ข้ามไปเนื้อหา

พิชัยสงครามซุนจื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก The Art of War)
พิชัยสงครามซุนจื่อ
หน้าต้นของตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ
ฉบับคัดลอกสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
ผู้ประพันธ์ซุนจื่อ (ธรรมเนียม)
ประเทศจีน
ภาษาจีนคลาสสิก
หัวเรื่องปรัชญาการทหาร
วันที่พิมพ์ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช
ข้อความต้นฉบับ
พิชัยสงครามซุนจื่อ ที่ Chinese วิกิซอร์ซ
พิชัยสงครามซุนจื่อ
อักษรจีนตัวเต็ม孫子兵法
อักษรจีนตัวย่อ孙子兵法
ความหมายตามตัวอักษรพิชัยสงครามซุนจื่อ

พิชัยสงครามซุนจื่อ (จีนตัวย่อ: 孙子兵法; จีนตัวเต็ม: 孫子兵法; พินอิน: Sūn Zǐ Bīng Fǎ; อังกฤษ: The Art of War) เป็นตำรายุทธศาสตร์การทหารหรือตำราพิชัยสงครามของจีน ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวหกร้อยปีก่อนคริสตกาลโดยซุนจื่อ นักยุทธศาสตร์คนสำคัญในยุครณรัฐของจีน เนื้อหาในตำราพิชัยสงครามฉบับนี้มี 13 บท แต่ละบทเน้นถึงแต่ละแง่มุมของการสงคราม

ตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อเป็นหนึ่งในตำรายุทธศาสตร์การทหารเล่มหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยนับได้ว่าเป็นตำราเล่มแรกและเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงยุทธศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อแนวคิดทางการทหาร กลยุทธทางธุรกิจ และแนวคิดเรื่องอื่นๆ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ซุนจื่อถือเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักในความสำคัญของตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งจากเงื่อนไขเชิงรุกในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และความคิดเชิงรับของฝ่ายคู่แข่งในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เขาได้สอนว่า ยุทธศาสตร์ไม่ใช่เพียงการวางแผนกำหนดสิ่งที่จะลงมือทำเท่านั้น แต่ยังต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย

ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1782 เป็นการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยบาทหลวงฌอง โชแซฟท์ มารี อามีโอต์ (Jean Joseph Marie Amiot) นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต ในปัจจุบันนี้ นอกจากการประยุกต์ใช้ในด้านการทหารแล้ว หลักการในตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อยังได้มีการนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์เชิงธุรกิจและด้านการจัดการอีกด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป

[แก้]

ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้ (ชื่อแปลที่ใช้อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนวนแปล)

  1. การประเมิน (จีนตัวย่อ: 始计; จีนตัวเต็ม: 始計)
  2. การทำศึก (จีนตัวย่อ: 作战; จีนตัวเต็ม: 作戰)
  3. ยุทธวิธีโจมตี (จีนตัวย่อ: 谋攻; จีนตัวเต็ม: 謀攻)
  4. รูปลักษ์การรบ (จีนตัวย่อ: 军形; จีนตัวเต็ม: 軍形)
  5. พลานุภาพ (จีนตัวย่อ: 兵势; จีนตัวเต็ม: 兵勢)
  6. จุดอ่อนจุดแข็ง (จีนตัวย่อ: 虚实; จีนตัวเต็ม: 虛實)
  7. การดำเนินกลยุทธ์ (จีนตัวย่อ: 军争; จีนตัวเต็ม: 軍爭)
  8. สิ่งผันแปร 9 ประการ (จีนตัวย่อ: 九变; จีนตัวเต็ม: 九變)
  9. การเดินทัพ (จีนตัวย่อ: 行军; จีนตัวเต็ม: 行軍)
  10. ภูมิประเทศ (จีนตัวเต็ม/จีนตัวย่อ: 地形)
  11. พื้นที่ต่างกัน 9 อย่าง (จีนตัวเต็ม/จีนตัวย่อ: 九地)
  12. โจมตีด้วยไฟ (จีนตัวเต็ม/จีนตัวย่อ: 火攻)
  13. การใช้สายลับ (จีนตัวย่อ: 用间; จีนตัวเต็ม: 用間)

ตัวอย่างเนื้อหา

[แก้]

รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

[แก้]
รูปปั้นซุนจื่อ ผู้แต่ง "ตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อ" (ตั้งอยู่ที่เมืองยุริฮิมะ จังหวัดทตโตะริ ประเทศญี่ปุ่น)

ซุนจื่อกล่าวว่า การรบถ้ารู้จักการวางแผนที่ดีมีสิทธิที่จะชนะทุกร้อยครั้งเหมือนสิงโต ถ้าคราวใดที่ไม่สามารถจะล่าเหยื่อได้จะไม่ออกล่าเหยื่อ ในสงคราม เมื่อมีการรู้กำลังของกองทัพของเราเองรู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหารของฝ่ายเรา โอกาสรบชนะจะมีครึ่งหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารของข้าศึก โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหารตัวเอง ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้งก็ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง

ศาสตร์ข้อนี้ได้มีการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่าง ทฤษฎี SWOT Analysis

ตีใกล้แสร้งไกล ตีไกลแสร้งใกล้

[แก้]

ซุนจื่อกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่จะรุกโจมตีเมืองที่ไกลห่างออกไป จงหลอกล่อให้ข้าศึกรู้ว่าเราจะตีเมืองอื่นที่ใกล้กับเรา หลอกให้ศัตรูคิดว่าเราไม่สามารถไปตีถึงเมืองนั้นได้ เมื่อคราใดที่เราเข้าโจมตี ศัตรูจะไหวตัวไม่ทันทำให้รบชนะได้อย่างง่ายดาย เฉกเช่นเดียวกับโจมตีเมืองที่อยู่ใกล้ แต่หลอกศัตรูว่าเราจะไปตีเมืองที่ไกลห่างออกไป

จงสู้รบให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

[แก้]
  • ไฟ - เมื่อยามบุก จงบุกให้เหมือนไฟ ให้รุกกระหน่ำให้โหมหนักไปเรื่อยเรื่อยจนทุกอย่างมอดไหม้
  • ภูเขา - เมื่อยามที่ตั้งรับ จงนิ่งสงบอย่างหุบเขา ไม่ให้ศัตรูจับได้ว่าเราซ่อนตัวอยู่ที่ไหน
  • ลม - เมื่อยามเคลื่อนทัพ จงเคลื่อนให้เหมือนสายลม รวดเร็วโดยไม่ทิ้งร่องรอย

สิ่งที่ผู้ปกครองไม่พึงทำในการยุทธ

[แก้]

ผู้ที่ปกครองห้ามทำผิดกฎ 3 ข้อดังต่อไปนี้ หากไม่ทำตามจะทำให้ประสบกับความพ่ายแพ้ได้

  • สั่งให้รุกขณะไม่ควรรุก หรือสั่งให้ถอยขณะเป็นต่อข้าศึก ทำให้กองทัพระส่ำระสาย
  • ไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ แต่สั่งการตามอำเภอใจ หรือสามัญสำนึกของตน ทำให้เหล่าขุนพลสับสน
  • ไม่เข้าใจหลักการผสมผสานการใช้กำลังทหารเหล่าต่าง ๆ ในการดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ

เมื่อเหล่าทัพต่าง ๆ ตกอยู่ในสภาพลังเล สงสัย สับสน ไม่แน่ใจ ก็เกิดความระส่ำ ระสายในกองทัพ ศัตรูก็ฉวยโอกาสนี้เข้ากระทำและได้รับชัยชนะ เป็น ต่อฝ่ายเรา

ปัจจัยสู่ชัยชนะ

[แก้]

การนำกองทัพสู่ชัยชนะมีปัจจัย 5 ประการ

  • รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และไม่ควรรบ
  • รู้จักการออมกำลัง
  • นาย และพลทหารเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน
  • วางแผนและเตรียมการดี
  • มีขุนพลผู้ที่สามารถ และไม่แทรกแซงจากผู้ปกครอง

ที่กล่าวมา 5 ประการนี้ผู้ใดรู้จักใช้จะพบกับชัยชนะ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]