ไข้รากสาดใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไข้ไทฟัส)
ไข้รากสาดใหญ่
(Typhus)
ผื่นที่เกิดจากไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10A75.1
ICD-9080-083
DiseasesDB29240
MedlinePlus001363
eMedicinemed/2332
MeSHD014438

ไข้รากสาดใหญ่ หรือ ไข้ไทฟัส (อังกฤษ: Typhus) เป็นกลุ่มของโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยมีแมลงปรสิต (louse) เป็นพาหะ ชื่อโรคไทฟัสมาจากรากศัพท์ภาษากรีก typhos แปลว่าขี้เกียจหรือขุ่นมัว ซึ่งอธิบายสภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้คือเชื้อกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งเป็นปรสิตที่จำเป็นต้องอยู่ในเซลล์โฮสต์ตลอดเวลา ไม่มีวงชีพอิสระ เชื้อริกเก็ตเซียเป็นเชื้อที่ระบาดอยู่ในสัตว์พวกหนู และแพร่กระจายเข้าสู่มนุษย์โดยเห็บ เหา หมัด โลน หรือไร พาหะเหล่านี้จะเจริญได้ดีภายใต้ภาวะสุขลักษณะไม่ดีเช่นในเรือนจำ ค่ายผู้ลี้ภัย ในหมู่คนไร้บ้าน และในสนามรบช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในประเทศที่พัฒนาแล้วโรคไข้รากสาดใหญ่มักติดต่อผ่านทางหมัด ส่วนในเขตร้อนโรคนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก

โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียนอกจากจะมีไข้รากสาดใหญ่ประเภทต่างๆ ที่จะกล่าวถึงแล้วนั้น ยังมีโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever) และโรคไข้พุพอง (spotted fevers) ที่ระบาดในประเทศโคลอมเบียและบราซิล

ชนิดของไข้รากสาดใหญ่[แก้]

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด[แก้]

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด (Epidemic typhus หรืออาจเรียกว่า "Camp Fever", "Jail Fever", "Hospital Fever", "Ship Fever", "Famine Fever", "Petechial Fever", หรือ "louse-borne typhus"[1]) มักเกิดการระบาดหลังจากสงครามหรือภัยพิบัติ เชื้อก่อโรคคือ Rickettsia prowazekii ซึ่งติดต่อผ่านทางเหาตัว (body louse; Pediculus humanus corporis) [2][3]ที่เจริญบนตัวของผู้ติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรีย R. prowazekii จะเติบโตในทางเดินอาหารของเหาและถูกขับถ่ายออกมาทางมูล และติดต่อไปยังอีกคนหนึ่งเมื่อเกา (จากการถูกเหากัดและคัน) และมูลของเหาเข้าไปในแผล ระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ เชื้อแบคทีเรีย R. prowazekii สามารถมีชีวิตและสามารถแพร่กระจายเชื้ออยู่ได้ในมูลเหาเป็นเวลาหลายวัน ไข้รากสาดใหญ่สามารถทำให้เหาตายได้ แต่เชื้อก็ยังมีชีวิตอยู่ในซากเหาได้อีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์

อาการของโรคนี้คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไข้สูงลอย ไอ มีผื่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หนาวสั่น ความดันโลหิตตกลง ซึม ไวต่อแสง และเพ้อ ผื่นจะเริ่มปรากฏบนหน้าอกประมาณ 5 วันหลังจากมีไข้และกระจายไปตามลำตัวและแขนขา แต่ไม่ลามถึงใบหน้า ฝ่ามือและฝ่าเท้า อาการทั่วไปในโรคไข้รากสาดใหญ่ทุกชนิดคือมีไข้ซึ่งอาจสูงถึง 39°C (102°F)

การรักษาการติดเชื้อทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ส่วนการให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำและออกซิเจนอาจพิจารณาเพื่อประคับประคองผู้ป่วย อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ประมาณ 10% ถึง 60% แต่อาจลดลงอย่างรวดเร็วหากใช้ยาปฏิชีวนะ เช่นเตตราไซคลีน (tetracycline) แต่เนิ่นๆ การป้องกันการติดเชื้ออาจใช้วัคซีน

โรคบริลล์-ซินสเซอร์ (Brill-Zinsser disease) ค้นพบโดยนาธาน บริลล์ (Nathan Brill) ในปี ค.ศ. 1913 เป็นลักษณะหนึ่งของไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดที่มีความรุนแรงต่ำ ซึ่งเกิดซ้ำหลังจากอาการแสดงของโรคครั้งแรกหายไปแล้ว (หลังระยะแฝงที่ยาวนาน) (ในลักษณะเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างอีสุกอีใสและงูสวัด) การอุบัติซ้ำในลักษณะนี้สามารถเกิดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ

ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดพบได้บ่อยระหว่างสงครามหรือภาวะทุพภิกขภัย เช่น การระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ในค่ายกักกันของนาซีเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายพันคนเนื่องจากมีสุขภาวะที่ย่ำแย่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคหลายชนิด ส่วนการระบาดที่พบในคริสต์ศตวรรษที่ 21 น่าจะเกิดจากค่ายผู้ลี้ภัยในภาวะอดอยากหรือมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น[แก้]

ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น (Endemic typhus หรืออาจเรียกว่า "ไข้รากสาดใหญ่จากหมัด" (flea-borne typhus) และ "ไข้รากสาดใหญ่จากหนู" (murine typhusor)) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Rickettsia typhi และติดต่อผ่านทางหมัด (flea) ที่กัดหนู[4] ในบางครั้งไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่นอาจเกิดจากเชื้อ Rickettsia felis และติดต่อผ่านทางหมัดที่อาศัยบนแมวหรือโอพอสซัม

อาการของไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่นได้แก่ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนและไอ ไข้รากสาดชนิดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ[4] และมักกลับมาหายเป็นปกติ แต่อาจพบการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ พิการอย่างรุนแรง หรือภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ อาการแสดงอาจคล้ายกับหัด หัดเยอรมัน หรือ Rocky Mountain spotted fever[5]

ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ[แก้]

ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ หรือ สครับไทฟัส (Scrub typhus หรืออาจเรียกว่า "ไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อน" (chigger-borne typhus)) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Orientia tsutsugamushi ซึ่งมีพาหะนำโรคคือไรอ่อน (chigger) ซึ่งพบมากตามป่าละเมาะ โรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดนี้รู้จักในญี่ปุ่นในชื่อ "โรคซัทสึกามูชิ" (tsutsugamushi disease) และพบความชุกของโรคในมาเลเซียและออสเตรเลีย ชายแดนไทย-พม่า พบการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรงในกองทหารในพม่าและศรีลังการะหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[6]

อาการของไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะได้แก่มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ และมีอาการในระบบทางเดินอาหาร สายพันธุ์ของเชื้อ O. tsutsugamushi ที่รุนแรงอาจทำให้มีเลือดออกและเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด (intravascular coagulation) การสัมผัสกับไรอ่อนซึ่งพบได้ทั่วไปทุกภูมิภาคของโลกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง

การรักษา[แก้]

โรคไข้รากสาดใหญ่หากไม่ได้รับการรักษาอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด การให้การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้เกือบทุกราย[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Diseases P-T at sedgleymanor.com". สืบค้นเมื่อ 2007-07-17.
  2. Gray, Michael W. Rickettsia, typhus and the mitochondrial connection Nature 396, 109 - 110 (12 November 1998)].
  3. Jan O. Andersson, Siv G.E. Andersson, “A century of typhus, lice, and Rickettsia” , Res. Microbiol. 151 (2000) 143–150.
  4. 4.0 4.1 Information on Murine Typhus (Fleaborne Typhus) or Endemic Typhus เก็บถาวร 2011-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Texas Department of State Health Services (2005).
  5. Current Medical Dianosis & Treatment 1999 ed. Lawrence M. Tierney, Jr., MD, Stephen J. McPhee, MD, Maxine A. Papadakis, MD, Appleton & Lange, 1999. pp.1286 ISBN 0-8385-1550-9
  6. Audy, J. R. "Red Mites and Typhus." London: The Athlone Press. 1968. ISBN 0485263181
  7. MedlinePlus Medical Encyclopedia: Typhus