ข้ามไปเนื้อหา

ไอแซค อสิมอฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไอแซก อสิมอฟ)
ไอแซค อาซิมอฟ
เกิด2 มกราคม พ.ศ. 2463
เปโตรวิชิ รัสเซีย
เสียชีวิต6 เมษายน พ.ศ. 2535 (อายุ 72 ปี)
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
อาชีพนักเขียน อาจารย์
สัญชาติอเมริกัน
แนวนิยายวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรื่องสำหรับเด็ก เรื่องตลก
แนวร่วมในทางวรรณคดีGolden Age of Science Fiction
ผลงานที่สำคัญไตรภาคสถาบันสถาปนา, รัตติกาล

ลายมือชื่อ

ดร.ไอแซค อาซิมอฟ (อังกฤษ: Isaac Asimov; รัสเซีย: Айзек Азимов Ayzek Azimov; IPA: /ˈaɪzək ˈæzɪmˌɔf/; 2 มกราคม พ.ศ. 2463-6 เมษายน พ.ศ. 2535) นักเขียนและนักชีวเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซียที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในฐานะนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และหนังสือแนววิทยาศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ หนังสือชุดสถาบันสถาปนา รวมทั้งหนังสืออีก 2 ชุด นั่นคือ หนังสือชุดจักรวรรดิเอ็มไพร์ และ หนังสือชุดหุ่นยนต์ นอกจากนี้เขายังได้เขียนนิยายแนวลึกลับและแฟนตาซี รวมทั้งสารคดีอีกจำนวนมาก เขาได้เขียนหนังสือในหมวดใหญ่ๆ ของระบบทศนิยมดิวอี้ทุกแนวเนื้อหา เว้นก็แต่แนวปรัชญาเท่านั้น

อาซิมอฟถือเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ในบรรดานักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ โดยจัดอยู่ในแนวหน้า เช่นเดียวกับ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ และอาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก ซึ่งถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสาม (Big Three) ในหมู่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในช่วงชีวิตของเขา

ประวัติ

[แก้]

ไอแซค อาซิมอฟ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2463 ที่เมืองเปโตรวิชิ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในรัสเซีย ห่างจากกรุงมอสโคว์ไปทางตะวันตกประมาณ 200 ไมล์ เมื่ออายุ 3 ขวบ พ่อของเขาได้อพยพครองครัวไปอยู่ที่บรูคลิน สหรัฐ เพราะคิดว่าจะสร้างความหวังใหักับอนาคตของลูกๆ ได้ดีกว่า พ่อของเขาหารายได้จากการเปิดร้านขายลูกกวาด ส่วนอาซิมอฟเองก็เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสอนไวยากรณ์

ไอแซค อาซิมอฟ อ่านหนังสือออกเมื่ออายุ 5 ขวบ และเป็นเด็กคนเดียวที่อ่านหนังสือออกทันทีเมื่อเข้าเรียนชั้นประถมต้น ภายหลังจากนั้น เขาก็อ่านหนังสืออย่างไม่เลือกประเภท และเริ่มเรียนข้ามชั้น เมื่ออาซิมอฟเรียนข้ามชั้น บรรดาครูก็รู้ว่าเขาเรียนเร็วเกินกว่าเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกันถึงสองปีครึ่ง จนถึงอายุ 8 ปี ก็สอบผ่านและได้รับสัญชาติอเมริกัน

ไอแซค อาซิมอฟ เริ่มรู้จักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ จากนิตยสาร Science Wonder Stories และนี่เองคือการเริ่มต้นชีวิตในงานประพันธ์ด้านนี้ของเขา เมื่ออายุ 11 ขวบ เขาก็เริ่มเขียนหนังสือ แต่ลงมือเขียนไปได้ไม่มากนักก็ต้องทิ้งค้างไว้อย่างนั้น แต่ทว่าในปีต่อมาเขาได้ไปที่สำนักงานนิตยสาร Astounding Scicene Fiction ซึ่งเป็นนิตยสารเสนอนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นนำอยู่ขณะนั้น เพื่อดูว่าทำไมหนังสือฉบับเดือนมิถุนายนจึงออกช้านัก

ผลจากการไปเยี่ยมสำนักพิมพ์ Astounding Science Fiction ก็คือ ทำให้เขาต้องกลับมาเขียนเรื่องที่เคยเขียนทิ้งค้างไว้นั้นต่อจนจบ และเมื่อเขียนจบ เขาก็เอาต้นฉบับไปส่งให้บรรณาธิการ จอห์น แคมเบลล์ จูเนียร์ (John Campbell Jr.) ซึ่งต่อมาคือหนึ่งในบรรดาบรรณาธิการนิตยสารนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จอห์น แคมเบลล์ จูเนียร์ เกิดรู้สึกต้องชะตาและสนใจตัวอาซิมอฟขึ้นมาทันที และผลจากงานเขียนแรกทำให้ ไอแซค อาซิมอฟ เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นอีก 6 เรื่องในชั่วเวลา 4 เดือน และก็ประสบความสำเร็จในการขายเรื่องแรกให้นิตยสารดังกล่าวสมความปรารถนา

อาซิมอฟ เรียนจบมัธยมปลายตั้งแต่อายุไม่ถึง 16 และเมื่ออายุ 19 อาซิมอฟ ก็เรียนจบได้ปริญญา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ด้านวิทยาศาสตร์เคมี จากนั้นก็เขาศึกษาต่อระดับปริญญาโทและจบด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น

อาซิมอฟตั้งใจเรียนปริญญาเอกทันที แต่ขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น เขาจึงต้องไปทำงานด้านเคมีให้กองทัพสหรัฐที่ฟิลาเดลเฟียช่วงหนึ่งจนหมดภาระ จึงได้กลับไปเรียกด๊อกเตอร์จบเมื่อปี พ.ศ. 2482 ขณะอายุ 29 ปี

ต่อมาเขาได้แต่งงานกับ เกอร์ทรูด ภรรยาคนแรก และทำงานอยู่ในห้องทดลองที่ฟิลาเดลเฟีย เขาได้เป็นอาจาย์สอนวิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยบอสตัน และได้เป็นรองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2492

ปี พ.ศ. 2495 เขาก็เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง "รัตติกาล" และเล่มแรกในเรื่องสั้น ชุด "หุ่นยนต์" ซึ่งอาจจัดเป็นชุดเรื่องสั้นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ต่อมาก็เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ขนาดยาว 3 เล่มจบ คือ ชุด "สถาบันสถาปนา" อันลือชื่อ

ในปี พ.ศ. 2501 อาซิมอฟก็ได้ทิ้งอาชีพสอนหนังสือ และหันมาเขียนหนังสือเต็มเวลา จนหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า ตลอดจนบทความต่างๆ หลั่งไหลออกมามากมาย นอกจากหนังสือวิชาการทางวิทยาศาสตร์ นิยายวิทยาศาสตร์ อาซิมอฟยังมีผลงานเขียนประเภทอื่นที่แทบไม่น่าเชื่ออีกด้วย อาทิเช่น เขาเขียนคำอธิบายประกอบบทละครต่างๆ ของเชกสเปียร์ วิจารณ์ พาราไดซ์ ลอสท์ ของมิลตัน ดอนฮวน ของไบรอน ตลอดจนวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลในแง่ของนักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังเขียนเรื่องทางประวัติศาสตร์ นิยายฆาตกรรมลึกลับ เรื่องสำหรับเด็ก เรื่องตลก และรวมเรื่องสัปดน ที่ตั้งชื่อไว้ว่า 8ถูกวางยา ในปี ค.ศ. 1992 อาซิมอฟก็พบว่าเขามีก้อนมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ และต้องผ่าตัด เขาวิตกกังวลมาก และอาจเป็นเพราะความวิตกกังวลประการนี้ ทำให้ขณะอยู่ในโรงพยาบาลก่อนทำการผ่าตัด อาซิมอฟได้เขียนนิยายฆาตกรรมลึกลับขึ้นมาได้สำเร็จอีกเรื่องหนึ่ง

ผลงานของอาซิมอฟได้ผสมผสานความสามารถทั้งในฐานะนักเขียนและ นักวิทยาศาสตร์เขาด้วยกันจนออกมาได้เป็นผลงานอันดีเยี่ยม และกลายเป็นประจักษ์พยานแพร่หลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมเกี่ยวกับ "นิยายวิทยาศาสตร์" นับครั้งไม่ถ้วน โดยได้รับรางวัลฮิวโก 4 ครั้ง รางวัลเนบิวลา 1 ครั้ง หนังสือที่อาซิมอฟเขียนไว้มีเกือบ 500 เรื่อง และที่เป็นบทความอีกหลายร้อยชิ้น

อาซิมอฟเสียชีวิตลงเมื่อ วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1992 ขณะที่อายุ 72 ปี ก่อนเสียชีวิตเขาได้เขียนอัตชีวประวัติชื่อ It’s been a good Life ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2002 สิบปีหลังจากการจากไปของเขา ในหนังสือเล่มนี้เปิดเผยว่าสาเหตุที่เขาเสียชีวิตมาจากหัวใจและไตล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคถูกวางยา เขาได้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อ​ในสมองอักเสบ จากการ (Heart bypass operation) อาซิมอฟปรารถนาจะให้สาธารณชนรับทราบเรื่องนี้เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ แต่นายแพทย์ประจำตัวคัดค้านและต้องการให้เรื่องนี้เป็นความลับ อย่างไรก็ตาม 5 เดือนต่อมาความปรารถนาครั้งสุดท้ายของเขาจึงกลายเป็นความจริง[1][2][3]

การสร้างงานเขียน

[แก้]

งานเขียนของอาซิมอฟสามารถแบ่งได้เป็นหลายยุค ในช่วงแรกๆ เขาอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่งานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์โดยเริ่มจากการเขียนเรื่องสั้นในปี ค.ศ. 1939 และเริ่มเขียนนวนิยายในปี ค.ศ. 1950 ไปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1958 หลังจากที่เขาได้พิมพ์เรื่อง นครสุริยะ เขาก็เริ่มงานเขียนแนวอื่นในราวปี ค.ศ. 1952 อาซิมอฟเป็นผู้แต่งร่วมให้กับตำราเรียนระดับวิทยาลัยได้แก่ Biochemistry และ Human Metabolism ครั้นถึงปี ค.ศ. 1957 เมื่อดาวเทียมสปุตนิกของสหภาพโซเวียตได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก เขาก็เริ่มหันไปเขียนบทความวิทยาศาสตร์ทันยุค รวมถึงจัดทำหนังสือและนิตยสาร งานประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ของเขาเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 25 ปีซึ่งเขาได้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เพิ่มเพียง 4 เรื่องเท่านั้น จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1982 เขาก็หันมาเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อีกครั้งโดยเริ่มจาก Foundation's Edge หลังจากนั้นจนกระทั่งถึงวันที่เขาเสียชีวิต อาซิมอฟได้เขียนเรื่องชุดต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ในนวนิยายก่อนหน้าของเขาอีกหลายเรื่อง โดยพยายามเชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้จะมีเรื่องราวบางจุดที่ยังไม่ค่อยสอดคล้องกันอยู่บ้างโดยเฉพาะในงานเขียนยุคแรกๆ ของเขา[4]

อาซิมอฟเชื่อว่าแนวคิดที่ยั่งยืนที่สุดของเขาคือ "กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์" และเรื่องชุดสถาบันสถาปนา พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ดให้เกียรติแก่ผลงานของเขาโดยบรรจุคำว่า โพสิตรอนิก (positronic) (เทคโนโลยีที่มีแต่ในนิยายเท่านั้น) อนาคตประวัติศาสตร์ (psychohistory) (คำนี้มีที่ใช้หมายถึงศาสตร์ที่ศึกษาความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์) และ โรโบติกส์ (robotics) ลงไปในพจนานุกรม อาซิมอฟเลือกใช้คำว่า โรโบติกส์ โดยไม่ได้คาดคิดว่ามันจะกลายเป็นคำต้นแบบที่ใช้กันต่อๆ มา ในเวลานั้นเขาเพียงแต่คิดว่ามันเป็นคำง่ายๆ เหมือนอย่าง แมคานิกส์ หรือไฮดรอลิกส์ พอเอามาใช้กับหุ่นยนต์ก็เลยเป็นโรโบติกส์ คำนี้ได้เข้ามาอยู่ในแวดวงทางเทคนิคพร้อมกับคำจำกัดความตามแนวคิดของอาซิมอฟด้วย ซึ่งต่างจากคำว่า "อนาคตประวัติศาสตร์" ในเรื่อง สตาร์เทรค: The Next Generation มีหุ่นแอนดรอยด์ซึ่งมี "สมองโพสิตรอน" ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติแก่อาซิมอฟอย่างเต็มที่ที่ได้ "คิดค้น" เทคโนโลยีในนิยายนี้ขึ้น

ผลงานนวนิยายวิทยาศาสตร์

[แก้]

อาซิมอฟเริ่มอ่านนิยายวิทยาศาสตร์จาก pulp magazines ซึ่งขายในร้านขนมของที่บ้านตั้งแต่ ค.ศ. 1929 เขาเริ่มเข้าสู่โลกของนิยายไซไฟในราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 โดยได้เข้าร่วมกลุ่มที่ต่อมากลายเป็นกลุ่มฟิวเจอเรียน เขาเริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรกคือ Cosmic Corkscrew ในปี ค.ศ. 1937 แต่เขียนไม่จบ จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 จึงเกิดแรงบันดาลใจจะทำต่อหลังจากได้ไปเยี่ยมสำนักงานของ Astounding Science Fiction เขาเขียน Cosmic Corkscrew จบในวันที่ 19 มิถุนายนและส่งเรื่องไปให้บรรณาธิการของ Astounding คือ จอห์น ดับเบิลยู. แคมป์เบล ด้วยตัวเองในอีกสองวันถัดไป แคมป์เบลปฏิเสธ Cosmic Corkscrew แต่ก็ได้ให้กำลังใจอาซิมอฟให้เขียนต่อไป และเขาก็เขียน เขาขายนิยายเรื่องที่สามของเขาคือ Marooned Off Vesta ให้แก่นิตยสาร Amazing Stories ได้ในเดือนตุลาคม มันได้ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เขายังคงเขียนนิยายต่อไปและบางครั้งขายต้นฉบับให้สำนักพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์หลายๆ แห่ง

ค.ศ. 1941 เขาได้ตีพิมพ์นิยายเรื่องที่ 32 ของเขาคือ รัตติกาล ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น "นิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล"[5] ค.ศ. 1968 นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในสหรัฐลงคะแนนโหวตให้ รัตติกาล เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ประเภทเรื่องสั้นที่ดีที่สุดที่เคยเขียนกันมา[6] ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของเขาชุด รัตติกาลกับเรื่องอื่นๆ อาซิมอฟเขียนไว้ว่า "การเขียนเรื่อง รัตติกาล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิชาชีพของผม... ผมตระหนักขึ้นมาทันทีว่านี่เป็นเรื่องจริงจัง และโลกนิยายวิทยาศาสตร์ได้รับรู้ถึงตัวตนของผมแล้ว อันที่จริง เมื่อผ่านไปอีกหลายปีจึงได้ชัดเจนขึ้นว่า ผมได้เขียนเรื่อง 'คลาสสิก' ขึ้นมาแล้ว"

วิทยาศาสตร์ทันยุค

[แก้]

งานเขียนอื่น

[แก้]

แนวทางในงานเขียน

[แก้]

ผลตอบรับและคำวิจารณ์

[แก้]

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]

การดัดแปลงผลงาน

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประวัติไอแซค อาซิมอฟ จากนิตยสารโลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2562 [1]
  2. ประวัติไอแซค อสิมอฟ[ลิงก์เสีย]
  3. "ประวัติไอแซค อาซิมอฟ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2008-11-10.
  4. ไอแซค อาซิมอฟ (1988) , Prelude to Foundation, Bantam Books, pp. xiii–xv
  5. Spud, The Invincible. "Isaac Asimov: The Good Doctor". Bewildering Stories article. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-05-13.
  6. Rothstein, Mervyn. "Isaac Asimov Obituary". อ้างอิงจาก นิวยอร์กไทมส์, ฉบับวันที่ 7 เมษายน 1992. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-05-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:จักรวาลของอาซิมอฟ แม่แบบ:อาซิมอฟ