ข้ามไปเนื้อหา

เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก James Francis Edward Stuart)
เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต
เจ้าชายแห่งเวลส์
พระบรมสาทิสลักษณ์ วาดโดย อเล้กซิส ไซ่ม่อน เบลล์, ประมาณ ค.ศ. 1712
ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์สายจาโคไบต์
ระยะเวลาการอ้างสิทธิ16 กันยายน ค.ศ. 1701 – 1 มกราคม ค.ศ. 1766
ก่อนหน้าเจมส์ที่ 2 และ ที่ 7
ถัดไป"ชาร์ลส์ที่ 3"
ประสูติ10 มิถุนายน ค.ศ. 1688(1688-06-10)
พระราชวังเซนต์เจมส์, ลอนดอน, ราชอาณาจักรอังกฤษ
สิ้นพระชนม์1 มกราคม ค.ศ. 1766(1766-01-01) (77 ปี)
วังมูติ, โรม, รัฐพระสันตะปาปา
ฝังพระศพมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์, นครรัฐวาติกัน
คู่อภิเษกมาเรีย คลีเม็นทินา โซบิเอสกา
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต
ราชวงศ์สจวต
พระราชบิดาเจมส์ที่ 2 และ ที่ 7
พระราชมารดาแมรีแห่งโมดีนา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
“เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต”
มาเรีย คลีเม็นทินา โซบิเอสกา พระชายา
หลุมศพของเจ้าชายเจมส์

เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต หรือ ผู้อ้างสิทธิเฒ่า(อังกฤษ: James Francis Edward Stuart หรือ The Old Pretender หรือ The Old Chevalier) (10 มิถุนายน ค.ศ. 1688 – 1 มกราคม ค.ศ. 1766) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษผู้ถูกปลดจากราชบัลลังก์อังกฤษ และ สมเด็จพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เจมส์ ฟรานซิสจึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของราชอาณาจักรอังกฤษ และราชอาณาจักรสกอตแลนด์ในนาม เจมส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ และ เจมส์ที่ 8 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1701 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงประกาศว่าเจมส์ ฟรานซิสเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์โดยชอบธรรม

ประสูติกาล

[แก้]

เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวตทรงเป็นปัญหาตั้งแต่วันที่ประสูติที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในปี ค.ศ. 1688 ประสูติในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และพระราชินีแมรีแห่งโมดีนาผู้เป็นโรมันคาทอลิก พระเจ้าเจมส์ที่ 2 มีพระราชธิดาสองพระองค์ก่อนหน้านั้นผู้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างนิกายโปรเตสแตนต์ การที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 มีพระราชโอรสเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่กลัวว่าอังกฤษจะกลับไปตกไปอยู่ใต้การปกครองของประมุขที่เป็นโรมันคาทอลิกต้องหาวิธีกำจัด พระเจ้าเจมส์ที่ 2

เมื่อเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสประสูติก็มีข่าวลือว่าเจมส์ ฟรานซิสมิใช่พระราชโอรสที่แท้จริง แต่เป็นเด็กที่ถูกลักลอบเข้ามาในถาดถ่านที่ใช้อุ่นเตียงก่อนนอน (bed-warming pan) เข้ามาในห้องที่สมเด็จพระราชินีแมรีแห่งโมดีนาใช้ประสูติเพื่อแทนพระโอรสที่สิ้นพระชนม์หลังประสูติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เพียงไม่ถึงหกเดือนหลังการประสูติสมเด็จพระราชินีแมรีแห่งโมดีนาก็พาพระโอรสหลบหนีไปยังฝรั่งเศสเพื่อความปลอดภัย ขณะที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ยังประทับอยู่ในอังกฤษเพื่อพยายามรักษาราชบัลลังก์ไว้

เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสและพระขนิษฐาลุยซา มาเรีย เทเรซา สจวตเติบโตในฝรั่งเศส ในฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ที่ 14ทรงยอมรับว่าเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสเป็นรัชทายาทของอังกฤษและสกอตแลนด์ เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการสนับสนุนการปกครองโดยราชวงศ์สจวต (จาโคไบต์)

ชิงราชบัลลังก์

[แก้]

เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1701 เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสก็ทรงประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินในพระนาม เจมส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ และ เจมส์ที่ 8 แห่งสกอตแลนด์และเป็นที่ยอมรับในฝรั่งเศส สเปน วาติกันและโมดีนา ซึ่งรัฐต่างๆ เหล่านี้ไม่ยอมรับว่าพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และ พระเจ้าวิลเลียมที่ 3เป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษโดยชอบธรรม

การแข็งข้อของผู้สนับสนุนการปกครองโดยราชวงศ์สจวต

[แก้]

เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสพยายามชิงพระราชบัลลังก์โดยทรงพยายามที่จะรุกรานอังกฤษเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1708 โดยขึ้นที่เฟิร์ธออฟฟอร์ธ แต่กองทัพเรือฝรั่งเศสของพระองค์ถูกขับโดยกองทัพเรือของจอร์จ บิง ไวเคานท์ทอร์ริงตัน ถ้าเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสประกาศสละการเป็นโรมันคาทอลิกก็คงทรงมีโอกาสได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ[1] แต่ก็ไม่ทรงยอมทำ เมื่อกองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงถูกบังคับให้มีสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและพันธมิตรของอังกฤษโดยการลงนามในสนธิสัญญายูเทรกต์ ซึ่งข้อหนึ่งในสนธิสัญญาระบุว่าต้องขับเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสจากฝรั่งเศส

สิบห้า

[แก้]

ปีต่อมาผู้สนับสนุนการปกครองโดยราชวงศ์สจวต (จาโคไบต์) ก็ริเริ่ม สงครามฟื้นฟูราชวงศ์สจวต (The Fifteen Jacobite rising) ในสกอตแลนด์เพื่อกู้ราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิส ในปี ค.ศ. 1715 เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสก็ได้ขึ้นฝั่งที่สกอตแลนด์หลังศึกเชอริฟเมอร์ แต่ก็ทรงผิดหวังกับกำลังที่สนับสนุน แทนที่จะเข้าพิธีราชาภิเศกที่สโคน เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสเสด็จกลับฝรั่งเศสทางเรือจากมอนท์โรส แต่ไม่ทรงได้รับการต้อนรับในฝรั่งเศสหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จสวรรคตไปแล้ว

ชีวิต “ผู้อ้างสิทธิ”

[แก้]

สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 11ประทานวังมูติในกรุงโรมให้เป็นที่ประทับของเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิส สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 13ก็ทรงสนับสนุนเจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสเช่นกัน นอกจากนั้นคาร์ดินัลฟิลลิปโป อันโตนิโอ กุอัลเทริโอยังเจรจาตกลงให้ทางวาติกันจ่ายเงินประจำปึตลอดชีพปีละ 8,000 โรมันซึ่งเป็นจำนวนที่พอเพียงสำหรับการตั้งราชสำนักจัคโคไบต์ที่โรมได้

การแต่งงาน

[แก้]

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1719 เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสก็ทรงเสกสมรสกับมาเรีย เคลเม็นทินา โซบิเอสกา (Maria Klementyna Sobieska) ผู้เป็นพระนัดดาของพระเจ้ายันที่ 3 ซอบีแยสกีแห่งโปแลนด์ มีพระโอรสด้วยกันสององค์

  1. ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจวต (Charles Edward Stuart), (31 ธันวาคม ค.ศ. 1720 – 31 มกราคม ค.ศ. 1788) หรือที่รู้จักกันในนาม บอนนีพรินซ์ชาร์ลี (Bonnie Prince Charlie)
  2. เฮนรี เบนเนดิค สจวต (Henry Benedict Stuart), (11 มีนาคม ค.ศ. 1725 – 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1807) ต่อมาเป็นคาร์ดินัล

บอนนีพรินซ์ชาร์ลี

[แก้]

หลังจากที่เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสไม่ประสบความสำเร็จก็ทรงหันไปสนับสนุนพระโอรสในการพยายามยึดราชบัลลังก์อังกฤษและสกอตแลนด์ ความพยายามในปี ค.ศ. 1745 เกือบได้รับความสำเร็จ แต่ความพ่ายแพ้ครั้งที่สองทำให้ความหวังในการยึดราชบัลลังก์อังกฤษและสกอตแลนด์เป็นอันต้องสิ้นสุดลง

สิ้นพระชนม์

[แก้]

เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิสสิ้นพระชนม์ที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1766 พระศพถูกฝังไว้ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1766 รัฐบาลวาติกันก็ยอมรับราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ว่าเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอังกฤษและไอร์แลนด์โดยชอบธรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Sir Winston Churchill, A History of the English-Speaking Peoples, Vol. 2, Dodd, Mead & Co., NY 1957, pp. 97-98.