แร้งคอนดอร์แอนดีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แร้งคอนดอร์แอนดีส
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 2.6–0Ma
สมัยไพลโอซีนตอนปลาย–สมัยโฮโลซีน
ตัวเมียในสวนสัตว์ดูเอ-ลา-ฟงแตน ประเทศฝรั่งเศส
ตัวผู้ที่สวนสัตว์ทารองกา ประเทศออสเตรเลีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Cathartiformes
วงศ์: Cathartidae
สกุล: Vultur
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: V.  gryphus
ชื่อทวินาม
Vultur gryphus
Linnaeus, 1758
สีเหลือง - สถานที่แพร่กระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Vultur fossilis Moreno & Mercerat, 1891
  • Vultur patruus Lönnberg, 1902
  • Vultur pratruus Emslie, 1988 (lapsus)

แร้งคอนดอร์แอนดีส (อังกฤษ: Andean condor, condor; ชื่อวิทยาศาสตร์: Vultur gryphus) นกล่าเหยื่อขนาดใหญ่จำพวกแร้ง จัดเป็นแร้งโลกใหม่ (Cathartidae) ชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Vultur[2]

แร้งคอนดอร์แอนดีส จัดเป็นแร้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงจัดเป็นนกล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย และนับเป็นหนึ่งในนกที่บินได้ที่มีช่วงปีกกว้างที่สุดในโลก รองมาจากนกอัลบาทรอส เพราะมีช่วงปีกกางได้กว้างถึง 3 เมตร ขณะที่มีลำตัวยาว 1.2 เมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 14 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่ และถือเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปอเมริกาใต้ด้วย[3][4] [5]

แร้งคอนดอร์แอนดีส มีความแตกต่างระหว่างเพศที่เห็นได้ชัด คือ ตัวผู้จะมีหงอนสีแดงสดและเหนียงยานต่าง ๆ ที่บนหัวและใต้คางหรือหลังหัวที่โล้นเลี่ยนปราศจากขน ซึ่งเหนียงเหล่านี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์บอกถึงความสง่างามและแข็งแกร่งของนกตัวผู้ ขณะที่ตัวเมียจะไม่มีลักษณะดังกล่าว[3]

มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในแถบเทือกเขาแอนดีสและที่ราบสูงปาตาโกเนีย ในทวีปอเมริกาใต้ โดยอาศัยและทำรังบนหน้าผาสูงในระดับนับร้อยหรือพันเมตรจากพื้นดิน มีระดับการบินที่สูงจากพื้นดิน ขณะที่สายตาก็สอดส่องมองหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ซากสัตว์ต่าง ๆ ที่ตายบนพื้นดิน เมื่อพบเจอซากสัตว์ แร้งคอนดอร์แอนดีสมักจะได้สิทธิกินซากก่อนนกหรือแร้งโลกใหม่ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่แร้งคอนดอร์แอนดีสด้วยกันตัวอื่น ๆ แม้จะเจอซากสัตว์เหมือนกัน อาจมีการแย่งกินกันบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนแร้งโลกเก่า (Aegypiinae) และนกตัวผู้จะได้รับสิทธิให้กินก่อน ต่อจากนั้นก็จะตามมาด้วยนกตัวเมีย และนกวัยรุ่นหรือนกวัยอ่อน ซึ่งในนกวัยรุ่นอาจมีการดึงแย่งเศษซากชิ้นส่วนกันด้วย[3]

แร้งคอนดอร์แอนดีสเป็นนกที่มีอายุยืน อาจมีอายุได้ถึง 50-60 ปี เป็นนกที่จับคู่แบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต ทำรังบนหน้าผาสูง โดยวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง พ่อแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูกนานถึง 2 ปี เมื่อลูกนกฝึกบินจะเป็นพ่อและแม่นกที่ช่วยสอนลูก[3]

ขณะบิน

แร้งคอนดอร์แอนดีส มีการอพยพย้ายถิ่นไปในสหรัฐอเมริกาและอเมริกากลางเช่นเดียวกับแร้งโลกใหม่ชนิดอื่น ๆ โดยจะบินอพยพไปพร้อม ๆ กันเป็นฝูงใหญ่ โดยมีการแวะพักในระหว่างทาง แร้งคอนดอร์แอนดีส เกือยจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1985 เมื่อนักสำรวจพบเจอนกเพียง 5 ตัวเท่านั้นในธรรมชาติ และได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์เผ่าพันธุ์เอาไว้ [4]

ปัญหาปัจจุบันของแร้งคอนดอร์แอนดีส รวมถึงแร้งชนิดอื่น ๆ คือ การกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำให้นกตายได้ในภายหลัง ทำให้ในบางพื้นที่ เช่น ชานกรุงซานเตียโก เมืองหลวงของประเทศชิลี ทางเทศบาลจะคัดแยกขยะที่สามารถเป็นอาหารของแร้งได้ แยกไว้ต่างหากในกองขยะที่รอการกำจัดทิ้ง เพื่อให้เป็นอาหารของแร้งคอนดอร์แอนดีส รวมถึงนกกินซากชนิดอื่น ๆ ด้วย เพื่อไม่ให้กินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Vultur gryphus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 อเมริกาใต้, "มองโลกอัศจรรย์ผ่านนภากาศ". สารคดีของบีบีซีเวิลด์ ทางไทยพีบีเอส: พฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556
  4. 4.0 4.1 นกแร้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  5. e Ferguson-Lees, James; Christie, David A. (2001). Raptors of the World. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 0-618-12762-3.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Vultur gryphus ที่วิกิสปีชีส์