ข้ามไปเนื้อหา

จิกน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Barringtonia acutangula)
จิกน้ำ
ต้นจิกน้ำที่ทะเลสาบคืนดาบที่ฮานอย
ผลของจิกน้ำที่กัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Ericales
วงศ์: Lecythidaceae
สกุล: Barringtonia
สปีชีส์: B.  acutangula
ชื่อทวินาม
Barringtonia acutangula
(L.) Gaertn.

จิกน้ำ, จิกอินเดีย, จิกนา หรือ จิกมุจลินท์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barringtonia acutangula เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ Lecythidaceae มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ประเทศอัฟกานิสถาน ไปทางตะวันออกจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย แถบรัฐควีนส์แลนด์ โดยมักขึ้นใกล้ริมแหล่งน้ำ

จิกน้ำมีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามภาษาถิ่นว่า "กระโดนทุ่ง" หรือ "กระโดนน้ำ" (อีสาน-หนองคาย), "ปุยสาย" หรือ "ตอง" (ภาคเหนือ) "กระโดนสร้อย" (พิษณุโลก) และ "ลำไพ่" (อุตรดิตถ์) [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

เป็นไม้ประเภทผลัดใบ สูง 5-15 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล แดงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด เป็นรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ ปลายและโคนใบแหลม ขอบจักถี่ เวลามีดอกจะทิ้งใบเหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงามน่าชมมาก

ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้า ราว 30-40 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ หลุดร่วงง่าย เป็นสีแดง หรือ ชมพู เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้เป็นฝอย ๆ สีชมพู หรือ สีแดง จำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันจะดูแลสวยงามน่ารัก โดยเฉพาะช่วงมีดอกจะทิ้งใบมีแต่ยอดอ่อนเป็นสีแดงจัด ยิ่งเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น

ผลลักษณะกลมยาว มีเมล็ด ดอกออกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ในปีถัดไป

สรรพคุณ

[แก้]

ยอดอ่อนและดอก ใช้รับประทานเป็นผักสดและผักจิ้มกับ น้ำพริก ลาบ, น้ำตก , แจ่ว และอาหารรสเผ็ดอื่นๆ กินกับขนมจีน รสชาติมันปนฝาด [2]

เปลือกและต้นมีสรรพคุณใช้เบื่อปลา นอกจากนี้แล้วเนื้อไม้ยังใช้ทำไม้อัด ทำเครื่องเรือนและเป็นสมุนไพรแก้ระดูขาว ใบแก่ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ดใช้ทำเป็นยาลมแก้อาการจุกเสียดและแก้ไอในเด็ก[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
  2. อรทัย เนียมสุวรรณ นฤมล เล้งนนท์ กรกนก ยิ่งเจริญ พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา[ลิงก์เสีย]. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981 - 991
  3. "จิกน้ำ" ยอดอ่อนแดงดอกเป็นระย้า จากไทยรัฐ