แอร์แน็สต์ ดูดาร์ เดอ ลาเกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอร์แน็สต์ ดูดาร์ เดอ ลาเกร
31 มีนาคม ค.ศ. 1823 – 12 มีนาคม ค.ศ. 1868(1868-03-12) (44 ปี)

เกิดที่ แซ็ง-แว็งซ็อง-เดอ-แมร์กูซ ประเทศฝรั่งเศส
อนิจกรรมที่ ตงชฺวาน มณฑลยูนนาน ต้าชิง
เหล่าทัพ ทหารเรือ
ยศสูงสุด นาวาโท (capitaine de frégate)
รับใช้ ฝรั่งเศส จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2
การยุทธ สงครามไครเมีย
บำเหน็จ เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 3
Grande Médaille d'Or des Explorations
อาชีพอื่น นักสำรวจ, นักกีฏวิทยา

แอร์แน็สต์ มาร์ก หลุยส์ เดอ กงซาก ดูดาร์ เดอ ลาเกร (ฝรั่งเศส: Ernest Marc Louis de Gonzague Doudart de Lagrée, 31 มีนาคม ค.ศ. 1823 – 12 มีนาคม 1868) เป็นหัวหน้าคณะสำรวจแม่น้ำโขงของประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. 1866–1868[1]

ดูดาร์ เดอ ลาเกร เกิดที่แซ็ง-แว็งซ็อง-เดอ-แมร์กูซ (Saint-Vincent-de-Mercuze) ใกล้เมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาจากเอกอลปอลีแต็กนิก[2] เขาได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือฝรั่งเศสและเข้าร่วมรบในสงครามไครเมีย ก่อนจะย้ายมาประจำการที่ไซ่ง่อน ในอินโดจีนฝรั่งเศส ด้วยหวังว่าสภาพภูมิอากาศของที่นี่จะช่วยเยียวยาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) ที่เขาเป็นเรื้อรังได้ แต่โรดนี้รักษาไม่หาย และตลอดช่วงการสำรวจแม่น้ำโขง อาการโรคดังกล่าวของเขามักกำเริบอยู่บ่อยครั้ง

ในช่วงที่ประจำการอยู่ที่ไซ่ง่อนนี้เอง เขาได้ประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญากับกัมพูชา ซึ่งทำให้กัมพูชาตกลงยอมเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1863 โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวที่เมืองไซ่ง่อน

คณะสำรวจแม่น้ำโขงภายใต้การนำของดูดาร์ เดอ ลาเกร ได้เดินทางออกจากไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1866 ระหว่างการเดินทางนอกจากจะต้องเผชิญกับโรคแผลในกระเพาะอาหารแล้ว เขายังต้องทนทรมานจากการเป็นไข้ ป่วยด้วยโรคบิดมีตัว และมีแผลติดเชื้อจากการถูกปลิงกัด เนื่องจากคณะสำรวจจำเป็นต้องเดินเท้าเปล่าเมื่อรองเท้าที่ใช้อยู่หมดสภาพและไม่มีรองเท้าสำรองใช้ทดแทน เมื่อคณะสำรวจเดินทางมาถึงเขตตงชฺวาน ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เขาก็ป่วยเกินกว่าที่จะเดินทางต่อได้อีก ฟร็องซิส การ์นีเย รองหัวหน้าคณะสำรวจ จึงต้องรับช่วงต่อหน้าที่หัวหน้าคณะสำรวจแทน การ์นิเยร์ได้นำคณะสำรวจเดินทางต่อไปยังเมืองต้าหลี่ และได้ฝากดูดาร์ เดอ ลาเกร ไว้อยู่ในความดูแลของแพทย์จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงจากโรคฝีในตับ แพทย์ได้ผ่าตัดเอาหัวใจของดูดาร์ เดอ ลาเกร ออกเพื่อนำกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส ส่วนร่างของเขาได้ทำการฝังไว้ที่เขตตงชฺวานนั้นเอง

ดูดาร์ เดอ ลาเกร ยังเป็นนักกีฏวิทยาอีกด้วย ชุดสะสมแมลงที่เขารวบรวมไว้จากทวีปแอฟริกาได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Delaporte, Louis (1842-1925)". Musée Guimet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2011. สืบค้นเมื่อ 10 July 2011. Choisi pour ses talents de dessinateur, Delaporte accompagne la Mission Doudart de Lagrée explorant le cours du Mekong.
  2. "Ernest DOUDART de LAGRÉE". Angkor Wat Online. สืบค้นเมื่อ 10 July 2011. Ce marin est aussi un passionné d’archéologie. Le Cambodge lui doit beaucoup pour ses recherches sur l’art khmer. Le 5 juin 1866, Doudart de Lagrée quitte Saigon, à la tête d’une expédition qui doit remonter le Mékong. Elle est de retour le 19 juin 1868. La mission fut un succès, mais le capitaine de frégate Ernest Doudart de Lagrée était décédé le 12 Mars à Tong-Tchouen en Chine terrassé par la maladie.
  3. "Groll, E. K. Biografien der Entomologen der Welt : Datenbank".[ลิงก์เสีย]