ข้ามไปเนื้อหา

ไพมอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไพมอนตามที่ปรากฏใน นิรยภูมินุกรม

ไพมอน เป็นชื่อของดวงจิตในหนังสือ กุญแจย่อยของซาโลมอน (บทอาร์สโกเอเทีย), หนังสือ ฐานานุกรมปิศาจ ของโยฮัน ไวเออร์, หนังสือ นิรยภูมินุกรม ของปล็องซี, เอกสาร Sloane MS 3824 ที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ตลอดจนหนังสืออื่นๆ

บทอาร์สโกเอเทียระบุว่าไพมอนมีฐานันดรเป็นราชาและค่อนข้างเชื่อฟังลูซิเฟอร์[1][2] ไพมอนเป็นดวงจิตที่ 9 ในบทอาร์สโกเอเทีย และเป็นดวงจิตที่ 22 ในหนังสือฐานานุกรมปิศาจและนิรยภูมินุกรม[2][3] หนังสือ Grimoire of Pope Honorius ระบุว่าไพมอนเป็นราชาแห่งทิศประจิม[4][5][6]

บทอาร์สโกเอเทียระบุว่า ไพมอนเป็นบุรุษขี่อูฐหนอกเดียว โดยมีขบวนประโคมดนตรีเสียงดังนำหน้า (เน้นแตรและฉาบ) เอกสาร Sloane MS 3824 ระบุว่าอูฐสวมมงกุฎ[5] ในขณะที่แหล่งอื่นที่เหลือระบุว่าตัวไพมอนเป็นผู้สวมมงกุฎเอง[1] บทอาร์สโกเอเทียไม่ได้เขียนว่าไพมอนมีหน้าตาเช่นไร ในขณะที่แหล่งอื่นต่างระบุว่าเขามีใบหน้าเป็นสตรี แต่ยังใช้คำเรียกถึงเป็นแบบบุรุษ[2][3][4]

บทอาร์สโกเอเทียระบุว่า หากไพมอนปรากฏขึ้นตนเดียว จะต้องมีการสังเวยเพื่ออัญเชิญเบบัลและอาบาลัมขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นสองราชาข้ารับใช้ของไพมอนเพียงแต่ไม่ชอบติดตามไพมอน เอกสารสามแหล่งระบุว่าเขาเป็นผู้ปกครองเหนือ 200 กรมกองวิญญาณ ซึ่งบางส่วนอยู่ในคณะทูตสวรรค์และที่เหลืออยู่ในคณะอำนาจ[1][2][3] เอกสาร Sloane MS 3824 และหนังสือ Liber Officiorum Spirituum ระบุว่าเขามีเสียงแหบแห้ง[5][7][8] หนังสือ Liber Officiorum Spirituum ระบุว่าไพมอนจะพูดภาษาของตนเท่านั้นจนกว่าผู้อัญเชิญจะสั่งให้พูดภาษาอื่น[7][8][9]

บทอาร์สโกเอเทีย, หนังสือ Livre des Esperitz และหนังสือ Liber Officiorum Spirituum ล้วนระบุว่าไพมอนเป็นผู้สั่งสอนวิทยาการและตอบคำถามต่างๆ อาร์สโกเอเทียขยายความว่าเขาเป็นผู้รู้รอบศิลป์ทุกแขนง และยังรู้ถึงเรื่องลับต่างๆในโลก อาทิ ความรู้เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม เป็นต้น

หนังสือ Abramelin ระบุว่าเขาเป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอดีตและอนาคต, ช่วยคลายความสงสัย, ทำให้วิญญาณปรากฏตัว สร้างสรรค์นิมิต, สามารถคืนชีพคนตายได้เป็นเวลาหลายปี และมีพลังในการสรรค์สร้างทุกสิ่งอย่าง[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Peterson 2001, pp. 10–14.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Weyer 1563, par. 20-29.
  3. 3.0 3.1 3.2 de Plancy 1853, pp. 380–389.
  4. 4.0 4.1 Boudet 2003, par. 2, 25, 28, 24, 38.
  5. 5.0 5.1 5.2 Ashmole 2009, pp. 55, 59, 60, 162–172.
  6. Banner 1999, pp. 80–89.
  7. 7.0 7.1 Porter 2011, pp. 10–19.
  8. 8.0 8.1 Porter 2015, pp. 191–207.
  9. Porter 2011, pp. 30–39.
  10. von Worms 2006, p. 133.