เบนาซีร์ บุตโต
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เบนาซีร์ บุตโต | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนที่ 11 | |
ดำรงตำแหน่ง 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | |
ประธานาธิบดี | วาซิม ซัยยาด และฟารูก เลฆารี |
ก่อนหน้า | มุฮัมมัด คาน ชูเนโช |
ถัดไป | ฆุลาม มุตาฟา ชโทอี |
ดำรงตำแหน่ง 2 ธันวาคม พ.ศ. 2531 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2533 | |
ประธานาธิบดี | ฆุลาม อิสฮัค คาน |
ก่อนหน้า | มุฮัมมัด คาน ชูเนโช |
ถัดไป | ฆุลาม มุตาฟา ชโทอี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2496 การาจี ประเทศปากีสถาน |
เสียชีวิต | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (54 ปี) ราวัลปินดี ประเทศปากีสถาน |
ศาสนา | อิสลาม-ชีอะฮ์ |
พรรคการเมือง | พรรคประชาชนปากีสถาน |
คู่สมรส | อาซีฟ อะลี ซาร์ดารี |
ลายมือชื่อ | |
เบนาซีร์ บุตโต หรือถอดอักษรตามอักษรอินเดีย เพนาชีร ภูตโต(อูรดู: بینظیر بھٹو, อังกฤษ: Benazir Bhutto; IPA: [beːnəziːr bɦʊʈːoː]) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถาน และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอิสลาม โดยดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ในปี พ.ศ. 2531 - 2533 และ พ.ศ. 2536 - 2539
ประวัติ
[แก้]นางเบนาซีร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1953 เป็นบุตรสาวของซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ช่วง ค.ศ. 1971 ถึง ค.ศ. 1977 ที่ถูกรัฐประหารและประหารชีวิตโดยนายพลโมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก
เธอลี้ภัยไปยังสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1984 และได้ตั้งที่ทำการพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan's People's Party – PPP) และขึ้นทำหน้าที่ผู้นำพรรคแทนนางเบกุม นุสรัต บุตโต แม่ของเธอ
บุตโตเดินทางกลับสู่ปากีสถานใน ค.ศ. 1986 และชนะการเลือกตั้งและเพียงสองปีหลังจากนั้น เธอก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ด้วยวัย 35 ปี
นางเบนาซีร์ สำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมรสกับอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี
การเมือง
[แก้]บุตโตกลับเข้าปากีสถานในปี ค.ศ. 1977 และกลายเป็นผู้นำพรรคพีพีพี หลังจากบิดาถูกประหารชีวิตในปี 1979 เธอเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1988 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1990 ก็ถูกสั่งถอดถอนด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น แต่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1993 หลังจากนาวาซ ชารีฟ ถูกบังคับให้ลาออกภายหลังทะเลาะกับประธานาธิบดี ปี ค.ศ. 1999 บุตโตและอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี และปรับเงินจำนวน 8 ล้าน 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ ด้วยข้อหารับเงินจากบริษัทสัญชาติสวิสเพื่อติดสินบนในการหลบเลี่ยงภาษี ศาลสูงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเวลาต่อมา และตัวเธอเองยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นโดยฝ่ายตรงข้าม ภาพลักษณ์ของเธอในฐานะผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยถูกโจมตีด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นและฟอกเงิน แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีก็มีส่วนผลักดันเธอไปสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการขาดธรรมาภิบาลและเล่นการเมืองเพื่อตอบสนองตัวเอง
บุตโตลี้ภัยการเมืองอยู่ในดูไบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และเดินทางกลับสู่ปากีสถานเพื่อรณรงค์หาเสียงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2007 เพื่อลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า โดยหวังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3
ก่อนที่บุตโตจะเดินทางกลับสู่ปากีสถาน เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ประธานาธิบดีได้ลงนามนิรโทษกรรมบรรดานักการเมือง เพื่อเปิดทางให้กับการเจรจาจัดสรรอำนาจกับนางบุตโต เมื่อมูชาร์ราฟประกาศภาวะฉุกเฉิน แรงกดดันก็ตกอยู่แก่ฝ่ายนางบุตโต และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนางในฐานะผู้นำฝ่ายค้านและมูชาร์ราฟตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียด
ภายใต้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เธอประณามการปราบปรามสื่ออย่างรุนแรงของมูชาร์ราฟ ทั้งประกาศด้วยว่า จะไม่มีทางทำงานร่วมกับนายมูชาร์ราฟเด็ดขาด อีกทั้งประกาศว่าต้องการโค่นอำนาจของนายมูชาร์ราฟลงจากตำแหน่งผู้นำกองทัพ และประธานาธิบดีตามลำดับ
หลังยืนยันว่าจะไม่ทำข้อตกลงร่วมกับมูชาร์ราฟ เธอหันมาจับมือกับศัตรูทางการเมืองอันยาวนานกับนาวาซ ชาร์รีฟ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจลงโดยมูชาร์ราฟ
หลังลี้ภัยในต่างประเทศถึง 8 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม เมื่อเบนาซีร์ บุตโต เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเพื่อจะรณรงค์หาเสียงเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 เธอได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากประชาชนเรือนแสนกลางกรุงการาจี ซึ่งสนับสนุนพรรคประชาชนปากีสถาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่มันก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 139 คน เธอไม่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้น แต่ 27 ธันวาคม คือวันปฏิบัติการที่มีชีวิตของเธอเป็นเป้าหมาย บรรลุผล และเธอต้องจบชีวิตลง หลังเกิดเหตุมือระเบิดพลีชีพ ระหว่างการหาเสียงที่เมืองราวัลพินดี และเธอถูกยิงเข้าที่ลำคอ [1]
ทายาททางการเมือง
[แก้]หลังการเสียชีวิตของนางเบนาซีร์ พรรคพีพีพีได้เลือกนายอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี สามีของนางเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่นายซาร์ดารีปฏิเสธ และเสนอให้นายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี บุตรชายเป็นผู้รับตำแหน่งแทน โดยเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานแทนหัวหน้าพรรค จนกระทั่งนายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2553
อ้างอิง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2496
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2550
- นายกรัฐมนตรีปากีสถาน
- นายกรัฐมนตรีสตรี
- มุสลิมชาวปากีสถาน
- บุคคลที่ถูกลอบสังหาร
- เสียชีวิตจากวัตถุระเบิด
- มุสลิมนิกายชีอะฮ์
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
- ผู้รอดชีวิตจากการลอบสังหาร
- บุคคลจากการาจี
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์