เสือมเหศวร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสือมเหศวร (ศวร เภรีวงษ์)
ภาพถ่ายจากซ้ายไปขวา มิตร ชัยบัญชา, ศวร เภรีวงษ์, แดง ไบเล่ย์
เกิดพ.ศ. 2457
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 (100 ปี)
จังหวัดชัยนาท ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพทหาร, โจร, นักแสดง, พระภิกษุ, ชาวไร่ชาวนา
คู่สมรสโฉมยา เภรีวงษ์
บุตร8 คน
บุพการี
  • ฉัตร เภรีวงษ์ (บิดา)
  • ตลับ เภรีวงษ์ (มารดา)

เสือมเหศวร มีชื่อจริงว่า ศวร เภรีวงษ์ (พ.ศ. 2457 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557) เป็นจอมโจรชื่อดังในแถบภาคกลางหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมสมัยกับเสือดำ, เสือหวัด, เสือฝ้าย และเสือใบ

ประวัติ[แก้]

เสือมเหศวร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2457 ที่ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี นายศวร เป็นบุตรของ นายฉัตร กับ นางตลับ นามสกุล เภรีวงษ์ เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้อง 3 คน[1] เดิมรับราชการทหาร[2] แต่หลังปลดประจำการแล้วนั้น พ่อของเสือมเหศวรถูกกำนันฆ่าตาย จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมโจรเสือฝ้ายหวังจะแก้แค้นให้พ่อตัวเอง สุดท้ายแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากเสือฝ้ายจนกลายเป็นจอมโจรชื่อดังในที่สุด โดยได้ชื่อว่า "มเหศวร" จากการแขวนพระเครื่องมเหศวรไว้ที่คอ ซึ่งได้ชื่อว่าช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย กลับร้ายให้กลายเป็นดี และเมื่อเวลาออกปล้นจะปล้นด้วยความสุภาพ โดยจะบอกให้เหยื่อนำสิ่งของที่ต้องการมอบให้มามอบให้ตน ส่วนใหญ่จะปล้นในเวลาเช้ามืด จนได้รับฉายาว่า จอมโจรมเหศวร เคยโดนตำรวจยิงที่ลำตัวและศีรษะหลายนัดแต่ไม่เข้า

เสือมเหศวรถูกปราบโดย พ.ต.ท.จรูญ บุญสิทธิ์[3] ซึ่งเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้เสือมเหศวรมอบตัว หลังจากได้รับโทษในเรือนจำแล้ว เสือมเหศวรก็ได้บวชเป็นภิกษุและพราหมณ์ หลังจากนี้ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านพักที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท โดยทำไร่มันสำปะหลัง[2] แม้มีอายุกว่า 90 แล้ว แต่เสือมเหศวรก็ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่ และเป็นที่เล่าลือว่าเป็นบุคคลจอมขมังเวทย์ มีชาวบ้านและผู้ที่เชื่อถือแวะเวียนมาพบปะพูดคุยเสมอ ๆ โดยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 เป็นผู้ทำพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพรุ่นลายเซ็นเสือมเหศวรของวัดแสวงหา จังหวัดอ่างทอง[1]

นายศวร ใช้ชีวิตร่วมสมรส กับ นางโฉมยา มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 8 คน[1]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

เรื่องราวของเสือมเหศวร เคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 3 ครั้ง โดยผู้ที่รับบทเสือมเหศวรคนแรกคือ มิตร ชัยบัญชา (ในครั้งนี้ตัวของเสือมหเศวรเองก็ร่วมแสดงด้วย โดยรับบทเป็นพ่อของมิตร ชัยบัญชา) และเสือมหเศวรคนที่สองคือ สมบัติ เมทะนี[2] และถูกนำไปดัดแปลงเป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร ผู้รับบทเสือมเหศวร คือ ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเสือที่โหดเหี้ยม เก่งทางคำพูดมากกว่าการกระทำ และลอบกัดเสือดำผู้เป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบาน และมีการกล่าวถึงในขุนพันธ์ 2 โดยเสือดำมากล่าวว่าเสือมเหศวรไปทำธุระบางอย่าง และเสือมเหศวรคนที่สามคือ มาริโอ้ เมาเร่อ ในขุนพันธ์ 3 โดยในภาพยนตร์ มีฉายาว่าจารชน 2 หน้า อีกฉากหนึ่งคือนักข่าวที่เขียนคอลัมน์เรื่องของขุนพันธ์ ที่เขามองว่าคือสัญลักษณ์ของความยุติธรรม อุปนิสัยเป็นคนที่มีเหตุผล ฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว หนักแน่นในอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิม เหตุที่ทำให้มาเป็นเสือปล้นเพราะถูกใส่ความในคดีฆาตกรรมภรรยา ที่ตัวของนายศวรถูกโยนเป็นแพะรับบาป และได้เข้าร่วมกับชุมโจรเชิ้ตดำของเสือฝ้าย ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มเชิ้ตขาว ที่จุดประสงค์ต้องการที่จะทวงคืนชีวิตที่ดีและสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกกฎหมายตราหน้าว่าเป็นคนเลว มีของดีประจำตัวคือ พระมเหศวร ที่ขึ้นชื่อด้านความแคล้วคลาด รอดพ้นจากภัยอันตราย และเบี่ยงวิถีกระสุนปืนทุกประเภท แต่ผู้ใช้อาคมต้องมองเห็นกระสุนปืนต่อหน้าของตน ในตอนจบได้ลงเอยกับหมอสาวิตรี หมอในชุมโจรของเสือมเหศวร

มรณกรรม[แก้]

เสือมหเศวรเสียชีวิตลงเมื่อเวลา 06.15 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ที่โรงพยาบาลหันคา จังหวัดชัยนาท ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ 100 ปี[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "สิ้นแล้ว! "เสือมเหศวร" จอมโจรชื่อดังเมืองไทย เผยประวัติชีวิตเคยถูกนำสร้างหนัง". สนุกดอตคอม. 16 November 2014. สืบค้นเมื่อ 16 November 2014.[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
  2. 2.0 2.1 2.2 "เสือมเหศวร ตำนานโรบินฮู้ดเมืองไทยสิ้นแล้วในวัย 101 ปี". ช่อง 7. 17 November 2014. สืบค้นเมื่อ 17 November 2014.
  3. "เสือ ขุนโจร". รายการฃอคิดด้วยฅน. ช่อง 9 อสมท. พฤศจิกายน 2540. สืบค้นเมื่อ 3 October 2018.