แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แกร์ฮาร์ท เฮาพ์ทมันน์)
แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน

แกร์ฮาร์ท โยฮัน โรแบร์ท เฮาพท์มัน (อังกฤษ: Gerhart Johann Robert Hauptmann) เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1862 ณ เมืองโอเบอร์ซัลทซ์บรุน (Obersalzbrunn) ทางตอนใต้ของไซลีเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์) เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของเจ้าของโรงแรมที่ทันสมัยชื่อ ซัวร์พร็อยซิชเชินโครเนอ (Zur Preussischen Krone) เขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา เขาเป็นเด็กที่ช่างคิดช่างฝัน ไม่ชอบคิดอะไรตามกฎเกณฑ์ และชอบวาดรูป

วัยศึกษา[แก้]

เขาได้เข้าเรียนโรงเรียนประถมในหมู่บ้าน และมีครูพิเศษมาสอนภาษาละตินและไวโอลินที่บ้าน ต่อมาเขาก็เข้าเรียนมัธยมใน ค.ศ. 1874 ในโรงเรียนประจำในเบรสเลา แต่ก็เรียนไม่จบ ต้องลาออกมาก่อนเนื่องจากเรียนอ่อนมาก ใน ค.ศ. 1878 เขาถูกส่งไปเรียนเกษตรกรรมที่ฟาร์มของลุง แต่ก็ต้องกลับมาบ้านเนื่องจากป่วยเป็นโรคปอด ต่อมาเขาก็มีความสนใจทางด้านวัฒนธรรมและอยากเป็นประติมากร จึงไปเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะที่เบร็สเลา และเมื่ออายุ 20 ปี เขาก็ย้ายไปเรียนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยนา ต่อมาใน ค.ศ. 1883–1884 เขาก็ได้ย้ายไปศึกษาศิลปะและเป็นประติมากรในโรม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงกลับมาที่เบอร์ลินและเรียนศิลปะการละครแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ใน ค.ศ. 1885 เขาแต่งงานกับมารี ทีเนอมัน (Marie Thienemann) และอาศัยอยู่ในเบอร์ลิน จากนั้นเฮาพท์มันได้เปลี่ยนความคิดมาสนใจทางด้านวรรณกรรม

วัยทำงาน[แก้]

อันที่จริงเฮาพท์มันได้มีความสนใจงานด้านการเขียนมาตั้งแต่ตอนที่อยู่ที่โรม เขาได้เริ่มเขียนบทกลอนแบบจินตนิยมซึ่งนำมาจากเรื่อง Prometheus แต่เมื่อเขาเริ่มงานเขียนอย่างจริงจังเขาก็ปฏิเสธความคิดแบบเพ้อฝันและหันมาสู่ความเป็นจริง เขาได้รับอิทธิพลจากเฮนริก อิบเซน นักเขียนแนวสัจนิยมชาวนอร์เวย์ ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาเป็นแนวธรรมชาตินิยม ได้แก่ Bahnwärter Thiel (1888) ซึ่งเป็นเรื่องแนวจิตวิทยา-ธรรมชาตินิยม ส่วนบทละครเรื่องแรกของของเขา คือ Vor Sonnenaufgang (1889) ซึ่งได้เปิดแสดงครั้งแรกที่เบอร์ลิน ได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะเขาได้นำภาพความเป็นจริงมาตีแผ่อย่างละเอียด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในเยอรมนี ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักขึ้นมา ต่อมาเขาก็โด่งดังไปทั่งโลกจากบทละครเรื่อง Die Weber (1892) ซึ่งเป็นเรื่องจริงของคนงานทอผ้าในแคว้นไซลีเซีย บทละครเรื่องนี้เขาได้เขียนสภาพความเป็นจริงของความลำบากของคนงานทอผ้า โดยนำมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และยังได้ใช้ภาษาท้องถิ่นในงานเขียนชิ้นนี้ด้วย บทละครเรื่องนี้ตอนแรกถูกห้ามแสดงเพราะชนชั้นปกครองเห็นว่าเป็นการปลุกระดม แต่ศาลก็ตัดสินให้แสดงได้ ต่อมาแนวการเขียนของเขาเริ่มมีแนวจินตนิยมสมัยหลัง ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ และคลาสสิกสมัยใหม่เพิ่มเข้ามา เช่น Die versunkene Glocke (1897), Der arme Heinrich (1902) ฯลฯ แต่เขาก็ยังเขียนบทละครแนวธรรมชาตินิยมที่แสดงให้เห็นชีวิตของคนชนชั้นล่างแบบที่เขาถนัด เช่น Fuhrmann Henschell (1899), Rose Bernd (1903) เป็นต้น

ใน ค.ศ. 1904 เขาหย่าขาดจากมารีและแต่งงานใหม่กับแมร์เกอเรเทอ มาร์ชัลค์ (Mergerete Marschalk) เด็กสาวที่เขาหลงรัก เฮาพท์มันได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ ค.ศ. 1912 ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เขาก็ได้เปลี่ยนแนวการเขียนของเขามาเป็นประเภทเทพนิยายและเรื่องเล่า เช่น Till Eulenspiegel (1928) นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Das Abenteuer meiner Jugend (1937) ซึ่งเขาเขียนขึ้นจากชีวิตของเขาเองในวัยเด็กและวัยรุ่น ในบั้นปลายของชีวิตเขาอาศัยอยู่บนเนินเขาในเมืองอักเนเทินดอร์ฟ (Agnetendorf) ในไซลีเซีย และเสียชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1946

ผลงาน[แก้]

แสตมป์แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน
  • 1885 Promethidenlos
  • 1887 Fasching
  • 1888 Bahnwärter Thiel, Das bunte Buch
  • 1889 Vor Sonnenaufgang
  • 1890 Das Friedensfest, Der Apostel
  • 1891 Einsame Menschen
  • 1892 Die Weber, Kollege Crampton
  • 1893 Der Biberpelz
  • 1894 Hanneles Himmelfahrt
  • 1896 Florian Geyer, Elga
  • 1897 Die versunkene Glocke
  • 1899 Fuhrmann Henschel, Schluck und Jau
  • 1900 Michael Krammer
  • 1901 Der rote Hahn
  • 1902 Der arme Heinrich
  • 1903 Rose Bernd
  • 1906 Die Jungfern vom Bischfsberg
  • 1907 Und Pippa tanzt!
  • 1908 Kaiser Karls Geisel, Griechisher Frühling
  • 1909 Griselda
  • 1910 Der Narr in Christo Emanuel Quint
  • 1911 Die Ratten
  • 1912 Atlantis, Gabriel Schillings Flucht, Gral-Phantasien
  • 1913 Festspiel in deutschen Reimen
  • 1914 Der Bogen des Odysseue
  • 1915 Magnus Garbe
  • 1917 Winterballade
  • 1918 Der Ketzer von Soana
  • 1919 Indipohdi
  • 1920 Der weisse Heiland
  • 1921 Phantom, Anna, Peter Brauer
  • 1923 Veland, Die blaue Blume
  • 1924 Die Insel der großen Mutter
  • 1925 Festakus
  • 1926 Dodothea Angermann
  • 1927 Die Hochzeit auf Buchenhorst, Wanda
  • 1928 Till Eulenspiegel, Shakespears Hamlet, Die schwarze Maske
  • 1929 Hexenritt, Buch der Leidenschaft
  • 1930 Die Spitzhacke
  • 1932 Vor Sonnenuntergang
  • 1933 Die goldene Harfe
  • 1934 Das Meerwunder
  • 1935 Hamlet in Wittenberg
  • 1936 Im Wirbel der Berufung, Mary
  • 1937 Das Abenteuer meiner Jugend, Ulrich von Lichtenstein
  • 1938 Die Tochter der Kathedrale
  • 1939 Der Schuß im Park
  • 1941 Iphigenie in Delphi, Das Märchen
  • 1942 Agamemnons Tod, Der große Traum
  • 1943 Iphigenie in Aulis
  • 1944 Elektra, Mignon