อารามโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อารามโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ
Beaulieu-sur-Dordogne Abbey
แผนที่
44°58′45″N 1°50′21″E / 44.97917°N 1.83917°E / 44.97917; 1.83917
ที่ตั้งโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอารามคณะเบเนดิกติน
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
กอธิค
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

อารามโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ (อังกฤษ: Beaulieu-sur-Dordogne Abbey) หรือชื่อเต็มคือ อารามแซ็ง-ปีแยร์เดอโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ (ฝรั่งเศส: Abbaye Saint-Pierre de Beaulieu-sur-Dordogne) เป็นแอบบีย์ของคณะเบเนดิกติน ตั้งอยู่ที่เมืองโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ กอแรซ แคว้นลีมูแซ็ง ประเทศฝรั่งเศส

ประวัติ[แก้]

อารามโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญก็เช่นเดียวกับแอบบีย์ที่อูว์แซร์ชและลีมอฌที่เป็นอารามคณะเบเนดิกตินที่ก่อตั้งมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 และรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะตำแหน่งที่ตั้งที่ไม่ไกลจากเส้นทางเซนต์เจมส์ แอบบีย์ก่อตั้งขึ้นราวปี ค.ศ. 855 โดยรูดอล์ฟแห่งตูว์แรน อาร์ชบิชอปแห่งบูร์ฌ นักบวชกลุ่มแรกของอารามมาจากแอบบีที่ซอลีญักไม่ไกลจากลีมอฌ

เมื่ออารามมีฐานะมั่งคั่งขึ้นก็เป็นที่หวั่นเกรงของขุนนางผู้ครองที่ดินในบริเวณนั้นจนบิชอปแห่งลีมอฌต้องมาช่วยป้องกันการรังควาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 อารามแซ็ง-ปีแยร์ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอารามกลูว์นี ราวปี ค.ศ. 1095 ก่อได้มีการก่อสร้างอารามขนาดใหญ่ขึ้นและดำเนินต่อมาเกือบห้าสิบปี ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็ได้มีการสร้างหอยอดแหลมทางด้านตะวันตกที่ใช้เป็นหอระฆังของเมืองบิวลีไปในตัวด้วย

อารามทรุดโทรมลงเมื่อมาถึงสมัยสงครามร้อยปีที่ทำลายสิ่งต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ไปมาก สงครามศาสนาต่อมาก็ช่วยจบการทำลาย เมืองโบลีเยอและอารามตกไปเป็นของฝ่ายอูเกอโนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1569 และไม่ได้กลับมามีบทบาทอีกจนกระทั่งปี ค.ศ. 1663 เมื่อมาถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส อารามก็ถูกยุบและทำลายไปเป็นบางส่วน

ตัวสิ่งก่อสร้าง[แก้]

ตัวแอบบีมีทางเดินกลางที่ยาวสี่ช่วง แขนกางเขน และ บริเวณร้องเพลงสวดขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยจรมุข บริเวณร้องเพลงสวด, แขนกางเขนด้านใต้ และส่วนใหญ่ของทางเดินกลางเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ที่สร้างมาแต่เดิม หอระฆังและหอกลางสร้างในสมัยต่อมาเป็นแบบกอธิค ความยาวของตัววัด 71 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดที่แขนกางเขน 38 เมตร ทางเดินกลางสูง 17 เมตร และหอกลางสูงขึ้นไปจากนั้นอีก 6 เมตร

สิ่งที่เด่นที่สุดคืองานแกะสลักที่ประตูทางเข้าด้านใต้โดยเฉพาะบนหน้าบันที่เป็นภาพ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” แสดงถึงการมาครั้งที่สองของพระเยซูอย่างมีชัย และการคืนพระชนม์ของพระเยซู บนหน้าบันมีความสูงถึง 2.1 เมตร พระกรกางออกไปเป็นรูปกางเขนขนาบด้วยอัครทูต ตอนบนเป็นทูตสวรรค์ถือมงกุฎและตาปูเหนือพระเศียร ขณะที่เทวดาอื่นเป่าทรัมเป็ตเรียกผู้เสียชีวิตขึ้นมาให้ทำการการตัดสินบุญบาป

สิ่งที่เด่นอีกอย่างหนึ่งคือชั้นแท่นบูชา (Retable) แบบบาโรกที่เป็นไม้ทาทองที่สร้างปี ค.ศ. 1678 ไม่นานหลังจากการรื้อฟื้นอาราม ที่เป็นภาพ “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์” สมบัติอื่นของอาราม ก็ได้แก่ “แม่พระและพระกุมาร” และ เรลิกที่เป็นแขนที่ทำด้วยไม้หุ้มด้วยเงินและทองคำเปลว

อ้างอิง[แก้]

  • Eugène Lefèvre-Pontalis - Beaulieu - pp. 366–394, dans Congrès archéologique de France. 84 session. Limoges. 1921 - Société Française d'Archéologie - Paris - 1923
  • Marguerite Vidal, Jean Maury, Jean Porcher - Quercy roman - pp. 285–313 - Éditions Zodiaque (collection "la nuit des temps n°10) - La Pierre-qui-Vire - 3e édition - 1979 ISBN 978-2736901431
  • Anne-Marie Pêcheur et Évelyne Proust - Beaulieu-sur-Dordogne, abbatiale Saint-Pierre - pp. 83–103, dans Congrès archéologique de France. 163 session. Corrèze. 2005 - Société Française d'Archéologie - Paris - 2007

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อารามแซ็ง-ปีแยร์แห่งโบลีเยอ-ซูร์-ดอร์ดอญ

ระเบียงภาพ[แก้]