เอวอ แฮย์ม็อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอวอ แฮย์ม็อน
เกิด13 กุมภาพันธ์ 1931
ออราเดอา ราชอาณาจักรโรมาเนีย
เสียชีวิต17 ตุลาคม 1944 (อายุ 13 ปี)
เอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา นาซีเยอรมนี

เอวอ แฮย์ม็อน (ฮังการี: Heyman Éva; 13 กุมภาพันธ์ 1931 – 17 ตุลาคม 1944) เป็นเด็กหญิงชาวยิวจากออราเดอา เธอเริ่มจดบันทึกในปี 1944 ขณะเยอรมนียึดครองฮังการี บันทึกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ The Diary of Eva Heyman ซึ่งได้รับการเปรียบเทียบกับ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ในบันทึกนั้น เธอได้เล่าเรื่องความถดถอยอย่างหนักของสถานการณ์ในชุมชนชาวยิวในออราเดอา เธอเขียนเล่าอย่างละเอียดถึงกฎหมายต่อต้านชาวยิว ความทนทุกข์ทรมานและสิ้นหวัง การสูญเสียสิทธิเสรีภาพ และการถูกริบทรัพย์สินของตน แฮย์ม็อนเสียชีวิตขณะมีอายุเพียง 13 ปี หลังเธอและตายายของเธอถูกสังหารในฮอโลคอสต์

ปัจจุบันไม่เป็นที่ทราบว่าต้นฉบับบันทึกของเธออยู่ที่ใด[1]

ประวัติ[แก้]

แฮย์ม็อนเริ่มจดบันทึกในวันเกิดปีที่สิบสามของเธอในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1944 ปีเดียวกันกับที่นาซีเยอรมนีเริ่มเข้ายึดครองฮังการี[2] เธอเกิดในเมืองออราเดอาซึ่งในเมื่อตอนเธอเกิด เมืองเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรโรมาเนีย เมืองออราเดอายังมีอีกชื่อว่า น็อจวาร็อด ซึ่งเป็นชื่อเรียกของชาวฮังการี ในบันทึกของเธอ เธอเรียกเมืองออราเดอาว่า "วาร็อด" ชื่อสั้นของน็อจวาร็อดที่นิยมใช้ในชาวฮังการี ในช่วงที่เธอเริ่มจดบันทึก เมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของฮังการี[2]

แฮย์ม็อนเติบโตมาในครอบครัวฮังการี-ยิว เบ-ลอ แฮย์ม็อน พ่อของเธอ เป็นสถาปนิกประจำตระกูลที่มีอำนาจตระกูลหนึ่ง ครอบครัวเธอเป็นเจ้าของโรงแรมที่เธอบรรยายว่า "เต็มไปด้วยพรมเปอร์เซีย" พ่อแม่ของเธอเลิกรากันตั้งแต่เธอเป็นเด็ก แม่ของเธอแต่งงานใหม่กับเบ-ลอ โฌลต์ นักเขียนสังคมนิยม ตาของเธอเป็นเภสัชกรผู้สนับสนุนราชอาณาจักรฮังการีและต่อต้านโรมาเนีย เธอเขียนเล่าถึงตอนที่เธอมองดูมิกโลช โฮร์ตี เดินทางเข้ามาในเมืองจากหน้าต่างร้านขายยาของตา[2]

อากแน็ช "อากี" โฌลต์ แม่ของแฮย์ม็อน เป็นเภสัชกรเช่นกัน แฮย์ม็อนเขียนเล่าไว้ว่าแม่ของเธอนั้น "งดงามยิ่งกว่าเกรียตา การ์บู" อากีและเบ-ลอ โฌลต์ อาศัยอยู่ในปารีสในขณะที่นาซีเข้ายึดครองโปแลนด์ อากีโน้มน้าวให้สามีตกลงเดินทางกลับไปบูดาเปสต์เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกสาว แต่ภายหลังเธอเองก็ถูกกักตัวไว้ที่ค่ายกักกันแบร์เกิน-เบ็ลเซิน

แฮย์ม็อนและตายายของเธอถูกนาซีจับกุมตัวและส่งไปยังค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ในเดือนมิถุนายน 1944 เมื่อถึงเอาช์วิทซ์ ตายายของเธอถูกส่งเข้าห้องรมแก๊สทันทีในขณะที่เธอถูกโยเซ็ฟ เม็งเงอเลอ คัดเลือกไว้สำหรับการทดลองในมนุษย์ เมื่อเท้าของแฮย์ม็อนเริ่มบวมหนอง เธอก็ถูกมองว่าหมดประโยชน์และถูกส่งเข้าห้องรมแก๊สในเดือนตุลาคม 1944[1] ต่อมาอากีได้รับความช่วยเหลือออกจากแบร์เกิน-เบ็ลเซินและเดินทางต่อไปยังสวิตเซอร์แลนด์ได้อย่างปลอดภัย อากีกลับไปตามหาแฮย์ม็อนแต่ก็พบว่าแฮย์ม็อนถูกสังหารไปแล้ว หลังจากร่วมดำเนินการจัดพิมพ์เผยแพร่บันทึกของแฮย์ม็อน (ซึ่งเธอฝากคนรู้จักเก็บไว้ก่อนถูกส่งไปยังเอาช์วิทซ์) อากีซึ่งมีอาการป่วยทางจิตจากความเศร้าโศกก็ฆ่าตัวตาย[1]

บันทึกและการตีพิมพ์[แก้]

บันทึกของแฮย์ม็อนได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฮังการี ต่อมาแปลเป็นภาษาฮีบรูโดยยัดวาเชมในปี 1964 และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Moshe M. Kohn ตีพิมพ์โดยยัดวาเชมในปี 1974[1] บันทึกของเธอได้รับการเปรียบเทียบกับ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์[3]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

  • ในปี 2012 เปิดตัวศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์ยิวที่มหาวิทยาลัยออราเดอา ตั้งชื่อตามแฮย์ม็อน
  • ในปี 2015 มีการตั้งรูปปั้นของแฮย์ม็อนในนครออราเดอาเพื่อระลึกถึงเด็กในเมืองที่เสียชีวิตในฮอโลคอสต์ รูปปั้นตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเบิลเชสกู (Bălcescu) ที่ซึ่งชาวยิวกว่า 20,000 ชีวิตถูกส่งขึ้นรถไฟไปยังเอาช์วิทซ์ในปี 1944 ต่อมาองค์การ Asociatia Tikvah เจ้าของรูปปั้น ได้มอบรูปปั้นนี้ให้แก่เทศบาลนครออราเดอา[4][5]
  • ในปี 2017 มีการแสดงละครเวที "Eva Heyman: Anne Frank of Transylvania" ในโรมาเนีย[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Holliday, Laurel (1995). Children in the Holocaust and World War II. Simon & Schuster. p. 99. ISBN 9780671520557. สืบค้นเมื่อ 31 July 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 Boas, Jacob (1995). We Are Witnesses: Five Diaries of Teenagers Who Died in the Holocaust. Macmillan. p. 11. ISBN 9780312535674. สืบค้นเมื่อ 31 July 2019.
  3. Kopf, Hedda Rosner (1997). Understanding Anne Frank's The Diary of a Young Girl: A Student Casebook to Issues, Sources, and Historical Documents. Greenwood Publishing Company. p. 114. ISBN 9780313296079. สืบค้นเมื่อ 31 July 2019.
  4. "O statuie a Evei Heyman va fi amplasată în Parcul Bălcescu în memoria copiilor evrei deportaţi din Oradea" (ภาษาโรมาเนีย). Ebihoreanul.
  5. "ALEXANDRA VLAS & ANDRADA NIŢU: Statuia Evei Heyman în Parcul Bălcescu" (ภาษาโรมาเนีย). LogoPaper. 22 October 2015.
  6. "Comemorarea Holocaustului în Oradea" (ภาษาโรมาเนีย). Digi24.ro.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Éva Heyman