ข้ามไปเนื้อหา

ซัดดัม ฮุสเซน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Saddam Hussein)
ศ็อดดาม ฮุซัยน์
Saddam Hussein
صدام حسين
ประธานาธิบดีอิรัก คนที่ 5
ดำรงตำแหน่ง
16 กรกฎาคม 2522 – 9 เมษายน 2546
นายกรัฐมนตรีตนเอง (ครั้งที่ 1)
ซาดัน ฮามมาดี
โมฮัมเหม็ด ฮามซา ซูเบยดี
อาหมัด ฮูเซย์น คูดาเยิร์ อัส-ซามาร์ราอี
ตนเอง (ครั้งที่ 2)
รองประธานาธิบดีทาฮา มูฮี-เอลดิน มารูฟ
อิซซัต อิบราฮิม อัล-โดรี
ทาฮา ยาซซิน รามาดัน
ก่อนหน้าอาเหม็ด ฮัสซัน อัลบากร์
ถัดไปเจย์ การ์เนอร์ (การปกครองชั่วคราวโดยกลุ่มพันธมิตร)
นายกรัฐมนตรีอิรัก
ดำรงตำแหน่ง
16 กรกฎาคม 2522 – 23 มีนาคม 2534
ประธานาธิบดีตนเอง
ก่อนหน้าอาเหม็ด ฮัสซัน อัลบากร์
ถัดไปอิซซัต อิบราฮิม อัดดอรี
ดำรงตำแหน่ง
29 พฤษภาคม 2537 – 9 เมษายน 2546
ประธานาธิบดีตนเอง
ก่อนหน้าอาหมัด ฮุสซาน คูดาเยร์ อัสซามาร์ไร
ถัดไปโมฮัมหมัด บาฮ์ร อัลอุลลูม
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ศ็อดดาม ฮุเซน อับดุลมะญีด อัลตีกรีตี

28 เมษายน ค.ศ. 1937(1937-04-28)
เอาญะห์, ราชอาณาจักรอิรัก
เสียชีวิต30 ธันวาคม ค.ศ. 2006(2006-12-30) (69 ปี)
ค่ายจัสติส กธิมิญะ, อิรัก
สาเหตุการเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
ศาสนาอิสลามซุนนี
พรรคการเมืองบะอษ์สังคมนิยมอาหรับ (2500–2509)
บะอษ์สาขาแบกแดด (2509–2549)
คู่สมรสซาจิดา ทัสฟาฮ์ (2501-2549)
ซามีเราะห์ ซาห์บันดา (2524-2547)
บุตร5 คน
ลายมือชื่อ

ซัดดัม ฮุสเซน (อังกฤษ: Saddam Hussein)[1] หรือ ศ็อดดาม ฮุซัยน์ อับดุลมะญีด อัลตีกรีตี[2] (อาหรับ: صدام حسين عبد المجيد التكريتي; ละติน: Ṣaddām Ḥusayn ʿAbd al-Majīd al-Tikrītī; 28 เมษายน พ.ศ. 2480[3] – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549) เป็นอดีตประธานาธิบดีของอิรัก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 กระทั่งถูกจับกุมและถอดออกจากตำแหน่ง โดยกองกำลังนานาชาติซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามอิรัก

ซัดดัมเคยเป็นผู้นำพรรคบะอษ์ พรรคการเมืองหัวปฏิวัติของอิรัก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มลัทธินิยมรวมชาติอาหรับโดยไม่อ้างอิงกับศาสนา การปรับระบบเศรษฐกิจให้ทันสมัย และระบอบสังคมนิยม ซัดดัม ได้มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2511 ที่ทำให้พรรคบะอษ์ก้าวขึ้นสู่อำนาจในระยะยาว ในฐานะของรองประธานาธิบดี โดยมีนายพลอะฮ์มัด บะกัร ลูกพี่ลูกน้องของเขาที่มีสุขภาพอ่อนแอดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซัดดัมจึงได้กุมอำนาจในการจัดการปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ในช่วงเวลาที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ถูกมองว่าสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ทุกเมื่อ โดยซัดดัมได้จัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคง เพื่ออุดหนุนอำนาจของเขาในการควบคุมรัฐบาลอิรักไว้ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ราคาน้ำมันปิโตรเลียมที่พุ่งสูงขึ้นได้ช่วยให้เศรษฐกิจอิรักเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากและในอัตราที่สม่ำเสมอ

ในฐานะประธานาธิบดี ซัดดัมได้พัฒนาลัทธินิยมตัวผู้นำอย่างบ้าคลั่ง ปกครองรัฐบาลเผด็จการ และกุมอำนาจไว้ได้ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน (ระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2531) ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (พ.ศ. 2534) ซึ่งทำให้อิรักทรุดโทรม ทำลายทั้งมาตรฐานการครองชีพและสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของซัดดัมได้จัดการกับการเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มทางศาสนาที่ต้องการเรียกร้องอิสรภาพ หรือการปกครองตนเอง

ในระหว่างที่ยังคงเป็นวีรบุรุษที่ประชาชนชื่นชม โดดเด่นในหมู่ผู้นำอาหรับอื่น ๆ ในฐานะผู้ที่ลุกขึ้นต่อต้านสหรัฐ และให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ ภายหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐอเมริกาและชาติอื่น ๆ ในประชาคมโลก ยังคงเฝ้าระวังจับตามองซัดดัมด้วยความหวาดระแวงว่ามีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ซัดดัมได้ถูกถอดถอนโดยสหรัฐและฝ่ายพันธมิตรในการบุกอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2546 ถูกจับกุมโดยกองกำลังสหรัฐเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ในขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในหลุมขนาดเล็ก ในฟาร์มแห่งหนึ่งชานเมืองติกรีต เขาขึ้นต่อสู้คดีในศาลพิเศษอิรักที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชั่วคราวของอิรัก

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผู้พิพากษาศาลอิรัก สั่งลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอซัดดัม ในคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองดูเญลเมื่อปี พ.ศ. 2525[4] โดยเขาถูกประหารชีวิตในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549[5]

วัยเยาว์

[แก้]

ซัดดัม ฮุสเซนเกิดที่เมืองเอาญะห์ ห่างจากเมืองติกรีต 13 กิโลเมตร ในครอบครัวของคนเลี้ยงแกะ แม่ชื่อศุบฮะห์ ตุลฟะห์ ตั้งชื่อให้ว่า "ศ็อดดาม" ซึ่งแปลว่า "ชนแหลก" ในภาษาอาหรับ ฮุเซน อับดุลมาญิด พ่อของซัดดัม หายตัวไปก่อนที่ซัดดัมเกิด 6 เดือน หลังจากนั้นไม่นาน พี่ชายวัยสิบสามขวบของซัดดัมก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แม่ของซัดดัมเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก และปฏิเสธที่จะเลี้ยงดูซัดดัมเมื่อแรกเกิด ซัดดัมถูกส่งไปอยู่กับค่อยรุลลอห์ ตุลฟะห์ พี่ชายของแม่จนกระทั่งอายุสามปี[6] แม่ของซัดดัมแต่งงานใหม่ และมีลูกอีกสามคน พ่อเลี้ยงของซัดดัมปฏิบัติต่อซัดดัมแย่มากหลังจากที่ซัดดัมกลับไปอยู่ด้วย เมื่อซัดดัมอายุราว 10 ปี เขาก็ย้ายกลับไปอยู่กับลุงอีกครั้ง ค่อยรุลลอห์ ตุลฟะห์ เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ที่เคร่งศาสนา และเคยผ่านสงครามระหว่างอิรักและสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2484 บุคคลผู้นี้ภายหลังกลายเป็นที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดกับซัดดัมมาก ซัดดัมเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในแบกแดดตามคำแนะนำของลุง ซัดดัมเข้าศึกษานิติศาสตร์อยู่สามปี ในปีพ.ศ. 2500 ก่อนจะออกจากวิทยาลัยไปเข้าร่วมพรรคบะอษ์ซึ่งลุงของเขาสนับสนุน

หนึ่งปีหลังจากซัดดัมเข้าร่วมพรรคบะอษ์ กลุ่มทหารซึ่งนำโดยนายพลอิบด์ อัล-คะริม กอซิม ได้ยึดอำนาจจากกษัตริย์ฟัยศ็อลที่ 2 พรรคบะอษ์ต่อต้านรัฐบาลใหม่ ในปี พ.ศ. 2502 ซัดดัมเข้าร่วมในการสังหารนายกรัฐมนตรีกอซิม แต่ไม่สำเร็จ ซัดดัมได้รับบาดเจ็บและหนีไปซ่อนตัวอยู่ในซีเรียและอียิปต์ โดยซัดดัมถูกลงโทษประหารชีวิต

ขึ้นสู่อำนาจ

[แก้]

พ.ศ. 2506 กอซิมถูกยึดอำนาจจากการก่อรัฐประหารซึ่งพรรคบะอษ์ร่วมสนับสนุน อับดุล ซาลัม อาริฟ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีและพรรคบะอษ์ได้ร่วมคณะรัฐมนตรี ในช่วงนี้ซัดดัมแต่งงานกับซาญิดะห์ ตุลฟะห์ ลูกของลุง ต่อมาอารีฟขัดแย้งกับพรรคบะอัธ และขับออกจากรัฐบาล ซัดดัมถูกจับในปี พ.ศ. 2507

พรรคบะอษ์ขึ้นมามีอำนาจในปี พ.ศ. 2511 หลังจากที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากอาริฟ อะฮ์มัด อัลบะกัร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และซัดดัมได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในปี พ.ศ. 2519 ซัดดัมได้รับตำแหน่งนายพลในกองทัพอิรัก ซัดดัมเริ่มมีอิทธิพลในรัฐบาลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซัดดัมเป็นผู้วางแผนนโยบาลการต่างประเทศ และเป็นตัวแทนในพิธีทางการทูตต่าง ๆ หลังจากที่กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังมาสิบเอ็ดปี ซัดดัมขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นไม่นาน สมาชิกพรรคบะอษ์ 22 คนถูกสั่งประหารชีวิตในข้อหากบฏ

ซัดดัมพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยมีการให้เสรีภาพสตรีที่เพิ่มขึ้น และให้งานตำแหน่งสูง ๆ ในรัฐบาลและอุตสาหกรรม ซัดดัมยังสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก ทำให้อิรักเป็นประเทศเดียวในอ่าวเปอร์เซียที่ไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ซัดดัมสร้างลัทธิชาตินิยมอิรัก บ่อยครั้งที่เขาเอ่ยถึงยุคสมัยอับบาซียะฮ์ ซึ่งแบกแดดเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของโลกอาหรับ เขายังเน้นบทบาทของอิรักในยุคก่อนศาสนาอิสลามในฐานะเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นอารยธรรมเก่าแก่สมัยโบราณ โดยกล่าวโดยอ้อมไปถึงผู้นำสมัยโบราณอย่างพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 และพระเจ้าฮัมมูราบี ซัดดัมทุ่มเททรัพยากรให้กับการค้นคว้าทางโบราณคดี เขายังได้พยายามรวมลัทธิแพนอาหรับกับชาตินิยมอิรัก ด้วยการสนับสนุนภาพของโลกอาหรับที่รวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของอิรัก ความนิยมตัวผู้นำซัดดัมกระจายทั่วสังคมอิรัก ภาพของซัดดัมปรากฏทั่วไปทั้งบนอาคาร โรงเรียน สนามบิน ร้านค้าต่าง ๆ เช่นเดียวกับบนเงินตราของอิรัก

การไต่สวน

[แก้]

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซัดดัมและสมาชิกระดับสูงของพรรคบะอษ์อีก 11 คน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความควบคุมของกองทัพสหรัฐฯ ได้ถูกส่งมอบทางอำนาจทางกฎหมายให้กับรัฐบาลชั่วคราวของอิรัก เพื่อนำตัวเข้ารับการไต่สวนในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซัดดัมถูกตั้งข้อหาโดยศาลพิเศษ ในการก่ออาชญากรรมต่อชาวเมืองดูเญล ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากความพยายามสังหารซัดดัมที่เมืองนั้นไม่สำเร็จ ข้อกล่าวหาประกอบไปด้วยการฆาตกรรมคน 148 คน การทรมานผู้หญิงและเด็ก และการจับกุม 399 คนอย่างไม่ถูกกฎหมาย ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซัดดัม ฮุสเซนถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินประหารชีวิต

โดยการแขวนคอ[4] ซัดดัมถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. บางครั้งสะกดว่า Husayn หรือ Hussain
  2. "ศ็อดดาม" หรือ "ซัดดัม" เป็นชื่อตัวของเขา "ฮุเซน" หรือ "ฮุสเซน" ไม่ใช่นามสกุล แต่เป็นชื่อของบิดา "อับดุลมะญีด" เป็นชื่อของปู่ และ "อัลตีกรีตี" หมายถึงว่าเกิดและเติบโตในเมืองติกริต การเรียกอย่างสั้นนั้น เรียกว่าซัดดัม ฮุสเซน หรือ ซัดดัม ดังนั้นการเรียกตามแบบตะวันตกว่า ฮุสเซน เฉย ๆ จึงไม่ถูกต้อง
  3. วันที่นี้ เป็นวันเกิดอย่างเป็นทางการภายใต้รัฐบาลของซัดดัม วันเกิดที่แท้จริงนั้นไม่เคยมีการบันทึกไว้ แต่เชื่อว่าอยู่ระหว่างปี 2478-2482
  4. 4.0 4.1 ศาลชั้นต้นอิรัก พิพากษาประหาร "ซัดดัม" กรุงเทพธุรกิจ 5 ​พฤศจิกายน​ 2549
  5. 5.0 5.1 ปิดฉาก "ซัดดัม ฮุสเซน" อดีตผู้นำอิรักถูกสั่งแขวนคอ กรุงเทพธุรกิจ 31 ​ธันวาคม​ 2549
  6. Was a Tyrant Prefigured by Baby Saddam? Elisabeth Bumiller (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]