Anne W. (1994). Who owns information?: from privacy to public access. New York: Basic Books. pp. 112–113. ISBN 0-4650-9175-X.
  6. Friedman, Herbert. "Psychological Operations during the Israel-Lebanon War 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-07. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17.